ธุรกิจตั้งรับ “เศรษฐกิจต่ำตก” ก่อ “คลื่นการเลิกจ้าง” ครั้งใหญ่

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พนักงานภาคบริการและค้าปลีกตกเป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับการเลิกจ้าง เนื่องจากการเดินทางที่หยุดชะงัก แต่ปัจจุบันสถานการณ์กลับพลิกผัน พนักงานรายได้สูงกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ถูกเลิกจ้างในเวลานี้ ด้วยเป้าหมายลดต้นทุนของภาคธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเลวร้ายลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

เอ็นบีซีนิวส์ รายงานว่า สถานการณ์เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกกำลังเพิ่มภาระต้นทุนให้กับบริษัทต่าง ๆ ขณะเดียวกันทำให้การเติบโตของภาคธุรกิจชะลอตัวลง รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้หลายบริษัทต้องตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก กลายเป็น “คลื่นการเลิกจ้าง” ที่ขยายตัวในวงกว้าง

โดยเฉพาะในบริษัทเทคโนโลยีที่มีการเลิกจ้างจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น “เมตา” (Meta) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก ที่มีแผนเลิกจ้างพนักงานมากถึง 11,000 ตำแหน่ง คิดเป็น 13% ของพนักงานทั่วโลก เช่นเดียวกับ “อะเมซอน” ที่ประกาศเลิกจ้างพนักงานราว 10,000 คน ในส่วนธุรกิจเทคโนโลยี

ส่วน “ทวิตเตอร์” ก็เตรียมลดจำนวนพนักงานลง 50% หลังจากที่ “อีลอน มัสก์” เข้าซื้อกิจการและดำเนินการเลิกจ้างไปแล้วประมาณ 3,700 คน และเมื่อไม่นานมานี้ (BuzzFeed) บริษัทสื่อออนไลน์ก็ประกาศลดพนักงานลง 12% ขณะที่ “อะโดบี” บริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ก็เตรียมเลิกจ้างราว 100 คน

บลูมเบิร์กรายงานข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ “แชลเลนเจอร์ เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส” ระบุว่า ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมโทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตฮาร์ดแวร์ และการพัฒนาซอฟต์แวร์ มีการประกาศเลิกจ้างงานมากถึง 52,771 ตำแหน่ง นับเป็นการประกาศเลิกจ้างรายเดือนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่แชลเลนเจอร์ฯเริ่มเก็บข้อมูลในปี 2000

“วิลเลียม ลี” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากหน่วยงานคลังสมองด้านเศรษฐกิจ “สถาบันมิลเคน” ชี้ว่า ฟองสบู่ของธุรกิจเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการจ้างงานมากเกินไป ทำให้ขณะนี้กำลังเผชิญกับปัญหารายได้จากการโฆษณาที่ลดลงอย่างมากในยุคหลังโควิด-19 และเริ่มตระหนักว่าบริษัทมีพนักงานมากเกินไป

นอกจากนี้ อีกหลายภาคธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูง โดยเฉพาะภาคการเงินการธนาคารที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ส่งผลให้ธนาคารเพื่อการลงทุนหลายแห่งตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานบางส่วน เนื่องจากการทำข้อตกลงทางธุรกิจชะลอตัวและกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจ

นิตยสารฟอร์บสรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคาร “มอร์แกน สแตนเลย์” ประกาศเลิกจ้างพนักงานราว 1,600 คน ขณะที่เดือน พ.ย.ที่่ผ่านมา “บาร์เคลย์ส” ก็ได้ประกาศลดพนักงานลง 200 คน ส่วน “ซิตี้กรุ๊ป” ก็มีแผนจะเลิกจ้างพนักงานรอบใหม่ เช่นเดียวกับสถาบันทางการเงินอีกหลายแห่งที่ประกาศลดจำนวนพนักงานไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นโกลด์แมน แซกส์, ดอยช์แบงก์ และซอฟต์แบงก์

ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ส่งผลให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายซื้อสินค้าขนาดใหญ่ ยังทำให้ปีนี้มีการลดพนักงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐลง 7,919 ตำแหน่ง ขณะที่ภาคยานยนต์ของสหรัฐก็มีการประกาศเลิกจ้างไป 30,669 ตำแหน่งเช่นกัน

“เจมส์ ไนต์ลีย์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศของ “ไอเอ็นจี” ผู้ให้บริการทางการเงิน ระบุว่า สถานการณ์ปรับลดพนักงานในปัจจุบันยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาคธุรกิจต่าง ๆ แต่หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เราอาจได้เห็นคนตกงานอีกเป็นจำนวนมาก