โควิดสายพันธุ์เดลต้ากระจาย 25 จังหวัด “กทม.” นำโด่ง 491 ราย

โควิด

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด “เดลต้า” ใน 25 จังหวัด “กทม.” พบมากสุด 491 ราย 

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เพจเฟซบุ๊ก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยแพร่ตารางจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เป็นข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-20 มิถุนายน 2564 พบผู้ติดเชื้อแล้ว 661 ราย แบ่งเป็นรายจังหวัด ดังนี้

  • เชียงใหม่ 2 ราย
  • เชียงราย 1 ราย
  • พะเยา 2 ราย
  • พิษณุโลก 1 ราย
  • เพชรบูรณ์ 1 ราย
  • นนทบุรี 64 ราย
  • สระบุรี 5 ราย
  • ปทุมธานี 28 ราย
  • นครนายก 8 ราย
  • สมุทรสาคร 1 ราย
  • นครปฐม 1 ราย
  • ชลบุรี 1 ราย
  • จันทบุรี 1 ราย
  • ขอนแก่น 3 ราย
  • ร้อยเอ็ด 1 ราย
  • อุดรธานี 23 ราย
  • สกลนคร 7 ราย
  • เลย 4 ราย
  • หนองคาย 2 ราย
  • หนองบัวลำภู 4 ราย
  • ชัยภูมิ 3 ราย
  • บุรีรัมย์ 2 ราย
  • นครราชสีมา 2 ราย
  • อุบลราชธานี 3 ราย
  • กรุงเทพมหานคร 491 ราย

ก่อนหน้านี้ (22 มิ.ย.) กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว “Update สายพันธุ์ Delta (อินเดีย) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษประมาณ 1.4 เท่า

ไม่แปลกที่สายพันธุ์เดลต้าจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลต้าก็จะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทั่วโลก ในอนาคตก็อาจจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น โดยวัฏจักรแล้วจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ฉะนั้นไทยก็ต้องควบคุมโรคให้ได้มากที่สุด

ขณะนี้ประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และมีแนวโน้มที่จะเกิดสายพันธุ์เดลตาเข้ามาแทนที่สิ่งที่จะทำได้ก็คงจะต้องช่วยกันควบคุมป้องกัน ให้เกิดสายพันธุ์เดลต้า ระบาดในประเทศไทยช้าที่สุดและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการให้วัคซีนในการควบคุมโรคในอนาคตให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดตามทรัพยากรที่เรามีอยู่

สิ่งที่สำคัญที่สุดประชาชนไทยทุกคนจะต้องช่วยกัน แม้จะฉีดวัคซีนแล้วจะต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันโควิด 19