ประยุทธ์ส่งซิก แบงก์ชาติคงดอกเบี้ย-เลื่อนเก็บค่าเหยียบแผ่นดินไม่มีกำหนด

ประยุทธ์ส่งสัญญาณ ธปท. คงดอกเบี้ยนโยบาย-เลื่อนเก็บค่าเหยียบแผ่นดินไม่มีกำหนด กระตุ้นท่องเที่ยว โชว์ตัวเลข 8 ปี ลงทุนมากสุด-ชำระหนี้สูงสุด ลั่นไม่ซ้ำรอยศรีลังกา 250 วันพาประเทศออกจากวิกฤต

วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ที่รัฐสภา มีการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 เป็นวันที่สาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมลุกขึ้นชี้แจงผู้อภิปรายจากพรรคฝ่ายค้านว่า สิ่งที่ตนฟังตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เรื่องแรกคือ คำว่าเศรษฐกิจพังพินาศ ล้มเหลวระดับประเทศ ไม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีได้ อยู่รั้งท้ายในภูมิภาค กรุณาฟังจากตนบ้าง

ลั่นไม่ซ้ำรอยศรีลังกา-จีดีพีปีนี้ 3.3%

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นไม่ได้ป่วยรั้งท้ายของภูมิภาค ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ในปี 2564 จีดีพีโต 1.6 % จากก่อนหน้าที่ติดลบ ปี 2565-ปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น 3.3% หรือ 2.5-3.5% และ 4.3 ตามลำดับ คาดการณ์โดนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สอดคล้องกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

ขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน เป็นการบริหารเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างสมดุล ประเทศไทยนั้น ผมยืนยันว่า ไม่เกิดเหตุการณ์อย่างศรีลังกาแน่นอน เงินสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ สามารถรองรับการผันผวนการเงินโลก สร้างความมั่นใจนักลงทุน นักวิเคราะห์วิเคราะห์ว่าเงินเฟ้อของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง

วางพิมพ์เขียวชำระหนี้เงินกู้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตัวเลขการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศในประเทศ (FDI) ไตรมาส 1/2565 มูลค่ารวม 288,019 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.8% จากปี 2564 ขยายตัว 1.6% เทียกับไตรมาสก่อนหน้า ตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดีขึ้น 2 ไตรมาสแรก ปี 2565 ขอรับการส่งเสริมแล้ว 2.19 แสนล้านบาท 784 โครงการ และคงจะมีอีกอยู่ระหว่างติดต่อและเจรจา เนื่องจากหลายประเทศมีปัญหาในเรื่องของสงคราม ความมั่นคง หลายประเทศจึงพร้อมที่จะย้ายไปอยู่ประเทศที่เหมาะสม ปลอดภัยและมีเสถียรภาพ ซึ่งประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลัก

“นักลงทุนย้ายฐานการผลิตเป็นเรื่องธรรมชาติ เราต้องดูว่ากติกาของเราเป็นอย่างไร ของต่างประเทศเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของนักลงทุนที่จะเลือก เราต้องเตรียมความพร้อมของเราให้มากที่สุด ในสิ่งที่เราให้ได้ ทำได้ ไม่ใช่ให้จนมากเกินไป ไม่ได้ ตนให้มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว   

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แม้กระทั่งจีนและสหรัฐ รวมถึงกลุ่มประเทศยุโรป (EU) แม้หลายอย่างยังมีปัญหาเรื่องเขตการค้าเสรีอยู่บ้าง (FTA) ซึ่งตนเสนอให้ลดรายการลง รายการใดที่จะควรจะทำในช่วงนี้

การกำหนดทิศทาง การให้เงินทุนสนับโครงการอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ การย้ายอุตสาหกรรมมายังประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำ วันนี้เน้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ มีหลายบริษัทตกลงใจที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว

“ผมกำลังจะชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าเราจะมีความยากลำบากในวันนี้ก็ตาม เราจะมีหนี้สิน แต่ผมก็ต้องเตรียมการว่าเราจะอยู่อย่างไรต่อไปในอนาคต ผมทำพวกนี้รอรับไว้แล้ว ก็น่าจะได้ผลตอบแทนมาในระยะเวลาต่อไป เพื่อชดเชยในส่วนที่เราขาดเหลือ ในส่วนที่เราต้องกู้เขามา ท่านอาจจะบอกว่า ผมกู้ ๆ ๆ ๆ แต่ผมได้เตรียมการไว้แล้วว่าผมจะชำระหนี้ได้อย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เล็งเพิ่มเที่ยวบิน-เลื่อนเก็บค่าเหยียบแผ่นดินไม่มีกำหนด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ผู้อภิปรายย้ำว่า ในปี 2563 ไทยขาดรายได้จากภาคการท่องเที่ยวมหาศาล ต้องขาดแน่นอนครับจากเดิมมีนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน ตอนนี้พยายามเร่งให้นักท่องเที่ยวเข้ามา 7-10 ล้านคนในปีนี้ อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของรายได้ประเทศ หากทุกคนช่วยกันทำบ้านเมืองให้สงบ บ้านเมืองน่าเที่ยวและปลอดภัย นอกจากนี้เราต้องเตรียมแก้ปัญหาเที่ยวบินเพียงพอหรือไม่ เช่น บริษัท การบินไทย

“หลายฝ่ายเรียกร้องให้ล็อกดาวน์ ผมอยากล็อกดาวร์ซะเมื่อไหร่ ผมพยายามผ่อนคลายทุกอย่าง เอาปัญหามาแก้ ไม่ใช่ทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน ผมไม่ใช่คนแบบนั้น ถ้าไม่เริ่มต้นก่อน ผมก็จะไม่พูดถึงอะไรทั้งสิ้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินไม่ใช่ข้อเท็จจริงเลย ๆ ยังไม่มีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ค่าเหยียบแผ่นดินเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด เราจะจัดเก็บไว้ทำไม แม้กระทั่งค่าวีซ่า มันทำให้การท่องเที่ยวลดลงหรือไม่ ประเมินก่อน และค่าที่เก็บมาเอาไปทำอะไร อย่างไรก็ดี ผมได้ให้แนวนโยบายไปแล้วคือเราจะหาทางตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้อย่างไรในอนาคต อยู่ระหว่างการหารือ  

“ช่วงนี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะรวยกันได้ เป็นช่วงเวลาที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่รอด ปลอดภัยจากโควิด-19 นำไปสู่ความพอเพียงและยั่งยืน คำว่ายั่งยืนก็ไม่ได้หมายความว่า จะรวยด้วยกันทั้งหมด คำว่ายั่งยืน คือ ทุกคนมีรายได้เพียงพอกับเทคโนโลยีที่เจริญขึ้นในวันนี้ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในวันนี้

ผมไม่ได้บอกว่า จะแก้จากจนเป็นรวย ทำไม่ได้หรอกครับ อย่างน้อยต้องเริ่มให้เขาอยู่รอด หาตัวให้เจอ ขาดเหลืออะไร ดูอาชีพว่าจะปรับแก้อะไรอย่างไร ช่วยเหลือกันได้หรือไม่” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ส่งสัญญาณแบงก์ชาติคงดอกเบี้ย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง ของแพง น้ำมันแพง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก วิกฤตเศรษฐกิจที่เราเห็นกันทุกวันนี้ เกิดจากโควิด สงคราม และผลพวงของนโยบายการเงิน-การคลัง ที่ประเทศใหญ่ ๆ ใช้ในการแก้ปัญหาโควิด รวมถึงนโยบาย Zero COVID policy ของบางประเทศ ที่ก่อให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

“ราคาน้ำมันดิบในช่วงวิกฤตโควิดเกิดความผันผวนมาก ราคาเคยลงต่ำมากในปี 2563 ในช่วงที่ไม่มีการเดินทาง ปิดประเทศ ปิดเมือง แต่หลังจากเริ่มเปิดประเทศและเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้น ราคาน้ำมันก็กลับมาทะลุ 100 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรลสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563 เปรียบเหมือนแผ่นดินไหวใหญ่ ที่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ พัดเอาความเสียหายเข้ามายังโลกเรา ส่งผลกระทบทั่วโลก แม้แผ่นดินไหวเริ่มสงบลงบ้างแล้ว แต่ยังคงมี After Shock ที่คลื่นยักษ์โควิดได้ฝากความเสียหายไว้กับเศรษฐกิจ และสังคมทั่วโลกอย่างมหาศาล” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิด ประเทศตะวันตกหลายประเทศ รวมถึงประเทศมหาอำนาจเลือกที่จะใช้นโยบายเศรษฐกิจนำหน้านโยบายด้านสาธารณสุข ส่งผลให้จำนวนคนตายต่อประชากรเยอะกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ทั้ง ๆ ที่บางประเทศเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีน เศรษฐกิจในประเทศดังกล่าว จึงมีการเปลี่ยนแปลงผันผวนมาก มีภาวะเงินเฟ้อสูง หนี้สาธารณะสูง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเสียหาย วันนี้จึงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นมหาศาล และหลายประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อมากดให้ภาวะเงินเฟ้อให้บรรเทาลง

“เราเองธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลตรงเรื่องนี้อยู่ มันควรหรือไม่ควร ไอ้ (ดอกเบี้ย) ลงคงยาก มันจะต้องขึ้นหรือเปล่า ขึ้นเมื่อไหร่ แล้วเกิดผลกระทบกับอะไร ผมก็พอรู้อยู่เหมือนกันในเรื่องเหล่านี้ ก็ทำงานมาหลายปีแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว  

3 ปี อุ้มพลังงาน 2.08 แสนล้าน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ดังกล่าวก็ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 และมีแนวโน้มยืดเยื้อหลังสถานการณ์ลุกลามสู่ความขัดแย้งระดับกลุ่มมหาอำนาจ ที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว จนเกิดการขาดแคลนสินค้า และกระทบห่วงโซ่การผลิตพลังงาน

นับว่าเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ที่เข้ามาในช่วงที่สถานการณ์โควิดที่ยังมีอยู่ ความขัดแย้งระหว่างประเทศดังกล่าว ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยน ตอนนี้เงินบาทอ่อนค่าลงจากการที่สหรัฐ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ราคาน้ำมันนำเข้าเมื่อแปลงเป็นเงินบาทแล้วสูงขึ้นอีก ส่งผลให้ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน ปุ๋ย อาหาร และโลหะ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ให้ความสำคัญ กับการเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและการรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศเอาไว้ จึงได้เข้ามาดูแลเพื่อลดภาระค่าครองชีพและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ลดผลกระทบ จากอัตราเงินเฟ้อและให้ประชาชนได้มีเวลาปรับตัว ด้วยมาตรการต่าง ๆ

โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า การตรึงราคาก๊าซ NGV และการรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งหลักต่อการผลิตสินค้าและบริการ ไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร โดยการใช้กองทุนน้ำมันฯและการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล  โดยรวมแล้ว มาตรการพลังงานที่ภาครัฐช่วยเหลือประชาชน ตั้งแต่ในปี 2563 ถึงมิถุนายน 2565 ใช้เงินไปประมาณ 208,146 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าตรวจสอบราคาขายและหัวจ่ายน้ำมันของสถานีบริการน้ำมันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ชะลอการส่งผ่านต้นทุน หรือตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

รวมทั้งจัดให้มีการขายสินค้าราคาถูกผ่านร้านธงฟ้าต่าง ๆ ตลอดจนได้เสริมสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ และแรงงานในระบบประกันสังคม ด้วยการลดเงินสมทบประกันสังคม ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565

โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท และได้ต่อมาตรการดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง จนถึงเดือนกันยายน 2565 รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาระดับเงินเฟ้อให้กระทบประชาชนให้น้อยที่สุด โดยดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

250 วัน พาประเทศออกจากวิกฤต

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบทั้งหมดของรัฐบาลนี้ ล้วนแต่เผชิญกับภาวะวิกฤตโลกอย่างต่อเนื่องซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลใดที่เจอแบบนี้มาก่อน แต่รัฐบาลก็ทำงานอย่างเต็มที่มาโดยตลอด และสามารถประคับประคองประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ มาได้ตามลำดับ และแม้ปัจจุบันไทยจะเผชิญหน้ากับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะสูงที่สุด ในรอบ 13 ปี แต่ยังรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่าปี 2564

และยังคงรักษาอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของประเทศไว้ได้ในระดับที่ดีเหมือนก่อนเจอวิกฤต วิกฤตเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะแย่ลงในปีนี้ และปีหน้าหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ๆ กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ recession ในขณะที่เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง ถึงสูงมาก รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกต้องใช้นโยบายเศรษฐกิจตึงตัว รวมถึงการดึงเงินกลับเข้าประเทศ (Quantitative Tightening) และออกมาตรการต่าง ๆ ขึ้นดอกเบี้ย ขึ้นภาษี เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น

“ประเทศส่วนใหญ่ที่มีการกู้เงินปริมาณมากในช่วงวิกฤตโควิด และกำลังเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะทำให้รัฐบาลมีเงินเหลือใช้จ่ายประจำ และลงทุนน้อยลง ก็จะเป็นสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ผมและรัฐบาลตระหนักดีว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก

รวมถึงพลังงานและอาหาร จะยังไม่ดีขึ้นในเร็ววัน และยังอยู่กับเราอีกยาวไกล อาจเป็นปี สองปี โดยจะมีผลกระทบกับไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงต้องเตรียมตัวรับมือวิกฤติพลังงาน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในระยะต่อไป โดยจัดทำแผนความมั่นคงทางพลังงาน โดยให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น แก่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางรวมถึงให้กระทรวงการต่างประเทศ ใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ ในภูมิภาคอาเซียนเป็นกลไกรับมือต่อปัญหาวิกฤตพลังงานร่วมกัน

“ในเวลาที่เหลือกว่า 250 วันของรัฐบาล ผมและรัฐบาลจะทำทุกวิถีทาง เพื่อจะนำพาประเทศ และประชาชน ให้ออกจากวิกฤตที่หนักและยาวนาน ลดความเสียหายให้น้อยที่สุด และเตรียมตัวประเทศและประชาชนให้พร้อมกับการฟื้นตัวที่ยั่งยืน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว  

8 ปีลงทุนมากที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปัญหาหนี้สาธารณะ ข้อกล่าวหาว่า 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลนี้กู้เงินมากที่สุดในประวัติการณ์ ผมก็จะขอกล่าวต่อเพื่อขยายความว่า การกู้เงิน ในช่วงปี 2557-2565 นั้น ไม่ได้คุย ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ภาครัฐมีการลงทุนมากที่สุดเช่นกัน

โดยได้มีการลงทุนไปถึง 179 โครงการ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.66 ล้านล้านบาท เป็นเงินกู้ 2.07 ล้านล้านบาท และงบประมาณที่ลงทุนไปนั้น คือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทั้งด้านคมนาคม ประปา ที่อยู่อาศัย พลังงาน ที่ดำเนินการแล้วเสร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว รวมทั้งสิ้น 75 โครงการ และที่อยู่ระหว่างดำเนินการ มีจำนวน 104 โครงการ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า โครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ตัวอย่างเช่น 1.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-ชุมพร วงเงิน 44,998 ล้านบาท (คืบหน้า 92.81% พร้อมเปิดให้บริการบางช่วง ปลายปี 2565) 2.รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน วงเงิน 179,412 ล้านบาท (คาดว่าจะเปิดใช้บริการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ได้ภายในปี 2569)

3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 92,532 ล้านบาท (คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการสำหรับประชาชนได้ในปี 2566) 4.โครงการบ้านเอื้ออาทร ระยะที่ 5 วงเงิน 50,946 ล้านบาท 5.โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะที่สอง องค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี วงเงิน 5,608 ล้านบาท (คาดว่าจะพร้อมผลิตได้ปี 2565)

8 ปี ชำระหนี้สูงสุด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจาก 8 ปีที่กู้เงินมาลงทุนภาครัฐได้มากที่สุดแล้ว ยังเป็น 8 ปีที่มีการชำระหนี้ในอดีตสูงที่สุดด้วย นับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ภาครัฐมีผลการชำระหนี้สาธารณะไปแล้วรวมจำนวนกว่า 2.6 ล้านล้านบาท (รวมต้นเงินกู้และดอกเบี้ย) ซึ่งถือว่าเป็นยอดชำระหนี้สูงสุดเมื่อเทียบกับรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา และในจำนวนนี้ก็รวมถึงหนี้ที่เกิดจากความเสียหายในบางของรัฐบาลก่อนหน้าปี 2557 ด้วย ตนไม่ได้ไปว่าใคร

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่เป็นห่วงว่ารัฐบาลจะนำเงินที่ไหนมาชำระหนี้นั้น รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลยังคงมีศักยภาพในการชำระหนี้ ไม่ต้องกังวล เพราะเรายังไม่เคยผิดนัดชำระหนี้แม้แต่ครั้งเดียว (ในขณะที่บางประเทศที่ระบบเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าประเทศไทยเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้แล้ว) สถานะด้านการคลังของเรายังคงมีความแข็งแกร่งอยู่

จะเห็นได้จากการที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับนานาชาติ (International Credit Rating Agency) ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก เช่น Fitch และ S&P ยังไม่เคยปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือไทยลงเลยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤติการณ์โควิด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ประเทศไทยยังรักษาระดับหนี้สาธารณะในจุดที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก อย่างไรก็ดีได้เตรียมแผนการใช้หนี้ไว้แล้ว ตนยอมรับว่ายังไม่สามารถทำให้ทุกคนเข้มแข็งเพียงพอได้มากนัก ต้องทำต่อไป ใครจะทำก็แล้วแต่ ตนไม่นิ่งนอนใจ ใครจะหาว่าตนผูกขาด ตนหวังว่าใครจะทำต่อไปก็ทำต่อไป หลายอย่างดี ๆ ตนก็ทำต่อ


“อัตราการตายต่อการติดเชื้อโควิด-19 ของไทย สะสมตลอด 2 ปีกว่า อยู่ในระดับที่ต่ำมาก อยู่ในอันดับที่ 127 ของโลก เป็นอันดับที่ 6 ของอาเซียน ถ้าเรามองว่า ประเทศไทย แย่ ๆๆๆๆๆ อะไรก็แย่ จิตใจมันก็แย่ ผมก็ห่อเหี่ยว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว