“กฤษฎา อุตตโมทย์” สถานีชาร์จ EV ต้องเหมือนตู้ ATM

กฤษฎา อุตตโมทย์
กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT
สัมภาษณ์

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ “กฤษฎา อุตตโมทย์” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT ถึงแนวโน้มและทิศทางการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

หลังจากที่เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ครม.มีมติให้การสนับสนุนและส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ภายใต้โจทย์หลักในการเข้ามาทำงานที่สมาคม คืออย่างที่เห็น “มลพิษทางอากาศ” ลดลงไม่ต้องพะวงกับ PM 2.5 เครื่องยนต์ในรถยนต์เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น จะเป็นอย่างไรไปติดตามกัน

Q : รัฐบาลผลักดันเต็มที่ ปีนี้รถอีวีจะโตแค่ไหน

ถ้าดูจากปีที่แล้วมียอดจดทะเบียน 5,000 กว่าคัน รถยนต์เกือบ 2,000 คัน มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากว่า 3,000 คัน

และตามแผนผลักดันของรัฐบาลปี 2025 จะมีรถ ZEV ที่ 30% หรือ 225,000 คัน ซึ่งเป็นรถยนต์นั่ง+ปิกอัพ โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง “ยาก” แต่ก็พยายามผลักดัน

รถอีวีถล่มราคามอเตอร์โชว์ อัดสินเชื่อ 0% ค่ายจีนชิงแชร์รถใช้น้ำมัน

ค่ายรถ ยกทัพ “EV” อวดโฉมในงานมอเตอร์โชว์กว่า 20 รุ่น

ในช่วง 3 ปีนี้น่าจะเห็นการ “เร่งใช้” รถยนต์ไฟฟ้าจากหน่วยงานต่าง ๆ ของทางภาครัฐ, ระบบการขนส่ง ซึ่งผมยังพูดไม่เต็มปากว่าจะขยับจากหลัก 1,900 คัน ไปเป็นหลัก 10,000 คันภายในปีนี้ได้ไหม ต้องดูค่ายรถยนต์ว่าจะผลิตเพื่อรองรับความต้องการได้แค่ไหน

Q : ราคาอีวีจะถูกลงอีกมั้ย

แน่นอน จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 ราคารถอีวีที่มีจำหน่ายในบ้านเรามีทั้งราคา 6-7 ล้านขึ้นไป และมีระดับต่ำกว่า 1 ล้านบาท ลงมา ORA Good Car ราคา 9 แสนกว่าบาท ถ้าคำนวณง่าย ๆ รถนำเข้าจากจีนภาษีเป็น 0% แต่ภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% บวกเงินสนับสนุน 150,000 บาท สำหรับรถที่มีแบตฯ 30 kWh รถคันนี้เหลือ 7 แสนกว่าบาท

รุ่นอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กลงมากว่านี้ มองตามเซ็กเมนต์ของราคาแล้ว มีโอกาสได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าราคา 5-6 แสนบาทมากขึ้น

Q : กังวลเรื่องสถานีชาร์จจะไม่สอดรับกับปริมาณรถแค่ไหน

ตั้งแต่งานมอเตอร์โชว์ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23 มี.ค.-3 เม.ย.นี้ เชื่อว่าจะมีค่ายรถเปิดตัวรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง แต่ยังต้องดูว่าการเติบโตของ BEV จะมีผลต่อเนื่อง มีความต้องการเพิ่มเติมขึ้น บวกกับการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน และพัฒนาระบบอินฟราสตรักเจอร์ให้สามารถรองรับได้เร็วแค่ไหนจากการสำรวจเมื่อ ส.ค. 2564 พบว่ามี 2,200 หัวจ่ายทั่วประเทศ 660 โลเกชั่น แบ่งเป็น DC quick charge 700 กว่าหัวจ่าย หรือ 300 กว่าตู้ทั่วประเทศ

ซึ่ง DC quick charge จะมีผลการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากเนื่องจากมีสปีดที่เร็วกว่า ตู้ชาร์จทั่วไปใช้เวลาทีละหลายชั่วโมง ตามแผนของคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2025 จะมี DC quick charge 4,400 สถานี

ปี 2030 จะมีระดับ “หนึ่งหมื่น” กว่าตู้ การพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการผลิตทั้งสองอย่างต้องไปด้วยกันทั้งรถยนต์และตู้ชาร์จ เพราะสถานีชาร์จไฟฟ้าถือเป็นตัวสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างดี และเสริม “เป้าหมาย” ของทางภาครัฐมากขึ้น

Q : แก้ปัญหาการชาร์จแบตเตอรี่ที่ยุ่งยากอย่างไร

วันนี้ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่สมาคมเราก็พยายามผลักดันตรงนี้อยู่ เราทำ MOU เกี่ยวกับ charging consortium มา 2 ปีแล้ว พยายามหารือระหว่างผู้ให้บริการทั้งหมด ทั้ง EA, การไฟฟ้าฯทั้ง 3 และ OR หรืออรุณ พลัส และหน่วยงานต่าง ๆ

โดยสิ่งที่ทำกันอยู่คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการด้วยกัน เราพยายามทำให้ตู้แต่ละตู้คุยกันรู้เรื่อง เหมือนการใช้บัตร “ATM” บัตรเดียวใช้ได้ทุกตู้ ขั้นแรกต้องทำให้ตู้ชาร์จไฟคุยกันรู้เรื่องก่อน และทำระบบการชำระเงินให้สามารถรองรับทุกเครือข่ายคล้าย ๆ “EV roaming” เราหวังว่าอนาคตจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถยนต์อีวี

Q : อยากเห็นรัฐควรสนับสนุนอะไรเพิ่มเติม

นอกจากการสนับสนุน ผู้จำหน่ายและผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว สิ่งที่สมาคมต้องการอยากให้สนับสนุนผู้ใช้ ถ้าเราสนับสนุนเรื่อง “การลงทุนของผู้ประกอบการ” เนื่องจากวันนี้การลงทุนสถานีชาร์จยังเป็นต้นทุนที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้าใช้บริการ ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนไว้อย่างตู้ DC quick charge ลงทุนตู้ละเกือบ “ล้าน” บาท เทียบกับ อัตราการชาร์จไฟที่เรต 7-8 บาทต่อกิโลวัตต์

เข้าใจว่า “ราคา” นี้อาจจะยังไม่คืนทุนเพราะจำนวนรถที่มาชาร์จยังมีน้อยลง ทุนสูงจะให้สถานีชาร์จเติบโตได้รัฐต้องมีการสนับสนุนในเรื่องของการลงทุน


และทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในฐานะฟันเฟืองเล็ก ๆ จากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ยุคของ กฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ต้องการให้รถยนต์ไฟฟ้ามารองรับการใช้ชีวิตได้ อยากจะเห็นกรุงเทพฯเป็น “สีเขียว”