ชลธี นุ่มหนู ยื่นใบลาออก จากกระทรวงเกษตรฯ ถูกย้ายนอกฤดู มีผล 1 ธ.ค.นี้

“ชลธี นุ่มหนู” ยื่นใบลาออก มีผล 1 ธ.ค. นี้ พร้อมเตรียมจัดตั้ง “องค์กรเครือข่ายทุเรียนไทย” ทำงานคู่ทีมเล็บเหยี่ยว ปกป้องทุเรียนพืชเศรษฐกิจให้มั่นคง ไม่ให้ล่มสลายอย่างพืชอื่น ห่วงปี 2566 ต้องเผชิญกับผลผลิตทุเรียนมากกว่า 1 ล้านตัน

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งผ่านทางระบบอิเลคทรอนิกส์แจ้งฟ้าผ่าโยกย้ายนายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จ.จันทบุรี กรมวิชาการเกษตร ไปดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการกอง” (ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน วิชาการเกษตร กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร)

และมีการแต่งตั้ง นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน วิชาการเกษตร) กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตรมาแทนนายชลธี

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จ.จันทบุรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ตนได้ยื่นหนังสือลาออกต่ออธิบดีกรมวิชาการเกษตรกร และได้ทำบันทึกเสนออธิบดีกรมวิชาการเกษตร ขออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีก 30 วัน เพื่อสะสางงานและมอบหมายงานสำคัญรับผิดชอบ การลาออกจะมีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 พร้อมขอให้ทีมงานให้ความร่วมมือกับนายพิทวัฒน์ ผอ.สวพ. 6 คนใหม่ช่วยสานต่องาน และเตรียมจัดตั้ง “องค์กรเครือข่ายทุเรียนไทย” ทำงานคู่ทีมเล็บเหยี่ยว

นายชลธีกล่าวต่อไปว่า งานที่รับผิดชอบและต้องการสะสางให้เรียบร้อยในระยะเวลา 30 วัน คือ การจัดทำใบรับรอง GAP ให้เรียบร้อย รวมถึงการจัดงาน พืชสวนก้าวหน้า (Hortex 2022) ครั้งที่ 17 วันที่ 8-11 ธันวาคมนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไม่ได้ขัดขืนคำสั่งหรือเรียกร้องอยู่ตำแหน่งต่อ

“ทำให้องค์กรชาวสวน 16 องค์กร มารวมตัวกันเพื่อคัดค้านการย้าย ส่วนตัวไม่มีปัญหาเรื่องลาออก แต่มีปัญหาการย้าย ส่วนตัวรับราชการปีที่ 37 แล้วไม่ประสงค์จะก้าวหน้าและอยู่พื้นที่จันทบุรีจะสร้างประโยชน์ให้กรมวิชาการเกษตรได้มาก”

โดยเฉพาะสถานการณ์ทุเรียนอ่อน ทุเรียนสวมสิทธิที่ทำมา 2 ปีเริ่มเข้ารูปเข้ารอยแม้จะไม่หมดไป 100% แต่ลดลงมาก ทุเรียนมีคุณภาพราคาสูงเกิน กก.ละ 100 บาท และปี 2566 ต้องเผชิญกับผลผลิตมากกว่า 1 ล้านตันจากการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มปีละ 25% และมีภาวะกระจุกตัวเกิน 50% และมีเวียดนามเป็นคู่แข่งไทยไม่ได้ผูกขาดประเทศเดียว

“จากนี้จะผันตัวเองเป็นเกษตรกรแต่ยังช่วยเกษตรกรอยู่ โดยจะจัดตั้งองค์เครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย ทำงานร่วมกับภาคเกษตรกร โดยยกระดับอาสาสมัครที่เคยช่วยงานทีมเล็บเหยี่ยว กรมวิชาการเกษตร จะทำงานควบคู่กัน เพื่อให้ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่มั่นคงไม่ให้ล่มสลายอย่างพืชอื่นที่เป็นมาแล้ว เพราะปัญหาการขยายพื้นที่ปลูกและคู่แข่งจากเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมมือกัน” ผอ.ชลธี กล่าวทิ้งท้าย