นักท่องเที่ยว คุณภาพ-ใช้จ่ายสูง โจทย์ใหญ่ REMAKE ท่องเที่ยว

ศุภจี สุธรรมพันธุ์

ทยอยฟื้นตัวดีต่อเนื่องสำหรับภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยจากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ตัวเลข 10 เดือนที่ผ่านมา (1 มกราคม-30 ตุลาคม 2565) ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมรวม 7.56 ล้านคน และคาดว่าตัวเลขรวมทั้งปีจะมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 10 ล้านคน

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT กล่าวในงานสัมมนา “Thailand 2023 : The Great Remake เศรษฐกิจไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมไว้ดังนี้

บริบทโลกเปลี่ยน

“ศุภจี” บอกว่า หลังจากทั่วโลกเผชิญกับโควิด-19 มา 2-3 ปี ทำให้สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ทั้งในบริบทโลก บริบทภายในประเทศ รวมถึงเรื่องของขีดความสามารถของการแข่งขัน

โดยในเรื่องของบริบทโลกทุกคนคุยเรื่องโกลบอลไลเซชั่นมาเป็น 10 ปีแล้ว จนคุ้นชินกับเรื่องโลกาภิวัตน์ อะไรที่เกิดขึ้นในจุดหนึ่งของโลกก็สามารถจะเกิดขึ้นในอีกจุุดหนึ่งของโลกในช่วงเวลาอันรวดเร็ว

ตอนนี้เกิดเหตุการณ์โควิด คนก็คิดว่าจะพึ่งพาโลกาภิวัตน์ได้อยู่ไหม ตอนนี้เราเริ่มเห็นขั้วอำนาจใหญ่ของโลกเริ่มคิดว่าพึ่งพาตัวเอง หรือหาพรรคพวก (correlation) แนวคิดการพึ่งพาโลกาภิวัตน์ถูกท้าทาย หลายอย่างถูกดิสรัปต์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยนั้นสิ่งที่เจอคือ โครงสร้างขั้นพื้นฐานบางประการได้เปรียบหรือล้ำหน้าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ดีเฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น ดังนั้น ภาครัฐต้องพิจารณาการกระจายความเจริญออกไปจากเมืองหลวงมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง รวมถึงแรงงานที่ยังมีราคาสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ขณะที่ทักษะแรงงานยังอยู่ในระดับปานกลาง ประเทศไทยจึงควรมีการลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาและการพัฒนาระบบการศึกษา

“ไทยประสบปัญหาจำนวนประชากรวัยแรงงานลดลงจากอัตราการเกิดที่ต่ำ ทำให้มีแรงงานเข้ามาในระบบน้อยลง คนทำงานจ่ายภาษีก็จะลดน้อยลง ขณะที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะยาวเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก”

เสนอ 3 แนวทางฝ่ากับดัก

“ศุภจี” บอกด้วยว่า เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักและอุปสรรคที่เผชิญอยู่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ภาคอุตสาหกรรม ประชาชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) ต้องร่วมมือกันหาทางออกให้กับประเทศ

“วันนี้ในตลาดแรงงานมีความต้องการคนที่มีสกิลสูงจำนวนมาก แต่คนของเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น ศักยภาพเรายังอยู่ในระดับกลาง ๆ ดังนั้นจำเป็นต้องมาดูว่า เราจะ remake ตัวเองอย่างไร ถามว่าเรามีความสามารถทำได้ไหม ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าทำได้”

โดยขอเสนอ 3 เรื่อง คือ 1.Creative Thailand โครงการที่เน้นด้านความสร้างสรรค์ คือ โดยส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการให้บริการที่มีเอกลักษณ์ ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อยกระดับความมีเอกลักษณ์ของวัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (astronomy)

2.Smart Thailand โดยเร่งการปรับใช้เทคโนโลยีในหลากหลายหน่วยอุตสาหกรรม เพื่อที่จะยกระดับผลิตผล และติดเครื่องมือให้กับแรงงานด้วยทักษะ innovative เติมทักษะเพื่อการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสนับสนุนสมาร์ทซิตี้ พร้อมจับมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

และ 3.Green Thailand โดยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมปรับใช้แนวคิด BCG สร้างความเข้าใจและการรับรู้แก่สาธารณะในแง่ความสัมพันธ์มนุษย์-ธรรมชาติ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ

มั่นใจ นทท.ทะลุ 10 ล้านคน

สำหรับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น “ศุภจี” ให้ข้อมูลว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 39.79 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 1.93 ล้านล้านบาท

โดยนักท่องเที่ยวมีระยะเวลาพักค้างแรมเฉลี่ย 9.26 คืน มีค่าใช้จ่ายรายวันเฉลี่ยอยู่ที่ 5,172 บาท ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 48,000 ต่อคนต่อทริป ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศ มีนักท่องเที่ยวชาวไทยออกเดินทางประมาณ 166.84 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 1.08 ล้านล้านบาท

“จากเป้าของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในปีนี้ 10 ล้านคน คิดว่าเป็นไปได้แน่นอน แต่สิ่งที่น่าจับตาคือ ยอดรายได้จากภาคการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในระยะนี้เป็นการเดินทางระยะใกล้ ซึ่งอาจทำตัวเลขรายได้จากภาคการท่องเที่ยวไม่สูงนัก” นางศุภจีกล่าว

หวั่นธุรกิจลดราคาทุบรายได้

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 ตุลาคม 2565 พบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวนสะสมรวม 7,565,049 คน เป็นนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้เดินทางเข้าประเทศไทย มีจำนวนสะสมรวม 4,939,175 คน คิดเป็นสัดส่วน 65% ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดที่เดินทางมาประเทศไทย

โดยตลาดนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 มาเลเซีย 1,285,194 คน รองลงมาคือ อินเดีย 679,050 คน สปป.ลาว 556,597 คน กัมพูชา 385,144 คน และ 5 สิงคโปร์ 374,997 คน ขณะที่เดิมในปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 5 อันดับแรกมาจาก จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และลาว ตามลำดับ

“ส่วนตัวเชื่อว่าในปีนี้ยอดนักท่องเที่ยวอาจถึงเป้าหรือใกล้เคียงที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯตั้งเป้า แต่รายได้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะรายจ่ายกับการท่องเที่ยวลดน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากผู้ประกอบการในตลาดพยายามลดราคาผลิตภัณฑ์ เช่น โรงแรมระดับบนลดราคาที่พักเหลือหลักไม่กี่พันบาท เป็นต้น”

แนะเน้น “คุณภาพ-เพิ่มรายได้”

นางศุภจีกล่าวต่อว่า ประเทศไทยควรปรับการให้ความสำคัญภาคการท่องเที่ยวจากเชิง “ปริมาณ” เป็นการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิง “คุณภาพ” โดยให้กระตุ้นการจับจ่ายให้มากขึ้น รวมถึงทำการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีระยะเวลาพักแรมที่ยาวนานมากขึ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ปี 2562 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้รวม 2.9 ล้านล้านบาท เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.9 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน (ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป 48,000 บาท) คิดเป็นสัดส่วน 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย (GDP)

หากทำให้นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปอยู่ที่ 60,000-70,000 บาท การทำรายได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท เท่ากับปี 2562 นั้นจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงแค่ประมาณ 32 ล้านคนเท่านั้น

“ถ้าเราใช้แนวคิด Less is more ไม่ต้องให้นักท่องเที่ยวกลับมาที่ 40 ล้านคนก็ได้”

เพิ่มแวลูโปรดักต์ท่องเที่ยว

ซีอีโอกลุ่มบริษัทดุสิตธานีบอกอีกว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด และต้องร่วมกันสร้างและเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว โดยนำเสนอด้านประสบการณ์ กระจายการเดินทางให้มีจุดประสงค์ รวมถึงสร้างความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยว

โดยโมเดลธุรกิจที่ควรเกิดขึ้นคือ การสร้างพันธมิตรและต้องข้ามสายกับธุรกิจ เช่น ชุมชนท้องถิ่น โรงพยาบาล ฯลฯ สร้างประสบการณ์ที่หลากหลายแปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว คำนึงถึงการได้รับประโยชน์ของชุมชนร่วมด้วย

“ไม่จำเป็นต้องเป็นคนตัวใหญ่ทำ คนตัวเล็กก็สามารถทำได้ โรงแรมขนาดเล็กอาจหาเอกลักษณ์หรือจุดเด่นของตน ออกแบบการนำเสนอเรื่องราวท้องถิ่นให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ที่มี”

พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกเกิดเทรนด์การท่องเที่ยวที่น่าจับตามองใน 6 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.เทคโนโลยี กุญแจสำคัญของภาคท่องเที่ยว ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ประสบการณ์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

2.การเติบโตของธุรกิจสุขภาพ-เวลเนส โดยปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับการชะลอวัยมากขึ้น ไทยสามารถสร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ 3.ความยั่งยืนคือสิ่งจำเป็น “Sustainability is a must” 4.กระแสการท่องเที่ยวและทำงานไปด้วย (workation) ยังคงมีอยู่ต่อไป

5.การเชื่อมต่อกับท้องถิ่น ยังเป็นปัจจัยสำคัญ สามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์ท้องถิ่นและนำเสนอแก่นักท่องเที่ยวได้ และ 6.พำนักยาวนานขึ้น เนื่องจากปัจจุบันค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้น และเทรนด์การเดินทางมีแนวโน้มจะใช้ระยะเวลานานมากขึ้น และต้องการสัมผัสประสบการณ์ที่มากขึ้น

โดยโจทย์ใหญ่ของการ remake ภาคท่องเที่ยวไทยคือ การเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อทริป เพราะถ้าปรับโฟกัสสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ใส่วัตถุประสงค์การท่องเที่ยวเข้าไป ท่องเที่ยวไทยจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแน่นอน