16 องค์กรชาวสวนตะวันออก เตรียมยื่นหนังสือ ประยุทธ์ แก้ปัญหาทุเรียน

ทุเรียน

16 องค์กรชาวสวนภาคตะวันออกเตรียมรวมพลยื่นหนังสือบิ๊กตู่ ร้อง 4 ข้อเร่งแก้ปัญหาทุเรียนปี 2566 หวั่นทุเรียนอ่อนสวมสิทธิใบอนุญาต GAP กระทบชื่อเสียงและคุณภาพทุเรียนไทย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ช่วงสัปดาห์หน้าตัวแทนกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายผู้ปลูกทุเรียน ชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออก (จันทบุรี ระยอง ตราด) จำนวน 16 องค์กร นำโดย นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา ตัวแทนกลุ่มชาวสวนทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน อดีตนายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย

นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี นายอำนาจ จันทรส นายกสมาคมชาวสวน จ.จันทบุรี นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานเครือข่ายสหกรณ์ จ.ตราด นายสุทัศน์ เวชโชติ รองประธานหอการค้า จ.ตราด ร่วมหารือกันว่าจะนัดรวมตัวยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้กำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนไทยที่จะส่งออกในปี 2566

นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา ตัวแทนกลุ่มชาวสวนทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน เปิดเผยว่า นอกจากการร้องขอให้รัฐบาลเร่งกำหนดมาตรการแล้ว จะขอให้ทบทวนการโยกย้ายนายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) ให้อยู่ต่อไปอีก 2 ปี

เนื่องจากมีความสามารถแก้ปัญหาสะสมที่ผ่านมาได้ โดยยกระดับธุรกิจผลไม้ให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร ทั้งสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 100,000 ล้านบาท ตามยุทธศาสตร์ชาติให้จันทบุรีเป็นเมืองมหานครผลไม้

ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มและองค์กรชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกได้ยื่นหนังสืออีกฉบับถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี โดยเสนอ 4 ข้อคือ 1) ขอให้จังหวัดจันทบุรีประสานไปยังผู้มีอำนาจระงับการย้าย ผอ.สวพ. 6 จันทบุรี เนื่องจากมีการควบคุมมาตรฐานทุเรียนส่งออกได้ดีและชัดเจน ช่วงปี 2564-2565 จึงต้องการให้ดำเนินการต่อเนื่อง

2) กำหนดคุณภาพ มาตรการ และมาตรฐานทุเรียนแก่-ทุเรียนอ่อนให้ชัดเจน ทั้งผู้ผลิต ผู้ตรวจสอบคุณภาพ ผู้ส่งออก เนื่องจากปริมาณผลผลิตปี 2566 จะเพิ่มขึ้น ทั้งมีคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านจะส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเวียดนาม จึงส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนไทยในตลาดโลก

3) ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเปิดเว็บไซต์หรือระบบตรวจสอบ เพื่อให้ชาวสวนตรวจสอบสิทธิใบ GAP ป้องกันการถูกนำไปสวมสิทธิ และสอบถามว่า ใบรับรอง GAP 80,000 ใบที่เปลี่ยนรหัสใหม่ที่ต้องใช้ส่งออกปี 2566 ผอ.สวพ. 6 คนใหม่สามารถจัดการได้ทันหรือไม่ จะเกิดปัญหาทุเรียนล้นตลาดในประเทศและราคาตกต่ำหรือไม่ หากเป็นช่องสวมสิทธิทุเรียนข้ามประเทศ

และ 4) การเตรียมการแก้ไขระบบการขนส่ง-การปิดด่าน เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา การส่งออกทุเรียนไม่คล่องตัว เนื่องจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดถึงขั้นปิดด่าน

“ทุเรียนภาคตะวันออกใน 4-5 เดือนข้างหน้า ผลผลิตจะออกสู่ตลาดแล้ว ตอนนี้เปรียบเสมือนกับการเผชิญกับศึกนอก คือคู่แข่งทุเรียนเพื่อนบ้าน และศึกในที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง 3 ฟันเฟืองหลักคือ การย้ายมือปราบทุเรียนอ่อนที่จะมีผลวันที่ 1 ธ.ค. 2565 รวมถึงผู้ว่าฯจันทบุรีคนใหม่ และตำแหน่งเกษตรจังหวัดจันทบุรีที่ยังว่างอยู่ รวมทั้งพาณิชย์จังหวัดที่โยกย้ายมาใหม่ด้วย”

“ทำให้เกษตรกรและชาวสวนภาคตะวันออกต่างตั้งคำถามว่า ในปีหน้าเราจะแก้ปัญหาสะสมในเรื่องตลาดทุเรียนส่งออกได้อย่างไร เพื่อให้มีคุณภาพและมาตรฐานจริง ๆ”