ส่อง กฎหมายใหม่ เหล้า-เบียร์ รายย่อยโอกาสแจ้งเกิดริบหรี่ !

สุรา

วันนี้แม้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ. …หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จะถูกสภาตีตกไปเรียบร้อย แต่อีกด้านหนึ่ง กฎกระทรวง การผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ที่เพิ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อช่วงเย็นย่ำค่ำเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ผู้ประกอบการธุรกิจสุราและมิติทางการเมือง เฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า กฎหมายใหม่ดังกล่าวได้มีการปลดล็อกเพื่อเปิดโอกาสให้รายย่อยหรือชุมชนได้ผลิตสุราจริงหรือไม่

กม.ใหม่…สร้างกำแพงใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากพิจารณาเปรียบเทียบร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดย “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” (พรรคก้าวไกล) และคณะ เป็นผู้เสนอ กับกฎกระทรวงที่เพิ่งประกาศออกมา เมื่อดูอย่างผิวเผิน สาระสำคัญอาจจะมีความใกล้เคียงกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของการไม่มีทุนจดทะเบียนบังคับ และไม่มีกำลังการผลิตบังคับแล้ว

โดยร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เขียนคลุมไปถึงว่า ไม่ควรเอาเรื่องแรงม้า มากำหนดเป็นเงื่อนไข เพราะจะทำให้การประกอบอาชีพนี้ของรายย่อยมีความยากลำบาก

ส่วนกฎกระทรวง กฎหมายใหม่ แม้ไม่มีข้อกำหนดเรื่องทุนจดทะเบียน หรือกำลังการผลิต แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า ผู้ที่จะผลิตสุราที่มิใช่การค้า (มาตรา 7) จะต้องมีการยื่นคำขอใบรับอนุญาต เช่นเดียวกับผู้ผลิตสุราเพื่อการค้า (มาตรา 13) ที่จะต้องยื่นคำขอใบอนุญาตและเอกสารตามที่กำหนดต่ออธิบดี

ต่างจาก พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ระบุเพียงแค่การจดแจ้ง

ที่สำคัญคือ หากเป็นกรณีโรงงานสุรา จะต้องเป็นโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม (ข้อ 16 และข้อ 17)

“อาธีระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์” กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายคราฟต์เบียร์ อาทิ ไลเกอร์ และอัลเลมองท์ ในฐานะนายกสมาคมคราฟท์เบียร์ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า

“…นี่คือ กำแพง ที่กฎหมายใหม่สร้างขึ้น อย่างที่ทราบกันดีว่า การขออนุญาตกรมโรงงานฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะมีระเบียบ ปฏิบัติ รายละเอียดเกี่ยวข้อง ตั้งแต่พื้นที่สีต่าง ๆ ข้อห้าม การกำจัดของเสีย ระยะห่างจากสถานที่บังคับ ระเบียบการบริหารโรงงาน ฯลฯ”

“…ที่ผ่านมา โรงงานสุรา ถือเป็นโรงงานสุราประเภท 4 ได้รับการยกเว้นจากกรมโรงงานฯที่ไม่ต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานฯ ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพสามิตเลย จึงเป็นสาเหตุที่ที่ผ่านมากรมโรงงานฯไม่เคยเข้ามายุ่งกับโรงเหล้า โรงเบียร์ เพราะมีข้อนี้เขียนยกเว้นไว้ ประกาศใหม่ดังกล่าว

เท่ากับว่า กรมสรรพสามิต โยนธงกลับไปที่กรมโรงงานฯ ซึ่งก็จะต้องเป็นหน้าที่ของกรมโรงงานฯที่จะต้องไปออกประกาศ ระเบียบปฏิบัติของโรงเหล้าโรงเบียร์ออกมาอีก ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าภายใต้กฎกระทรวงว่าจะสามารถออกใบอนุญาตได้ง่ายขึ้นหรือยากกว่าเดิม”

โอกาสแจ้งเกิดยาก-หวั่นทุนนอกบุก

นอกจากนี้ นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ แสดงความเห็นถึงผลกระทบและความห่วงกังวลจากประกาศกฎกระทรวงฉบับนี้ว่า “…จริง ๆ แล้ว กฎกระทรวงที่ประกาศออกมา ไม่กระทบรายใหญ่เลย ที่กระทบ คือ ผู้ประกอบการรายใหม่ หน้าใหม่ ที่อยากจะเข้ามาในธุรกิจนี้”

“ที่น่าจะได้รับผลมากที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มสุราแช่ผลไม้ ซึ่งจริง ๆ โรงงานพวกนี้เหมาะกับประเทศไทยมาก เพราะบ้านเรามีผลไม้ที่ออกมาตามฤดูกาลต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ คือ สุราแช่ผลไม้ เป็นทางเลือกของเกษตรกรที่อยากจะแปรรูปผลไม้ให้เป็นเครื่องดื่มหรือสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม

ก่อนที่จะมีกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมา สุราแช่ผลไม้ ทั้งสุราแช่ชุมชน สุราแช่ผลไม้ของโรงงาน ไม่ได้มีอะไรมาบล็อกเลย แต่พอกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมา การจะทำสุราแช่ผลไม้ได้ จะต้องทำไซซ์เล็กก่อน คือ 5 แรงม้า เป็นเวลา 1 ปี และใน 1 ปี ห้ามทำผิดกฎหมายสุรา จากนั้นถึงจะสามารถขยายเป็น 50 แรงม้าได้” (ข้อ 3 และข้อ 14 (2) และ (3))

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การปลดล็อกเรื่องทุนจดทะเบียน (ข้อ 14 (1)) มุมหนึ่งแม้อาจจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้ามาในธุรกิจได้ง่ายขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งมันอาจจะเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนต่างประเทศด้วย

ต่อไปอาจจะเกิดภาพของทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาตั้งบริษัทในประเทศไทยโดยใช้นอมินีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% อย่าลืมว่า ต่างประเทศเขามีความพร้อมทั้งเรื่องเงินทุน โนว์ฮาว โดยเฉพาะเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต่างประเทศเขามีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่าบ้านเรามาก

นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ ย้ำในตอนท้ายว่า โดยส่วนตัวมองว่า คนไทยจะได้ประโยชน์จากกฎหมายใหม่ฉบับนี้น้อย เพราะประสบการณ์การสั่งสมความรู้ (learning curve) ในอุตสาหกรรมเหล้าเบียร์ของไทยยังต่ำ

ตอนนี้คนไทยยังต้องพึ่งพายูทูบ พึ่งพาโนว์ฮาวจากต่างประเทศมาก ยิ่งทุกวันนี้ วัตถุดิบต่าง ๆ มอลต์ ฮอปส์ เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ยิ่งตอนนี้ซัพพลายมีน้อย ของขาด ราคาสูง อัตราแลกเปลี่ยนอีก ยิ่งผลิตน้อยก็ยิ่งสู้รายใหญ่ไม่ได้

“กฎหมายใหม่นี้อาจจะช่วยให้รายย่อยที่อยากจะเกิดได้มีสิทธิ์เกิด แต่ด้วยเงื่อนไขที่กฎหมายใหม่กำหนดขึ้นก็คงไม่สามารถเกิดได้ง่าย ๆ ถามว่าจะเกิดทันต่างประเทศ เกิดทันฝรั่งมั้ย ผมคิดว่าไม่น่าจะทันฝรั่ง”