เดลต้าพลัส โควิดกลายพันธุ์ในอินเดีย น่ากลัวแค่ไหน?

โควิด อินเดีย
REUTERS/P. Ravikumar/File Photo

อินเดียจับตา “เดลต้าพลัส” โควิดกลายพันธุ์ ระบาดแล้ว 3 รัฐ ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ฟันธงรุนแรงกว่า “เดลต้า” ตัวเดิม แนะเร่งหาข้อมูลเพิ่มเติม 

โควิดอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง อย่าง “เดลต้าพลัส” โควิดที่กลายพันธุ์มาจาก “สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย)” อีกทั้งรัฐบาลอินเดียยังประกาศว่า ไวรัสดังกล่าวเป็นการกลายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล หลังพบการแพร่ระบาดในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา

“เดลต้าพลัส” สายพันธุ์อินเดีย “กลายพันธุ์”

สำนักข่าว BBC รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขอินเดีย เปิดเผยผลการศึกษาพบตัวแปรที่เรียกว่า เดลต้าพลัส หรือที่เรียกว่า AY.1 โดยมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 40 คน ใน 3 รัฐ ได้แก่ มหาราษฏระ เกรละ และมัธยประเทศ โดยรัฐที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ รัฐมหาราษฏระที่พบผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 16 คน

นอกจากนี้ ยังพบโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัสแล้วใน 9 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น โปแลนด์ รัสเซีย และจีน

สำหรับไวรัสกลายพันธุ์และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และยังถูกยกระดับจาก “ตัวแปรที่น่าสนใจ” เป็น “ตัวแปรที่น่ากังวล” (VOC) สามารถแพร่เชื้อได้ง่าย ยึดเกาะกับเซลล์ในปอดได้ง่ายขึ้น มีการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากขึ้น และยังลดประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกัน รวมถึงประสิทธิภาพที่ลดลงของการรักษาและจากวัคซีนอีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ปักใจเชื่อ “เดลต้าพลัส” รุนแรงกว่า “เดลต้า” แนะหาหลักฐานเพิ่ม

นักไวรัสวิทยาชั้นนำต่างตั้งคำถามกับการติดฉลากของเดลต้าพลัสว่าเป็นตัวแปรที่น่ากังวล โดยกล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลที่จะพิสูจน์ได้ว่าตัวแปรดังกล่าวติดเชื้อมากกว่าหรือนำไปสู่โรคที่รุนแรงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่น ๆ

Advertisment

ดร.กากันดีป คัง นักไวรัสวิทยาและผู้หญิงอินเดียคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นนักวิจัยที่ราชสมาคมลอนดอน (Royal Society of London) กล่าวว่า เมื่อพิจารณาตัวอย่างผู้ติดเชื้อ ยังไม่พบข้อมูลจะสนับสนุนข้อกล่าวอ้างที่ว่า เดลต้าพลัสเป็นสายพันธุ์ที่น่ากลัวจริงหรือไม่ พร้อมแนะนำว่า ควรมีข้อมูลทางการแพทย์และชีววิทยาเพื่อพิจารณาว่า เดลต้าพลัสเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลจริงหรือไม่

ขณะที่สำนักข่าว CBS NEWS รายงานว่า นักระบาดวิทยา Dr.Ramanan Laxminarayan จาก Center for Disease Dynamics, Economics & Policy (CDDEP) ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐ เห็นด้วยว่า ควรเน้นที่การรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน “การจัดลำดับอย่างรวดเร็วและการวิจัยทางระบาดวิทยาที่มั่นคง” ในเดลต้าพลัส

Advertisment

ด้าน ดร.เจเรมี คามิล นักไวรัสวิทยาที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยแห่งรัฐลุยเซียนา บอกว่า เราไม่มีเหตุผลมากนักที่จะเชื่อว่า “เดลต้า พลัส” เป็นอันตรายมากไปกว่า “เดลต้า” และตนไม่คิดว่า อินเดียหรือใครก็ตามจะสามารถเปิดเผยหรือรวบรวมข้อมูลได้มากพอที่จะบอกได้ว่า เดลต้าพลัส รุนแรงและน่าเป็นกังวลไปกว่า “เดลต้า” ตัวเดิม

กราฟผู้ติดเชื้ออินเดียดิ่งลงต่อเนื่อง

แม้จะพบโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส แต่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดจาก Our World in Data ได้นำเสนอข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียผ่านเส้นกราฟที่มีการเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ซึ่งพบว่า เส้นกราฟของไทยกำลังไต่ระดับขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อินเดียกราฟดิ่งลงอย่างเห็นได้ชัด หลังมียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดถึง 401,993 คน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

เดลต้าพลัส

สถานการณ์ “เดลต้า” ตัวเดิมในไทย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เดลต้าพลัส ยังไม่มีการรายงานพบในประเทศไทย แต่สำหรับ “เดลต้า” เดิม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รายงานเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 661 ราย จากทั้งสิ้น 25 จังหวัด ดังนี้

  • เชียงใหม่ 2 ราย
  • เชียงราย 1 ราย
  • พะเยา 2 ราย
  • พิษณุโลก 1 ราย
  • เพชรบูรณ์ 1 ราย
  • นนทบุรี 64 ราย
  • สระบุรี 5 ราย
  • ปทุมธานี 28 ราย
  • นครนายก 8 ราย
  • สมุทรสาคร 1 ราย
  • นครปฐม 1 ราย
  • ชลบุรี 1 ราย
  • จันทบุรี 1 ราย
  • ขอนแก่น 3 ราย
  • ร้อยเอ็ด 1 ราย
  • อุดรธานี 23 ราย
  • สกลนคร 7 ราย
  • เลย 4 ราย
  • หนองคาย 2 ราย
  • หนองบัวลำภู 4 ราย
  • ชัยภูมิ 3 ราย
  • บุรีรัมย์ 2 ราย
  • นครราชสีมา 2 ราย
  • อุบลราชธานี 3 ราย
  • กรุงเทพมหานคร 491 ราย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าว่า มีประสิทธิภาพในการกระจายเชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ถึง 1.4 เท่า จึงไม่แปลกที่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว