พิษโควิดหั่นเงินเดือน-เลิกจ้างพุ่ง-ตกงาน 8 ล้านคน ชี้ 5 อาชีพเห็นสัญญาณบวก

“จ๊อบส์ ดีบี” เผยโควิด-19 ทุบดัชนีความสุขคนทำงาน ไม่ปลื้มทำงานที่บ้าน เลิกจ้างพุ่งแถมโดนลดเงินเดือน แต่ครึ่งปีหลังพอเห็นสัญญาณบวก 5 สายงาน ทั้ง “อีคอมเมิร์ซ-ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง-การขาย-ท่องเที่ยวและจัดซื้อ”

นางสาวพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลายหน่วยงานคาดการณ์ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ว่าจะส่งผลให้คนไทยตกงาน 3-8 ล้านคน  บริษัทจึงทำการสำรวจคนทำงานกว่า 1,400 คนและผู้ประกอบการกว่า 400 บริษัท ระหว่าง  14-30 พ.ค. 2563

และพบว่าคนทำงาน 1 ใน 4 ได้รับผลกระทบโดยตรง และกว่า 25% ได้รับผลกระทบมากน้อยต่างกัน  9% โดนเลิกจ้าง หรือ 3.5 ล้านคนของประชากร 38 ล้านคนที่ทำงานในระบบ และ 16% หยุดงานแต่ยังคงสถานะลูกจ้าง

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือพนักงานเงินเดือนต่ำกว่า 16,000 บาท เป็นสัญญาจ้าง และอายุมากกว่า 45 ปีทำงานให้องค์กรที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยจะเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาท อายุ 25-34 ปี เป็นพนักงานประจำอยู่ในองค์กรที่มีพนักงาน 51-500 คน

กลุ่มพนักงานที่ยังมีงานทำเกือบ 50% ทำงานจากบ้าน, 45% ได้รับผล กระทบเชิงรายได้, 27% ไม่ได้รับโบนัส และ 20% ไม่ขึ้นเงินเดือน  ขณะที่ 14% โดนลดเงินเดือน มากน้อยต่างกันไปตั้งแต่ 11-30% ของรายได้

จ๊อบส์ ดีบี ยังสำรวจดัชนีความสุขในการทำงานของแรงงานไทย โดยก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 85% ในช่วงระบาดลดเหลือ 59% และพบว่าคนไม่มีความสุขเพิ่มขึ้น 3 เท่าเมื่อเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน และ 46% ชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น

และ 1 ใน 4 ของ 25% ได้รับแรงกดดันจากหัวหน้างานหรือองค์กรเรื่องผลลัพธ์ เนื่องจากต้องเพิ่มระดับความเข้มข้นของการทำงาน และพบว่าพนักงานสายโฆษณา, ประชาสัมพันธ์ รวมถึงการตลาดดิจิทัล, อีคอมเมิร์ซ และโซเชียลมีเดียทำงานต่อวันนานขึ้นเมื่อทำงานที่บ้าน อีกทั้งผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความท้าทายจากรายได้และเงินหมุนเวียนส่งผลให้ต้องปรับแผน โดย 52%ให้พนักงานทำงานที่บ้าน, 47% ปรับนโยบายจ้างงาน โดยนายจ้างที่ปรับนโยบายการจ้างงาน 39% หยุดรับพนักงานใหม่ และ 12% ลดพนักงาน และกว่า37% เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินเดือนและค่าตอบแทน อาทิ 21% ไม่ปรับเงินเดือน บางกลุ่มโดนลดเงินเดือนถึง 20% และ 18% งดจ่ายโบนัส

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังเห็นสัญญาณเชิงบวกในการจ้างงานจากผู้ประกอบการสำหรับครึ่งหลังของปี 2563 ว่า 88% มีแนวโน้มการจ้างงานอีกครั้งใน 6 เดือนข้างหน้า โดยพบว่ากว่า 33% อยากจ้างผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประเทศให้เศรษฐกิจดำเนินต่อได้ และกว่า 53% มีแนวโน้มจ้างเด็กจบใหม่ในตำแหน่งระดับพนักงานทั่วไป เนื่องจากก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะมีนักศึกษาจบใหม่  5.2 แสนคน และทุกปีมักมีนักศึกษาว่างงาน 20-30% แต่ปีนี้มากกว่านั้น

จากข้อมูลข้างต้นพบว่า 6 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการมีแนวโน้มเปิดจ้างงานมากสุดใน 5 สายงาน คือ 1.งานไอที โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ, ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง,นักพัฒนาที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ยังขาดมาก 2.งานการตลาด, ประชาสัมพันธ์ 3.งานขาย, บริการลูกค้า, พัฒนาธุรกิจ 4.ท่องเที่ยว, โรงแรม, อาหาร และ 5.งานจัดซื้อ