ศิริกัญญา ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด กสทช. มาตรา 157 ปมควบรวม ทรู – ดีแทค

ศิริกัญญา บุก สำนักงาน ป.ป.ช. เอาผิด กสทช. ปมควบรวม ทรู-ดีแทค พบปมผลประโยชน์ทับซ้อน-การลงมติผิดกฎหมาย

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปล่อยให้มีการควบรวมทรู-ดีแทค ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ได้ศึกษาราคาค่าบริการหลังควบรวม พบว่าราคาค่าบริการจะสูงขึ้นและศักยภาพการให้บริการจะด้อยลง แตกต่างจากในตลาดมือถือที่มีการแข่งขันของรายใหญ่ 3 เจ้า แต่ กสทช.ไม่ทำหน้าที่ของตนให้เหมาะสมในการยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ในการลงมติของกสทช. ที่เป็นมติพิเศษ มีหลักเกณฑ์ว่าจะต้องได้เสียงกึ่งหนึ่งในการลงมติ และคณะกรรมการในครั้งนี้มีทั้งหมด 5 คน จึงจะต้องลงเสียงให้ได้คะแนน 3:2 แต่มติในครั้งนี้คือ 2:2:1 งดออกเสียงหนึ่งเสียง หากว่ากันตามข้อบังคับการประชุมจะต้องได้ทั้งหมด 3 เสียงขึ้นไป ดังนั้น กสทช.กำลังทำผิดกฎหมายที่ตนเองร่างขึ้นมา

ประเด็นถัดมา คือเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การถือหุ้นโยงไปมา มีการตรวจสอบพบผลประโยชน์ทับซ้อนก็คือ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช.รับผลประโยชน์ต่าง ๆ จากกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท True ไม่ว่าจะเป็นกรรมการรถไฟฟ้าความเร็วสูงสามสนามบิน และรับผลประโยชน์อื่น ๆ ในฐานะนายกสมาคมคนตาบอด หากว่ากันด้วยเรื่องคุณสมบัติ นายต่อพงศ์ไม่มีคุณสมบัติที่จะลงคะแนนเสียงด้วยซ้ำ แต่กลับลงมติรับทราบกิจการควบรวม

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการอีกท่านอย่าง พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ก็ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายประสพสุข บุญเดช ซึ่งเป็นกรรมการอิสระของกลุ่มซีพี ชัดเจนว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

ทั้งนี้ การลงมติควบรวมทรู-ดีแทค ของ กสทช.เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ตนเองได้รับมอบอำนาจ และผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการ ในหนังสือที่ยื่นแก่ ป.ป.ช. มีการขอไต่สวน นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. และ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ หลังจากนี้จะมีการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอคำสั่งระงับฉุกเฉิน เพื่อระงับการควบรวม เพราะถ้าหากปล่อย ให้กระบวนการเดินไปข้างหน้าจะมีผลเสียมากกว่านี้ จะแก้ไขก็ไม่ทัน