ยอดจองทุเรียนลุ่มน้ำโขงทะลัก “รสดี-กลิ่นไม่ฉุน” ปลูกไม่พอขาย

ปัจจุบันผลไม้ส่งออก ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ คงหนีไม่พ้น “ทุเรียน” ถือเป็น “ราชาแห่งผลไม้ไทย” โดยความต้องการเติบโตสวนกระแส

แม้มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกรหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยหันมาปลูกทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ และต่างพยายามสร้างเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละจังหวัดขึ้นมา เช่น ทุเรียนจันทบุรี ทุเรียนภูเขาไฟจากศรีสะเกษ ทุเรียนหลงหลินลับแลจากอุตรดิตถ์ เป็นต้น

ล่าสุดเกษตรกรจังหวัดหนองคายสามารถสร้างรายได้จาก “ทุเรียน” ได้ไม่น้อย โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองจาก อ.สังคม ที่เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งรสชาติดี มีเนื้อแน่น กลิ่นไม่ฉุน กินแล้วไม่มีอาการร้อนใน ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมาก จนผลผลิตไม่พอขาย และผู้ซื้อต้องสั่งจองล่วงหน้าหลายเดือน

“บุญมา ชื่นตา” ชาวบ้านไทยพัฒนา ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ “สวนศิลป์ ถิ่นนาคา” ที่ปลูกผลไม้หลายชนิดบนเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ โดยเฉพาะการปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองกว่า 20 ต้นที่ปลูกมานานกว่า 18 ปี

มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษที่มีความแตกต่างและโดดเด่นคือ เนื้อแน่น รสชาติดี และที่สำคัญคือ ไม่มีกลิ่นฉุน เหมาะสำหรับผู้ที่อยากกินทุเรียน แต่ไม่ชอบทุเรียนกลิ่นฉุน

“ถือว่าเป็นทุเรียนน้ำดีจากที่ดินลุ่มแม่น้ำโขงที่ต้องสั่งจองล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนทุเรียนจะแก่จนเก็บผลผลิตได้ หากไม่จองล่วงหน้าอาจจะไม่ได้กิน เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดมาก”

“สมชื่น ชื่นตา” เจ้าของสวนศิลป์ถิ่นนาคาอีกคนเล่าว่า จุดเริ่มต้นการปลูกทุเรียนหมอนทองมาจากความต้องการของตลาดที่สูงมาก เห็นตัวอย่างจากชาวสวนทุเรียนในภาคใต้ที่เก็บผลผลิตแล้วสามารถขายได้ในราคาสูง สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี

และในพื้นที่ ต.บ้านม่วง อ.สังคม มีเกษตรกรเพาะปลูกทุเรียนได้สำเร็จ จึงคิดนำพันธุ์ทุเรียนหมอนทองมาปลูกบ้าง เดิมทีพื้นที่สวน 40 ไร่ ได้นำพันธุ์ทุเรียนหมอนทองจาก จ.ชุมพร จำนวน 130 ต้น ปลูกสลับกับไม้ผลและพืชสวนชนิดต่าง ๆ ทั้งเงาะ, สะตอ, ละมุด, มะม่วง, มะนาว, ลองกอง และลิ้นจี่ เป็นต้น

โดยต้นทุเรียน 20 ต้น ใช้เวลากว่า 6 ปีกว่าจะให้ผลผลิต ปี 2564 นี้ผลผลิตทุเรียนไม่ได้มากเท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศไม่เป็นใจต่อการออกผลผลิต ทำให้ตอนนี้ทุเรียนไม่พอขาย

เพราะมีลูกค้าเข้ามาสั่งจองเป็นจำนวนมาก ต้องรอให้ผลทุเรียนอีกหลายต้นสุกก่อนจึงจะเก็บขายได้อีกรอบ และสำหรับผู้สั่งจองต้องมารับทุเรียนที่สวนเท่านั้น

“อำพร วงรินยอง” กำนันตำบลผาตั้ง เปิดเผยว่า ในพื้นที่ ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย มีเกษตรกรหลายรายที่ปลูกทุเรียน และไม้ผลทั้งเงาะ ลองกอง ละมุด ลิ้นจี่ และอื่น ๆ อีกมาก เพราะในพื้นที่อำเภอสังคมค่อนข้างเหมาะกับการปลูกผลไม้

โดยเฉพาะตำบลผาตั้งเป็นทำเลที่ค่อนข้างเหมาะกับการปลูกทุเรียนหมอนทอง เนื่องจากรสชาติของผลผลิตที่ได้นั้น ถ้าเทียบกับพื้นที่จังหวัดระยอง และจันทบุรี กลิ่นของทุเรียนมีน้อยกว่า แต่ความหวานและความมันนั้นปกติเทียบเท่ากัน

ส่วนทุเรียนสายพันธุ์อื่น เช่น ชะนี ก้านยาว กระดุม หรือหลงหลิน มีเกษตรกรนำมาปลูกบ้าง แต่ไม่มากนัก

เรียกได้ว่าทุเรียนของ จ.หนองคาย ถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่โดดเด่นและเป็นจุดขายชั้นเยี่ยม รวมพื้นที่ปลูกปัจจุบันประมาณ 300 ไร่ ปลูกมากที่สุดในพื้นที่ อ.โพธิ์ตาก

และรองลงมาคือพื้นที่ อ.สังคม ด้านราคาขายไม่แตกต่างจากราคาตามท้องตลาดทั่วไป เฉลี่ยขายเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 150 บาท แต่ทุเรียนในพื้นที่ยังมีปริมาณไม่มาก ส่วนใหญ่มีผู้มารับซื้อถึงสวน