นายกฯเร่ง “โคเพย์เงินเดือน” อุ้ม “เอสเอ็มอี” ในระบบ 4 แสนราย

นายกฯประชุมร่วมภาคเอกชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือนโยบายช่วยเหลือ SMEs ร่วมกับภาคเอกชน เมื่อ 23 มิถุนายน 2564

นายกฯเรียกหน่วยงานรัฐ-เอกชน ถกช่วย “เอสเอ็มอี” พยุงจ้างงาน เคาะมาตรการโคเพย์ “จ่ายเงินเดือน” เบื้องต้นโฟกัสกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานภาษี 4.4 แสนราย โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว-ร้านอาหาร สภาพัฒน์ยอมรับโจทย์ใหญ่เอสเอ็มอีนอกระบบจำนวนมาก มั่นใจจะมีความชัดเจนภายในเดือน มิ.ย.นี้

ถกโคเพย์เงินเดือน “คนละครึ่ง”

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อรักษาธุรกิจและพยุงการจ้างงาน ซึ่งที่ประชุมน่าจะพยายามหาข้อสรุปออกมาให้ได้ เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือออกมาให้สอดคล้องกับกำหนดการที่จะเปิดประเทศภายใน 120 วัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมจะเร่งพิจารณามาตรการพยุงการจ้างงานของเอสเอ็มอี ในลักษณะการช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงาน หรือเงินเดือน “คนละครึ่ง” เพราะปัจจุบันเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบหนักมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวจากการปิดประเทศ และธุรกิจร้านอาหารที่ถูกกระทบจากมาตรการห้ามนั่งทานอาหารที่ร้าน

อุ้ม SMEs 4.4 แสนราย

“กลุ่มที่ต้องช่วยเหลือเรื่องพยุงการจ้างงาน จะเป็นเอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดเล็ก ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ ที่ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มนี้เคยมีสัดส่วนถึง 20% ของ GDP แต่พอเจอโควิดระลอก 3 ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งคาดว่ากลุ่มนี้มีการจ้างงานรวมกันราว 4-8 ล้านคน

สำหรับการช่วยเหลือจะต้องยึดตามฐานข้อมูลการเสียภาษี ที่บางคนก็อาจจะจ่ายในรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.50 ในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด มาพิจารณาประกอบกับข้อมูลการจ้างงานในปัจจุบันจากประกันสังคม”

แหล่งข่าวกล่าวว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอีแต่ละกลุ่มจะมีส่วนที่ต่างกันไป เพราะการฟื้นตัวของแต่ละเซ็กเตอร์ หรือแต่ละพื้นที่ ก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังต้องหารือกันอย่างละเอียด โดยการช่วยเหลือต้องแบ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีออกเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ซึ่งจะประกอบด้วยกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลางที่มีประมาณ 4 หมื่นราย และรายเล็กที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีกราว 4 แสนราย

ทั้งนี้ สีเขียวคือกลุ่มที่ธุรกิจไปต่อได้ เช่น กลุ่มเอสเอ็มอีที่เกี่ยวกับการส่งออกราว 2.5 หมื่นราย เป็นต้น โดยกลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลางที่มี 4 หมื่นราย ส่วนใหญ่เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูได้อยู่แล้ว และคงไม่มีปัญหา เพราะการส่งออกเริ่มดีขึ้นแล้ว ขณะที่กลุ่มสีเหลือง จะอยู่ในกลุ่มที่เหลือที่สภาพคล่องถูกกระทบ เช่น ร้านอาหารในศูนย์การค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ มีเอสเอ็มอีรายเล็ก ๆ ที่เหลืออีกราว 3 ล้านราย ไม่อยู่ในระบบ แต่ก็คงต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพราะมีการจ้างงานมาก

“รัฐบาลเยียวยาประชาชนไปแล้วกว่า 31 ล้านคน ผ่านมาตรการเยียวยาประชาชน ทั้งเราชนะ ม33 เรารักกัน คนละครึ่ง ตลอดจนยิ่งใช้ยิ่งได้ ส่วนเอสเอ็มอีก็คาดว่าต้องใช้งบประมาณเป็นแสนล้านบาทในการพยุงการจ้างงาน ที่ประชุมคงต้องมาดูกันว่า จะมีงบฯมาช่วยส่วนนี้เท่าไหร่ และช่วยนานแค่ไหน แต่เบื้องต้นคาดว่าอาจจะช่วยเหลือให้สอดคล้องกับการเปิดประเทศใน 120 วัน” แหล่งข่าวกล่าว

รับมือหนี้เสียเอสเอ็มอีพุ่ง

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในเรื่องสภาพคล่อง และการช่วยเหลือในรูปแบบ e-Factoring ที่ทุกฝ่ายเห็นสอดคล้องกันว่าต้องช่วยเหลือตรงนี้

ขณะเดียวกัน ทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยที่เสนอขอให้ช่วยเหลือเรื่องภาระหนี้ โดยการพักต้น-พักดอกเบี้ยนาน 12 เดือน ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เชิญสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเข้าหารือ ซึ่งทางสมาพันธ์ได้มีข้อเสนอเร่งด่วน 3 ข้อ และระยะยาวอีก 3 ข้อ

“ไตรมาสแรกปีนี้พบว่า ตัวเลขสินเชื่อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ของธุรกิจเอสเอ็มอี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 15% จากปีก่อนอยู่ที่ 7-8% ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือโดยด่วน” แหล่งข่าวกล่าว

หาวิธีช่วยกลุ่มนอกระบบ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีการประชุมหารือเรื่องมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีช่วงครึ่งปีหลัง โดยยอมรับว่าเอสเอ็มอีที่อยู่นอกระบบมีจำนวนมาก จึงต้องหารือร่วมกันเพื่อหาสรุปว่าจะช่วยเหลืออย่างไร รวมถึงการช่วยเอสเอ็มอีรักษาการจ้างงานรูปแบบรัฐร่วมจ่ายคนละครึ่งนั้น ก็จะต้องมาหารือร่วมกัน

“เอสเอ็มอีนอกระบบมีจำนวนมาก เราจึงต้องมาคุยกันว่า สรุปแล้วจะทำอย่างไร รวมทั้งการจ้างงานเอสเอ็มอีคนละครึ่งด้วยว่า สรุปแล้วจะช่วยเหลือแบบใด ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ แต่ภายในเดือน มิ.ย.นี้จะได้เห็นความชัดเจนในมาตรการดังกล่าว” นายดนุชากล่าว

ไม่มีเจ้าภาพ-ไม่มีข้อมูล

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 หนึ่งในมาตรการที่มีการหารือก็คือ การช่วยจ่ายเงินเดือน ให้กับแรงงานของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

แต่ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องไม่สามารถหาเจ้าภาพที่จะมารับผิดชอบได้ เนื่องจากว่าประเทศไทยไม่มีฐานข้อมูลของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบบครบถ้วน กระทรวงแรงงานก็จะมีเฉพาะข้อมูลผู้ประกอบการในระบบประกันสังคม ส่วนเอสเอ็มอีที่อยู่นอกระบบก็ไม่มีข้อมูลที่จะสามารถตรวจสอบการจ้างงานได้ ดังนั้นการนำมาตรการมาใช้ก็จะมีช่องโหว่และเกิดการรั่วไหล ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการหารือถึงแนวปฏิบัติที่เป็นไปได้

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือการรักษาระดับการจ้างงานในกลุ่มเอสเอ็มอี เน้นผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลเอสเอ็มอี เพื่อช่วยปลดเปลื้องภาระบางประการในแง่ของการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ยากคือจะทำอย่างไรให้ช่วยเหลือได้ถูกคน จึงต้องมีการจัดการฐานข้อมูลกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อที่จะส่งความช่วยเหลือได้ตรงกลุ่ม เพราะข้อมูลเอสเอ็มอีของประเทศไทยไม่ได้อัพเดต ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีอยู่ 3 ล้านราย ซึ่งเป็นใครบ้างก็ไม่รู้

ขณะนี้กำลังหาวิธีทำกันอยู่เพื่อให้เร็ว แต่จะเน้นช่วยเอสเอ็มอีที่ถูกกฎหมาย สเต็ปต่อไปก็ต้องจัดทำฐานข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งประเด็นไม่ได้ต้องการเรื่องเอามาเพื่อจัดเก็บภาษี แต่ต้องการทราบว่าเป็นใคร ทำธุรกิจอยู่ที่ไหน เพราะเมื่อมีปัญหาจะได้ช่วยได้ง่าย ไม่ต้องเปิดลงทะเบียนใหม่ ทำให้เสียเวลาและไม่ทันเหตุการณ์