นายกฯตั้งบอร์ดใหญ่คุมแจกเงิน 10,000 บาท ห้าง-โมเดิร์นเทรดรับอานิสงส์

แจกเงินดิจิทัล
เศรษฐา ทวีสิน
อัพเดตล่าสุด 27 กันยายน 2566 เวลา 13.02 น.

นายกฯเศรษฐาเดินหน้าตั้ง “บอร์ดดิจิทัลวอลเลต” เสนอเข้า ครม.สัปดาห์หน้า ทำหน้าที่พิจารณารายละเอียดนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท วงในเผยรัฐบาลเตรียมแผน ขยายเพดาน มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเป็น 45% จากเดิม 32% ดอดเจรจายืมเงิน “แบงก์ออมสิน” ใช้คืนภายใน 3 ปี ยักษ์ค้าปลีกห้างสรรพสินค้า-โมเดิร์นเทรด-ร้านสะดวกซื้อ รับอานิสงส์แจกเงินดิจิทัลวอลเลต 5.6 แสนล้านบาท เปิดทางซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ทุกช่องทาง แต่ห้ามซื้อสินค้าออนไลน์

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ทุกคน ซึ่งประเมินว่าต้องใช้วงเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการเติมเงินให้แก่ประชาชนในงวดเดียว โดยกำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะพยายามทำให้ทันวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 หรือภายในไตรมาสแรกปี 2567

รอตั้งบอร์ดดิจิทัลวอลเลต

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 กันยายน 2566 กล่าวถึงนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตว่า ยังไม่เสร็จ ยังไม่เรียบร้อย เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องแหล่งเงินที่ใช้จะมาจากธนาคารออมสินหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา เมื่อพร้อมแล้วจะแถลงให้ทราบแน่นอน โดยทุกอย่างเป็นไปตามกรอบกฎหมาย

“เรื่องของหลักการก็พยายามทำให้ดี พื้นที่การใช้ที่ไหน อำเภอไหนที่อาจจะกันดาร ก็พยายามพิจารณาอยู่ อย่างที่ผมเรียนไปแล้ว ต่อไปนี้ถ้าจะแถลงอะไรให้ครบหมดทุกอย่างจะดีกว่า เดี๋ยวพูดไปอย่างหนึ่ง ติดอีกอย่างหนึ่งก็ไม่ดี เดี๋ยวจะมีคณะกรรมการชุดใหญ่มาแถลงให้เป็นรูปธรรม ให้ครบทุก ๆ คำถามจะเหมาะสมกว่า ซึ่งจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้”

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า การแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตนั้น ยังไม่อยากพูดในขณะนี้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องรอเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลวอลเลตขึ้นมาก่อน ซึ่งน่าจะเป็นในสัปดาห์หน้า และคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะพิจารณารายละเอียดเรื่องนี้อย่างรอบด้าน

Advertisment

“เรื่องนี้จะพยายามทำให้ทันเดือน ก.พ. 2567 ช้าสุดไม่เกินภายในไตรมาสแรกปีหน้า สำหรับเรื่องแหล่งที่มาของเงินยังไม่ฟันธง แต่มาตรา 28 ก็เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณา ซึ่งเรายึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลัง” นายจุลพันธ์กล่าว

ยืมแบงก์ออมสิน-ใช้คืน 3 ปี

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า เนื่องจากมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต มีรายละเอียดที่ซับซ้อน และยังไม่ได้ข้อสรุป เช่น เรื่องแหล่งเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่จะนำมาใช้ในโครงการดังกล่าว ต่างกับมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ที่ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก สามารถออกมาตรการมาช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันที

“ตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่า แจกเงินดิจิทัลวอลเลต จะเสนอ ครม.ในวันอังคารหน้า คือวันที่ 3 ต.ค.หรือไม่ เพราะต้องรอจังหวะทางการเมืองที่เหมาะสมด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ระบุว่ามีแนวคิดขยายกรอบการใช้เงินตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เป็น 45% จากปัจจุบันอยู่ที่ 32% และจะปรับให้กลับมาสู่กรอบเดิมในปี 2570 นั้น โดยทำให้มีวงเงินตามมาตรา 28 ขยับจากราว 1.11 ล้านล้านบาท เป็น 1.56 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีวงเงินที่สามารถนำมาใช้แจกเงิน 10,000 บาท ซึ่งต้องใช้วงเงินถึง 5.6 แสนล้านบาทได้

Advertisment

ขณะที่วงเงินคงค้างตามมาตรา 28 ที่รอการชดใช้จากภาครัฐ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท ดังนั้นจะมีวงเงินที่ใช้ได้ 5-6 แสนล้านบาท

“ถ้าขยายกรอบตามมาตรา 28 เป็น 45% ก็มีเงินพอแน่นอน โดยหลังจากนั้นก็ทยอยตั้งงบประมาณมาชดเชยให้กับรัฐวิสาหกิจที่ยืมเงินมาก่อน ซึ่งน่าจะเป็นธนาคารออมสิน แล้วตั้งงบประมาณคืนให้ภายใน 3 ปี ก็ใช้คืนได้หมด เพราะเป็นโครงการลักษณะจ่ายครั้งเดียวแล้วจบ ไม่ได้ทำต่อเนื่องเหมือนพวกโครงการดูแลราคาพืชผลการเกษตร” แหล่งข่าวกล่าว

ทุกสินค้า-ห้ามซื้อออนไลน์

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการหารือของทีมงานที่เกี่ยวข้องกับคณะทำงานโครงการแจก ในเบื้องต้น ประชาชนสามารถนำ e-Money ในดิจิทัลวอลเลตใช้จ่ายซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค อาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เฟอร์นิเจอร์ รถจักรยานยนต์ เป็นต้น (ยกเว้น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชา สลากกินแบ่งรัฐบาล และบัตรกำนัล บัตรเงินสดต่าง ๆ) รวมทั้งสามารถนำไปจ่ายในร้านอาหารต่าง ๆ ได้

ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายก็เปิดกว้างผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วม ทั้งห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด รวมถึงร้านสะดวกซื้อทั้งหมด ร้านโชห่วยต่าง ๆ ที่มาขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการ แต่ไม่สามารถใช้สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ เนื่องจากมีข้อกำหนดเรื่องรัศมีการซื้อตามที่อยู่ในบัตรประชาชน เพราะเป้าหมายต้องการให้กระจายการใช้จ่ายไปตามชุมชนต่าง ๆ

ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าตามที่ต้องการได้สะดวกในวงเงินคนละ 1 หมื่นบาท ตอบโจทย์เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นก็ต้องเปิดกว้างสำหรับช่องทางค้าปลีกต่าง ๆ เพราะบางพื้นที่ในรัศมี 4-5 กิโลเมตร ก็มีแต่ร้านค้าโชห่วย และร้านสะดวกซื้อ

สำหรับวิธีการแจกเงินที่ผ่านมา นายกฯเศรษฐาได้ให้สัมภาษณ์ว่า จะใช้ฐานข้อมูลจากแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เนื่องจากผ่านการยืนยันตัวตน (KYC) เรียบร้อยหมดแล้ว โดยจะทำระบบบล็อกเชนมากำกับข้างหลังเป็นการต่อยอด

รวมทุกนโยบายกระตุ้นจีดีพี 1%

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า นโยบายภาครัฐส่วนใหญ่จะเป็นมาตรการ quick win เช่น ลดค่าครองชีพ และมาตรการ free visa อาจจะมีผลบวกจำกัดในปีนี้ แต่จะเห็นผลในปี 2567 โดยเฉพาะมาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งปัจจุบันยังรอความชัดเจนของนโยบาย เช่น ที่มาของแหล่งเงินทุน จึงจะประเมินผลต่อเศรษฐกิจและผลกระทบได้

อย่างไรก็ดี มีการเสนอแนวคิดการขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 จากเดิม 32% เป็น 45% นั้น อาจจะต้องดูเป้าหมายการนำเงินไปใช้ผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้หรือไม่ นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีแผนที่จะรับมือและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ซึ่งตรงนี้จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยท้าทายที่จะผลักดันให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโตได้ปีละ 5% ตามเป้าหมายรัฐบาลหรือไม่ จากอัตราเติบโต 5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ราว 2.9%

“หากในปีหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาทั้งหมด คาดว่าจะช่วยผลักดันจีดีพีปี 2567 เติบโตได้อีกประมาณ 1% จากที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้เบื้องต้นใกล้ ๆ ระดับ 4% แต่เฉพาะส่วนดิจิทัลวอลเลต คาดว่าจะช่วยหนุนจีดีพี 0.4-0.6% แต่จะหมุนได้กี่รอบนั้นจะต้องรอดูเงื่อนไขรายละเอียด เพราะหากเป็นไปในลักษณะ copay ก็จะช่วยหมุนได้หลายรอบ”

เรตติ้งเอเยนซี่จับตา “แหล่งเงิน”

นายปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุนสายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวในวงเสวนา “เงินดิจิทัล 10,000 บาทกับ 5 คำถามที่ต้องเคลียร์” จัดโดย Spacebar ร่วมกับสภาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เพื่อกระตุ้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ให้ขยายตัวระดับ 5%

หากดูตามโมเดลเบื้องต้นจะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินไปยัง 56 ล้านคน เพื่อกระตุ้นการบริโภค และลักษณะเป็นเงินโอน ซึ่งให้แล้วหมดไป ทำให้ตัวคูณในระบบเศรษฐกิจคงไม่มาก เฉลี่ยอยู่ที่ 0.2-0.3 เท่า ปัจจุบันแผนยังไม่ชัดเจน อาจทำให้มีการชะลอการบริโภคเพื่อรอเงินดิจิทัลได้ และสินค้าที่ซื้ออาจจะเป็นสินค้านำเข้า ทำให้ผลต่อเศรษฐกิจจะมีผลน้อยไปด้วย

ส่วนเรื่องแหล่งที่มาของเงิน เบื้องต้นรัฐบาลไม่ต้องการให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จึงจะใช้เงินนอกงบประมาณ คล้ายกับสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่ทำเรื่องกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดี คือ หนี้สาธารณะไม่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการยืมเงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ขณะที่ข้อเสีย คือ รัฐบาลยังไม่ชัดเจนว่าเงินจะมาจากไหน ซึ่งบริษัทเครดิตเรตติ้งเริ่มกังวล ซึ่งหากโดนดาวน์เกรดจะไม่ดีต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

ขณะที่นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธาน KBTG และอดีตที่ปรึกษา CEO ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หลักการทำดิจิทัลวอลเลตคือ จะต้องเข้าใจข้อจำกัดของสิ่งที่จะทำ และจะตอบโจทย์ รวมถึงจะวัดผลอย่างไร โดยเรื่องนี้โจทย์คือ ดิจิทัลวอตเลต 10,000 บาท กับคนจำนวน 56 ล้านคน คิดเป็นขนาด 10,000 รายการต่อวินาที ต้องดูว่าจะนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้จึงจะเหมาะสม

“ขนาดและเวลาที่ใช้เป็นเรื่องสำคัญ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการวิเคราะห์ว่าจีดีพีจะสูงขึ้น 1-2% หากหันมาใช้ cashless ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัล และเทคโนโลยีที่นำมาใช้ จะเป็นส่วนช่วยให้เม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท หมุนเร็วขึ้น โดยช่วงโควิด-19 การทำมาค้าขายลำบาก แต่ตอนนี้ไม่ถึงกับหยอดน้ำข้าวต้ม เรายังเดินไหว แต่แขนขาลีบ ซึ่งนโยบายหากหวังผลระยะสั้น จีดีพีโต 5% แต่จะเป็น sustainability growth หรือเปล่า แต่หากเลือกช่วยคนที่ไม่ไหว และเงินที่เหลือนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยให้เติบโตแบบยั่งยืนมากกว่า ส่วนเม็ดเงินจะเอามาจากไหน อาจจะไม่ใช่ปัญหา”

แนะเพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุดีกว่า

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์ ผู้แทนจากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เม็ดเงินจำนวน 5.6 แสนล้านบาท มองว่าหากเป็นการลงทุนจะสร้างตัวคูณมากกว่าการแจกเงิน ซึ่งมีการคำนวณผลต่อเศรษฐกิจต่อนโยบายแจกเงินจะอยู่ที่ 0.3-1.2% ซึ่งตัวคูณจะเยอะในช่วงที่เศรษฐกิจตก แต่หากเศรษฐกิจดีตัวคูณจะน้อย เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีนโยบายแจกเงินในช่วงที่มีโควิด-19 พบว่าตัวคูณได้เพียง 0.5% เท่านั้น และจากทั่วโลกพบว่ามาตรการในกระตุ้นเศรษฐกิจได้สูงสุดอยู่ที่ 2.7%

“หากดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยวันนี้ พบว่าการบริโภคยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การส่งออกติดลบ ซึ่งเม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท ถือเป็นเงินจำนวนมาก จึงมองว่าเป็นการรักษาไม่ถูกโรค และในเงื่อนไขบังคับใช้ภายใน 6 เดือน เดิมคนใช้เงินตัวเอง 20,000 บาท พอมีดิจิทัลวอตเลตเข้ามาใช้ 22,000 บาท แต่เป็นเงินของดิจิทัลวอลเลต เก็บเงินสดของตัวเองไว้ ทำให้เงินที่จะหมุนก็น้อยลง หากเราเปลี่ยนไปเป็นเงินสนับสนุนผู้สูงอายุ 13 ล้านคน เพิ่มเบี้ย 1,000 บาท คิดเป็นเม็ดเงิน 13,000 ล้านบาท และหากคูณจำนวน 44 เดือน จะใช้เม็ดเงิน 5.27 แสนล้านบาท ซึ่งจะหนุนเศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืนกว่า หรืออาจจะทบทวนเม็ดเงินโครงการลดลง เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลัง”