ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 และเชื้อ 3 สายพันธุ์แพร่ระบาดคลัสเตอร์ไหนบ้าง

โควิด วัคซีนเข็ม 3

วงการแพทย์เริ่มคาดการณ์ว่าประเทศไทย อาจต้องมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเข็มที่ 3 เพราะมีเชื้อกลายพันธุ์แพร่ระบาดเพิ่ม ขณะที่ปริมาณวัคซีน 105.5 ล้านโดส 4 ยี่ห้อ อยู่ระหว่างการทยอยนำเข้าประเทศไทย

แผนการจัดหาและการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ยังอยู่ระหว่างการปรับแผนแบบรายสัปดาห์ ระหว่าง ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ทำให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ และสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ต้องเลื่อนนัด เป็นระยะ รอการจัดสรรจาก ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่แผนการเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน ตามคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าเปิดประเทศภายใน 120 วัน พร้อมจัดหาวัคซีนให้ได้ 105.5 ล้านโดส โดยในจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็นวัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ ดังนี้

  • แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส
  • ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส
  • ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส
  • จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดส

การจัดหาวัคซีน 105.5 ล้านโดส ยังรวมอยู่ในแผนการจัดหาวัคซีน 150 ล้านโดส ที่ตั้งเป้าไว้ภายใน 2565 จากเดิม 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 โดยนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) ระบุว่า การขยายเพดานการจัดหาวัคซีนครั้งนี้ เนื่องมาจากเตรียมรองรับประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงสถานการณ์ของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ที่อาจจะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 อีกด้วย

มุมมอง “เข็ม 3” ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

แม้แผนการจัดหาวัคซีนจะเริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังคงเป็นแผนการฉีดในเข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2 เท่านั้น ด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเริ่มออกมาเคลื่อนไหว และชี้ให้เห็นเหตุผลในการฉีด “วัคซีนเข็มที่ 3” เพิ่มมากขึ้น

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือหมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยยังพบโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ) เป็นส่วนใหญ่ แต่แน่นอนว่าอนาคตคงหนีไม่พ้นสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) พร้อมแนะนำว่า การฉีดวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวัคซีนหลัก หากได้ฉีดเข็มที่ 2 เร็วขึ้น จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้า หากมีการระบาดเกิดขึ้น

ส่วนวัคซีนที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้น้อยกว่าก็คงจะต้องใช้การกระตุ้นในเข็มที่ 3 ให้ระดับภูมิต้านทานสูงขึ้นเพื่อป้องกันสายพันธุ์เดลต้า จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนใหม่ให้ตรงกับสายพันธุ์ที่มีการระบาด

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอธีระวัฒน์” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มองว่า หากจะมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ควรจะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ให้ผ่านพ้นไปให้ได้เสียก่อน

สำหรับวัคซีนซิโนแวค หากฉีดครบแล้ว 2 เข็ม ก็เตรียมตัวรับเข็มที่ 3 ได้เลย เนื่องจากผลการวัดระดับภูมิคุ้มกันยังต่ำกว่า 70% และยังไม่น่าพอใจเท่าที่ควร และจะมีผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่ลดลงอีกด้วย

ฉะนั้นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หากเปลี่ยนไปใช้วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา น่าจะดีกว่าในวัคซีนยี่ห้อเดิม 

จุฬาฯ แนะเร่งฉีดเข็ม 3-เริ่มทดลองฉีดต่างยี่ห้อ

ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าสาขาไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า ประเทศไทย ควรจะเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ได้ภายในปลายปีนี้ หรือต้นปี 2565 ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากตอนนี้ทีมวิจัยของจุฬาฯ ได้ทำการทดลองวัคซีน mRNA ในเข็มที่ 3 แล้ว

รวมถึงยังเตรียมทดลองฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แบบต่างยี่ห้อ ในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วในยี่ห้อใดก็ตาม หรือวัคซีนที่มีกระบวนการผลิตแตกต่างกัน เพื่อทดสอบการกระตุ้นภูมิว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ประกาศเปิดรับอาสาสมัครร่วมโครงการวิจัยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 1 และ 2 แบบสลับชนิด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อสงสัยของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนยี่ห้อของวัคซีนหลังจากส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 ไปแล้ว

แหล่งพบเชื้อสายพันธุ์เดลต้า-อัลฟา-เบต้า

สำหรับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ขณะนี้ได้เข้ามาในประเทศไทยครบแล้ว 3 ชนิด และยังมีระดับความรุนแรงและแพร่กระจายได้รวดเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจาก “อัลฟ่า” โควิดสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่ยังพบมากสุดในประเทศไทย ตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทยช่วงเดือนมีนาคม 2564 มีประสิทธิภาพการกระจายตัวที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติ

ล่าสุด (22 มิ.ย.) พบเพิ่มอีก 1,113 ราย มากที่สุดอยู่ใน กทม. 387 ราย ทำให้ยอดสุ่มตรวจตั้งแต่การระบาดระลอกเมษายน 2564 สะสมแล้ว 5,641 ราย หรือคิดเป็น 88.93%

ขณะที่สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) พบผู้ติดเชื้อครั้งแรกที่ จ.นราธิวาส เป็นสายพันธุ์ที่พบมากสุดในไทย และพบครั้งแรกในช่วงเดือนพฤษภาคม มีการแพร่เชื้อที่รุนแรง ล่าสุด (22 มิ.ย.) พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 7 ราย ในพื้นที่ภาคใต้ แบ่งเป็น 2 ราย ที่ จ.ภูเก็ต เป็นนักเรียนที่กลับมาจากโรงเรียนมัรกัส จ.ยะลา และที่ จ.ปัตตานี 4 ราย จ.ยะลา 1 ราย รวมยอดสะสมแล้ว 38 ราย หรือคิดเป็น 0.60%

ส่วนสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่มีระดับความรุนแรงมากที่สุด สามารถกระจายเชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าถึง 60% พบการระบาดครั้งแรกที่บ้านพักคนงานย่านหลักสี่ ล่าสุด (22 มิ.ย.) พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 168 ราย ทำให้ยอดสะสมสุ่มตรวจตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเมษายนถึงปัจจุบันพบสายพันธุ์เดลต้าแล้วทั้งสิ้น 661 ราย คิดเป็น 10.47%

คลัสเตอร์ยังเพิ่มไม่หยุด ทำระบาดพุ่งทะลุ 4 พันคน

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ เปิดเผยถึงคลัสเตอร์ใหม่ที่เพิ่มต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ที่มีการระบาดถึง 9 คลัสเตอร์ ใน 7 จังหวัด ว่า คลัสเตอร์กรุงเทพฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯเหนือ พบที่เขตบางเขน เป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ พบผู้ติดเชื้อ 12 ราย จากคนทั้งหมด 44 คน คิดเป็น 27%

และพื้นที่กรุงเทพฯเหนือ เขตธนบุรี เป็นร้านผลิตและขายส่งขนมกุยช่าย ซอยเทิดไท 21 มีพนักงาน 38 คน พบติดเชื้อ 23 คน คิดเป็น 60% อีกจุด คือ เขตบางกอกใหญ่ เป็นแคมป์คนงานก่อสร้าง ซอยเพชรเกษมสายเก่า พบผู้ติดเชื้อ 47 ราย จากการตรวจทั้งหมด 74 ราย คิดเป็น 63%

ส่วนในจังหวัดอื่น ๆ ที่พบคลัสเตอร์ ได้แก่ จ.สมุทรปราการ พบคลัสเตอร์ใหม่ 3 ที่ ได้แก่ อ.เมืองสมุทรปราการ เป็นคอนโดมิเนียม วันที่เริ่มพบการระบาด 20 มิ.ย. พบผู้ป่วยรายใหม่ 11 ราย 2.อำเภอเมืองสมุทรปราการ เป็นเขตอุตสาหกรรมบางปู พบเมื่อ 20 มิ.ย. พบผู้ป่วยรายใหม่ 38 ราย และที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ เป็นบริษัทระบบน้ำการเกษตร พบเมื่อ 20 มิ.ย. เจอผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20 ราย

จ.สมุทรสาคร ที่ อ.เมืองสมุทรสาคร เป็นโรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง และโรงงานสิ่งทอ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 44 ราย และ 6 รายตามลำดับ จ.นนทบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่ที่ อ.ปากเกร็ด เป็นบริษัทก่อสร้าง พบผู้ติดเชื้อ 40 ราย จ.สระบุรี เป็นคลัสเตอร์ใหม่โรงเรียนตำรวจ อ.เมือง พบผู้ป่วยรายใหม่ 16 ราย จ.ระยอง อ.แกลง คลัสเตอร์ใหม่เป็นฟาร์มเห็ด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11 ราย จ.ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว คลัสเตอร์ใหม่เป็นบริษัทเชื่อมโลหะ พบผู้ป่วยใหม่ 8 ราย

นอกจากนี้ ยังมีคลัสเตอร์ใหม่ในต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง ทั้งโรงงานรองเท้า จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อ 326 ราย โรงงานแปรรูปอาหาร ที่ จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อ 7 ราย โรงงานอาหารทะเลกระป๋องที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา พบผู้ติดเชื้อ 262 ราย จ.สมุทรสาคร เป็นโรงงานเสื้อผ้าที่ อ.กระทุ่มแบน พบผู้ติดเชื้อ 6 ราย จ.นครปฐม โรงงานหมู 4 แห่ง มีการใช้คนงานซ้ำ ๆ กัน พบผู้ติดเชื้อสะสมรวมกันถึง 171 ราย

“จะเห็นว่าวันนี้ที่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 4 พันกว่าคน เนื่องจากพบคลัสเตอร์ก้อนใหญ่ ๆ พบผู้ป่วยเลข 3 หลักทั้งนั้น เลยทำให้ตัวเลขวันนี้ขึ้นไปถึง 4,059 ราย” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ภายใต้การควบคุมโรคในภาวะฉุกเฉิน อาจไม่เพียงพอและทันการณ์กับการเพิ่มขึ้นของโควิดสายพันธุ์ใหม่ การพัฒนาวัคซีน สำหรับการฉีดเข็มที่ 3 จึงอาจเป็นทางออกในการควบคุมโรค ในระยะถัดไป