สกาลา โรงหนังคู่ศิลปะออกแบบอาคาร ฝีมือสถาปนิกยุคสงครามโลก

สกาลา
Photo : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ตำนาน “โรงภาพยนตร์สกาลา” เป็นมากกว่าสถานที่ฉายหนัง ที่ไม่เพียงดึงดูดกลุ่มคนรักการดูภาพยนตร์ แต่ยังสามารถขยายไปตลาดของกลุ่มคนรักการเสพความงามของสถาปัตยกรรม

คงจะเป็นสถานที่แห่งความทรงจำของใครหลายคนไปตลอดกาลอย่าง “โรงภาพยนตร์สกาลา” ที่กำลังถูกรื้อถอนและทุบอาคารทิ้ง

นอกจากจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของกลุ่มคนรักภาพยนตร์แล้ว เชื่อว่า กลุ่มคนรักศิลปะ สถาปัตยกรรม คงรู้สึกเสียดายอยู่ไม่น้อย ด้วยตัวอาคารที่ถูกออกแบบให้มีความงดงามและโดดเด่น เหมาะสมกับที่เป็นโรงภาพยนตร์สแตนอโลน

“ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนอ่านประวัติความเป็นมา โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมที่สามารถสร้างความประทับใจ และทำให้เป็นที่น่าจดจำของแฟนโรงภาพยนตร์สกาลามากว่า 50 ปี

โรงหนังสกาลา ลูกผสมสถาปัตย์ตะวันออก-ตะวันตก

โรงหนังสกาลา ถูกออกแบบโดยพันเอกจิระ ศิลป์กนก สถาปนิกที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อโรงภาพยนตร์ตั้งชื่อตามโรงอุปรากร Teatro alla Scala แห่งเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยคำว่า Scala มีความหมายว่า บันได ในภาษาอิตาลี

โรงหนังแห่งนี้ ออกแบบในศิลปะอาร์ตเดโค ภายในมีเสาคอนกรีตโค้ง การผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก และโคมฟ้าระย้าทรงหยดนํ้าค้างแข็ง 5 ชั้น ที่สั่งตรงจากอิตาลี

บริเวณหน้าทางเข้าโรงหนังมีปูนปั้นลอยตัวที่แสดงถึงความบันเทิงของเอเชีย ซึ่งมีทั้งบาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไทย รวมอยู่บนผนัง

กระทั่งในปี 2555 สกาลาได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

โรงหนังสุดท้ายเครือเอเพ็กซ์ ที่ปิดตัว

โรงภาพยนตร์สกาลา ถือเป็นโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ (กลุ่มโรงภาพยนตร์) ซึ่งเกือบทั้งหมดมีที่ตั้งอยู่ในย่านสยามสแควร์ ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย โรงภาพยนตร์สยาม โรงภาพยนตร์ลิโด และโรงภาพยนตร์สกาลา

จดทะเบียนธุรกิจในนาม “สยามมหรสพ” มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2511 ขณะที่ข้อมูลจากบางสำนักระบุว่าบริษัท เอเพกซ์ภาพยนตร์ จำกัด เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ทั้งลิโดและสกาล

โดยบริษัทดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2523 มีทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาท จากจุดตั้งต้น 1 ล้านบาท มีเจ้าของประกอบไปด้วย กัมพล ตันสัจจา, นันทา ตันสัจจา และวิวัฒน์ ตันสัจจา ซึ่งเป็นผู้บริหารสวนนงนุช

โรงภาพยนตร์สกาลาเป็นโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์แห่งสุดท้ายที่ปิดตัวลง (5 ก.ค. 2563) เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 และต้นทุนที่สูงขึ้น

แม้ว่าสัญญาเช่าพื้นที่จะสิ้นสุดในปี พ.ศ.2564 ก็ตาม ก่อนที่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN จะคว้าสิทธิชนะการประมูลพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 30 ปี

ส่วนโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ทั้ง 3 แห่ง ได้ปิดตัวไปทั้งหมดแล้วก่อนหน้า ตามไทม์ไลน์ต่อไปนี้

  • โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ถูกทุบทิ้งในปี พ.ศ. 2532
  • โรงภาพยนตร์สยาม ถูกวางเพลิงจนเสียหายหมดทั้งอาคาร ระหว่างเกิดการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ปี 2553 และแปลงสภาพเป็นสยามสแควร์วันในเวลาต่อมา
  • โรงภาพยนตร์ลิโด ที่ปิดตัวเพราะหมดสัญญาเช่ากับทางจุฬาฯ ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สกาลา ทุบทิ้ง
Photo : Facebook Foto_momo

สกาลา ยังไม่ใช่ โบราณสถาน

ย้อนกลับไปหลังการประกาศปิดตัวลง (5 ก.ค.2563) กลุ่มผู้หลงรักในความงดงามรวมถึงผู้ที่มีความทรงจำดีดีกับโรงภาพยนตร์สกาลา ได้พยายามเรียกร้องให้เก็บอาคารไว้

ขณะเดียวกัน สมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ ก็ได้เคยยื่นหนังสือต่อกรมศิลปากร ให้ขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณสถาน”

ต่อมา เดือนสิงหาคม 2563 กรมศิลปากร มีข้อวินิจฉัยตามคำนิยามใน พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) มองว่า อาคารที่ตั้งโรงหนังสกาลาไม่ถือเป็น “โบราณสถาน”


กระทั่งล่าสุด (1 พ.ย.) เพจเฟซบุ๊ก Foto momo โพสต์ภาพรวมไปถึงคลิปไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการปรับปรุงพื้นที่รื้อถอน-ทุบทิ้งโรงภาพยนตร์สกาลา ก่อนส่งมอบให้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN นำไปพัฒนาตามแผนงานต่อไป

เปิดภาพศิลปกรรม สถาปัตยกรรม “โรงหนังสกาลา”

Photo : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
Photo : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
Photo : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
Photo : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
Photo : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
Photo : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
Photo : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
Photo : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์