แอปเป๋าตัง ซื้อได้ทุกอย่าง ต่อยอด E-payment ยุคอภิศักดิ์ รมว.คลัง

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีตนักการเงิน จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
PHOTO : หนังสือ THE MAKING OF THE MODERN THAI ECONOMY

อภิศักดิ ตันติวรวงศ์ อดีต รมว.คลัง ที่บุกเบิกระบบ E-Payment ที่เป็นฐานข้อมูลของรัฐบาล ในการดีไซน์นโยบายการคลัง และเป็นเครื่องมือการออกแบบมาตรการจ่ายเงินเยียวยาประชาชน ผ่านแอปเป๋าตัง

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีตนักการเงิน จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารหลายธนาคาร สู่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนที่สอง ในยุครัฐบาล-รัฐประหาร ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังพ้นจากตำแหน่ง อภิศักดิ์ หายไปจากวงการเมือง แต่ปรากฏตัวในวงการธุรกิจอยู่บ้าง อาทิ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระ บริษัท​พีทีที โกลบอล เคมิคอล​ หรือ GC

ผลงานของเขา ยังคงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทย กลายเป็นเจ้าพ่อบิ๊กดาต้า มีฐานข้อมูลการใช้จ่ายประชาชน ผ่านระบบอี-เพย์เมนต์ และแอปเป๋าตัง รวมถึงล่าสุดการใช้แอปเป๋าตัง ในการซื้อสลากดิจิทัล ที่ประสบความสำเร็จในการขายอย่างท่วมท้น

ความคิดที่เป็นฐานที่มา กว่าจะเป็นระบบอี-เพย์เมนต์ เครื่องมือหนึ่งในการวางแผนเชิงนโยบายการคลัง และการวางแผนช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น คนละครึ่ง ชิมช้อปใช้ เราไม่ทิ้งกัน เรารักกัน ม.33 และยิ่งใช้ยิ่งได้ ล่าสุดคือ ซื้อสลากดิจิทัล ผ่านแอปเป๋าตัง ฯลฯ

อภิศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ หลักการทำนโยบายการคลัง และการออกแบบเครื่องมือระบบดิจิทัลไว้ ในหนังสือครบรอบ 50 ปี กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร THE MAKING OF THE MODERN THAI ECONOMY ในบทที่ว่าด้วยการกอบกู้และก้าวต่อ (2001-2010)  ในธีมเรื่อง ปฐมบทเศรษฐกิจดิจิทัล กอบกู้เศรษฐกิจ ว่า…

“ตอนที่ผมเข้าไปทำงานใหม่ ๆ จีดีพีเราโตต่ำกว่า 1% และโอกาสติดลบเยอะมาก โจทย์คือทำยังไงให้จีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงโดยใช้ fiscal policy สิ่งแรกที่ทำคือเร่งการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่หยุดชะงักลงเราแต่งตั้งกรรมการเพื่อติดตามการดำเนินการ ใช้วิธีถามจี้เลย ทำไมคุณช้า ตกลงจะขยับเป็นวันไหนเวลาไหน ใช้เวลาสองถึงสามปีถึงกลับมาเข้าที่เข้าทาง ที่สำคัญคือเวลาใช้เงินกู้ในการดำเนินการและในการกู้เงิน เรากำหนดไว้เลยว่าต้องเอาเงินไปใช้ทำโครงการเพื่อที่สร้าง return ในอนาคต”

พอจัดการเรื่องการลงทุนภาครัฐได้แล้ว ขั้นต่อมาต้องผลักดันการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งหายไปเลยเพราะการเล่นกีฬาสีทางการเมืองทำให้ทุกคนขาดความเชื่อมั่น เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เขามั่นใจ มีการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ถ้าลงทุนปีนี้จะให้หักภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่า เป็นต้น ขณะเดียวกันเพื่อไม่ให้สะเปะสะปะเรายังมองถึงเรื่อง 10 อุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงการคลัง แต่เราเห็นว่าถ้าปล่อยให้ลงุนซี้ซั้วไปเรื่อย ๆ ที่สุดแล้วจะมีปัญหา

พอผลักดันเอกชนเสร็จแล้ว ทำยังไงให้คนใช้จ่ายมากขึ้น เพิ่มการบริโภค มีเสียงบ่นกันมากว่าคนไม่ค่อยมีสตางค์ ไม่มีการใช้จ่าย แต่จุดที่ทำให้เราเปลี่ยนใจ คือมีเจ้าหน้าที่เอาตัวเลขการขอส่วนลดภาษี (rebate) จากยุโรปมาให้ดู พบว่าไทยป็นประเทศอันดับ 2 รองจากจีน แสดงให้เห็นว่า คนมีสตางค์เขาก็ยังใช้จ่ายกันอยู่ นั่นคือจุดที่ทำให้เกิดโครงการ “ช้อปช่วยชาติ” ออกมา ได้รับความนิยมมาก มีคนบอกว่าทำไมไม่ทำยาว ๆ ผมก็บอกว่า ถ้าทำยาว ๆ แล้วคนใช้หรือ มันต้องกำหนดระยะเวลา เพื่อให้รู้สึกว่ามีความจำเป็นต้องใช้เดี๋ยวนี้

อีกปัญหาใหญ่คือเรื่องการส่งออก เนื่องจากสินค้าประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีความล้าหลัง เป็นสินค้าที่ลงทุนมาตั้งแต่ 5-10 ปีที่แล้ว ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี มีดีมานด์น้อย เราจะเป็นประเทศที่ขายได้น้อยก่อนประเทศอื่น ๆ นี่เป็นเหตุที่ต้องผลักดันประเทศให้เกิดการลงทุนให้เพิ่มความสามารถ เพื่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ทำให้เราสามารถแข่งขันได้

ทำด้านนโยบายการคลัง (fiscal) จนหมดแล้ว ก็เหลือแต่ด้านนโยบาย การเงิน (monetary policy) ต้องเข้ามาเสริม เพราะทางคลังผลักดันแล้วจีดีพีก็ยังไม่โตถึงศักยภาพ อยู่ที่ 3% กว่า ทั้งที่ศักยภาพของเราอยู่ที่ 4% ถ้าด้านนโยบายการเงินเข้ามาเสริมได้ จะทำให้เศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพเหมือนกับว่าวที่ติดลมบน ถ้ายังเป็นว่าวที่ไม่ติดลมบน ทางด้านคลังก็ต้องคอยเสริมคอยแต่งทุกไตรมาส ถ้าทำให้ว่าวติดลมบนแต่แรกทุกอย่างจะดำเนินไปตามอัตโนมัติ

แต่สุดท้ายแบงก์ชาติไม่เห็นด้วย เรื่องดอกเบี้ย ขึ้นดอกเบี้ยโดยบอกว่าจะได้มีกระสุนไว้คอยยิงหากเกิดวิกฤตเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่เห็นด้วยเนื่องจากกลัวทางสหรัฐอเมริกาจะไม่พอใจและไม่ให้ความช่วยเหลือ แต่สุดท้ายสหรับก็ไม่ช่วยเหลือเราอยู่แล้ว เนื่องจากรัฐบาลเราไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

จุดกำเนิด E-payment มาจากหลักคิดว่า ประเทศเราคล้าย ๆ บริษัท ถ้าหากเราไม่มีจุดเด่น ในที่สุดเมื่อเดินไปข้างหน้า เราจะเสียหาย เราต้องหาจุดเด่นของเรา ถ้าหากจะทำให้จีดีพีสูงขึ้น เศรษฐกิจเติบโต ปัญหาเศรษฐกิจที่เกาะกินเราอยู่ เช่น หนี้ครัวเรือน ความเหลื่อมล้ำ สุดท้ายจะคลี่คลายไปได้เอง

“ผมเห็นว่า e-payment เป็นจุดเด่นที่ทำให้ประเทศไทยแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ เพราะตอนที่เราเริ่มทำ ประเทศอื่นยังไม่ทำ และเราทำโดยใช้งบประมาณน้อยมาก เนื่องจากอาศัยภาคเอกชน ภาคธนาคารพาณิชย์ เข้ามาช่วย หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคือ ดร.อนุชิต อนุชิานุกูล”

“แนวคิดคือเราต้องการให้ทั้งประเทศใช้ e-payment ทั้งหมด สมัยก่อนเวลารัฐจ่ายอะไรไป คนชอบพูดกันว่าเหมือนให้ไอติมไป แต่ตอนถึงมือคนรับเหลือแต่ไม้ หลังจากที่ระบบพร้อมเพย์เกิดขึ้น ทุกคนได้เต็มแท่ง ไม่มีใครแอบแบ่งไป เท่ากับเป็นการแก้เรื่องคอร์รัปชั่น และความรั่วไหลต่าง ๆ คนทั่วไปสามารถจ่ายเงินสะดวกมากขึ้น

ส่วนคนรับ พวกร้านค้าต่าง ๆ เราก็ทำเครื่องรูดบัตร หรือ EDC (Electronic Data Capture) เพื่อให้รองรับการชำระเงินแบบนี้ ทำให้เป็นระบบเดียวกระจายไปยังร้านเล็กร้านน้อย เพื่อให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กได้เข้าถึงด้วย

ธนาคารบางแห่งอาจไม่เห็นด้วยเนื่องจากจะทำ e-payment เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ฟรีทำให้รายได้บางส่วนหายไป ถือว่าเป็นการคิดสั้นจนกินไป เพราะถ้าไม่ทำ ฟินเทคเกิดขึ้นมา ธนาคารก็อยู่ไม่ได้อยู่ดี ริเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ฐานลูกค้าทั้งหมดยังอยู่ที่เรา เหมือนกับพร้อมเพย์ คนใช้พร้อมเพย์ก็ยังผูกบัญชีกับบัญชีธนาคาร แต่ถ้าไม่เริ่มทำวันหนึ่งฐานลูกค้าจะหายไปหมด

ความเท่าเทียมทางสังคมเราละเว้นไม่ได้ รัฐบาลถึงทำบัตรสวัสดิการโดยให้คนรวยได้น้อยลงทะเบียนแบบ self-declared ก็อาจมีการมั่วบ้างอะไรบ้าง แต่ว่าคุ้มค่าเพื่อให้เริ่มต้นได้ เพราะดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งหลายที่เราคิดไว้จะได้เอา big data เหล่านี้ไปใช้ แต่อาจจะต้องร่อนอีกสองสามครั้งกว่าข้อมูลจะเข้าที่และมีคุณภาพ

ทำบัตรแล้วเราก็ให้เงินเพื่อให้เขาดำรงชีพอยู่ได้ โดยบอกให้ไปซื้อที่ร้านธงฟ้าเพื่อแก้ปัญหาโชห่วยอยู่ไม่ได้ไปด้วย ร้านโชห่วยฟื้นตัวขึ้นมา ตอนนั้นสามสี่หมื่นราย หลายแห่งเขาก็พัฒนาตัวเองไปแข่งได้ จริง ๆ การจะช่วยให้คนเล็กคนน้อยพัฒนา

เราต้องส่งเสริมคนที่เก่งแล้วและมีทรัพยากรเหลือให้กระจายมาให้คนที่ด้อยกว่าด้วย คนวิจารณ์ว่าทำช่วยแต่รายใหญ่ ไม่ช่วยรายเล็ก แต่ความจริงช่วยรายใหญ่ผลออกมามากกว่าช่วยรายเล็กเยอะ เพราะว่ารายใหญ่มี capability สูงกว่ามีคนบอกอีกว่า อย่างนี้เท่ากับส่งเสริมรายใหญ่ไปกินรายเล็กแย่งทรัพยากรทั้งหมด แต่นั่นคือแนวคิดแบบประเทศปิด ขณะนี้เป็นยุค global ถ้าสนับสนุนคนเก่ง เขาสามารถไปเอาทรัพยากรจากข้างนอก เอากลับมาเพิ่มจำนวนเค้กให้กับประเทศได้ ไม่ต้องมาแย่งจากคนในประเทศ

เราพยายามออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องวินัยทางการคลัง แนวคิดคือ ถ้าเราใช้นโยบายทางการคลังไม่ว่าใช้เงินไปหรือว่ากู้เงินมา ต้องให้มั่นใจว่าเราสามารถคืนเงินได้ในอนาคต ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น default ในอนาคต เหมือนกับภาคเอกชนที่กำหนด debt-to-equity ratio เราก็กำหนดภาระหนี้ต่อจีดีพีว่าควรจะไม่เกินเท่าไหร่ earning ควรจะเป็นเท่าไหร่ การใช้หนี้ในอนาคตของ SFIs (specialized Financial Institutions) ควรจะไม่เกินเท่าไหร่ หนี้ที่ยืมต้องรีบคืน ไม่ใช่เก็บไปเรื่อย ๆ

นอกจากนั้น หัวใจจริง ๆ ของความมั่นคงทางการคลัง คือความสามารถในการหาเงิน หรือเรื่องภาษีต้องบอกว่าประเทศเรามีคนหนีภาษีมากกว่าคนที่ไม่หนีภาษี เราถึงออกนโยบายว่าเอสเอ็มอีที่จะมาขอกู้ได้ต้องมีบัญชีเดียว เพื่อบีบให้เขาเข้าสู่ระบบให้ได้

บางคนบอกขึ้นภาษี VAT เพิ่ม VAT หนึ่งเปอร์เซ็นต์ก็ได้ประมาณแสนล้าน คำถามคือถ้าขึ้น VAT คุณก็เท่ากับทำโทษคนที่ทำมาหากินถูก คนทำไม่ถูกก็ยิ่งมีแต้มต่อมากขึ้น ดังนั้น เราจึงเน้นทำยังไงให้ทุกคนเข้าสู่ระบบให้หมดโดยการพยายามบีบ ขณะเดียวกันก็บอกสรรพากรว่าเปลี่ยนจากการตรวจเพื่อปรับ เป็นตรวจแนะนำเพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบ มีการออกระเบียบว่าใครที่เข้าสู่ระบบ เราจะไม่ไปตรวจย้อนหลัง เพื่อดึงทุกคนเข้ามา


ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของหลักการและหลักคิด ของอภิศักดิ์ ผู้ออกแบบ และวางรากฐานบิ๊กดาต้า ที่พัฒนาออกฤทธิ์ ผ่านแอปเป๋าตัง ที่เห็นทุกวันนี้