“บาร์บี้” ทำเงินทั่วโลก แต่ไม่ปังในเกาหลีใต้ สังคมชายเป็นใหญ่ไม่ปลื้ม “เฟมินิสต์” 

บาร์บี้ Barbie Movie
มาร์โกต์ รอบบี้ นักแสดงนำภาพยนตร์บาร์บี้ ในงานโปรโมตภาพยนตร์บาร์บี้ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ วันที่ 2 กรกฎาคม 2023 (Photo by Jung Yeon-je / AFP)

ภาพยนตร์ “บาร์บี้” (Barbie) ที่จัดจำหน่ายโดยบริษัท วอร์เนอร์ บราเธอร์ส (Warner Bros.) สร้างกระแสเปรี้ยงปร้างในหลายประเทศทั่วโลก ทำเงินทะลุ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้วตั้งแต่ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม แต่ในหนึ่งตลาดสำคัญของอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเกาหลีใต้ บาร์บี้กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่คาดหวัง แม้ว่าผู้สร้าง-ผู้จัดจำหน่ายให้ความสำคัญกับตลาดนี้ถึงขั้นยกทัพนักแสดงไปโปรโมตภาพยนตร์ถึงกรุงโซลก็ตาม 

เดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2023 ว่า ภาพยนตร์ “บาร์บี้” ขายตั๋วในเกาหลีใต้ได้ 460,000 ใบ นับตั้งแต่เปิดตัวในวันที่ 19 กรกฎาคม ในช่วงสุดสัปดาห์แรกที่เข้าฉาย บาร์บี้ทำรายได้ได้เพียง 8% ของรายได้รวมของบ็อกซ์ออฟฟิศเกาหลีใต้ และทำได้อีกเพียง 3.9% ในสุดสัปดาห์ที่สองของการเข้าฉาย 

เมื่อเปรียบเทียบกับภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ที่เข้าฉายในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน “Mission : Impossible-Dead Reckoning Part One” ขายตั๋วไปแล้วกว่า 3.6 ล้านใบ นับตั้งแต่เข้าฉายในวันที่ 12 กรกฎาคม ส่วน “Elemental” ที่เปิดตัวในวันที่ 14 มิถุนายน ทำยอดขายได้มากกว่า 5.8 ล้านใบ กลายเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จที่สุดในเกาหลีใต้ในปี 2023 นี้ 

นักวิจารณ์และนักเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้อธิบายเหตุผลที่ “บาร์บี้” ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดเกาหลีใต้ว่า คนในเกาหลีใต้ไม่เต็มใจที่จะอ้าแขนรับภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีเนื้อหาธีมสตรีนิยม (feminism) และเหล่าเฟมินิสต์ (feminist) ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ 

ชิมแฮอิน (Shim Haein) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีชาวเกาหลีใต้กล่าวว่า ธีมของภาพยนตร์เรื่องนี้อาจทำให้คนในเกาหลีใต้ไม่ชอบ 

“ฉันคิดว่าบาร์บี้เน้นย้ำความจริงที่ว่า ภาพยนตร์ที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลางซึ่งมีอารมณ์ขบขันแบบสตรีนิยมยังคงถือเป็นเรื่องต้องห้าม” 

ADVERTISMENT

เธอบอกว่า แม้แต่ผู้หญิงเองก็อาจจะลังเลที่จะไปดูหนังเรื่องนี้ เพราะความกลัวที่จะถูกตราหน้าว่าเป็นเฟมินิสต์นั้นมีอยู่จริงในเกาหลีใต้ 

“คำว่า ‘เฟมินิสต์’ กลายเป็นคำต้องห้ามสำหรับผู้คนจำนวนมากในเกาหลี และผู้คนไม่เต็มใจที่จะยอมรับ-และอึดอัดที่จะเผชิญหน้า-ระบบปิตาธิปไตย (ชายเป็นใหญ่) ที่หยั่งรากลึกซึ่งขับเคลื่อนสังคมมาอย่างยาวนาน” เธอกล่าว 

ADVERTISMENT

ยอนซุงอึน (Youn Sung-Eun) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวเกาหลีใต้ที่ศึกษาด้านภาพยนตร์มาโดยตรงกล่าวว่า ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากอาจเห็นด้วยกับหลักการเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่มีคนหลายกลุ่มในสังคมอนุรักษนิยมที่ต่อต้านสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็น “แนวคิดสตรีนิยมสุดโต่ง” (radical feminism)

“ในบริบท [สังคม] นี้ การศึกษาเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig-ผู้เขียนบทและกำกับบาร์บี้) ไม่ค่อยดึงดูดความสนใจนัก” ยอนซุงอึนกล่าว เธอวิเคราะห์ว่า เนื่องจากบาร์บี้ถูกสร้างมาให้เป็นภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิง ดังนั้น การนำเสนอประเด็นที่ละเอียดอ่อนแบบนี้อาจไม่โดนใจนัก

ทั้งนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมเกาหลีใต้นั้นยังคงเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตยหยั่งรากลึก เกาหลีใต้ได้คะแนนต่ำในด้านความเท่าเทียมทางเพศ เมื่อเทียบในหมู่ประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกัน เป็นประเทศที่ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างงานระหว่างเพศแย่ที่สุดในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และอยู่ในอันดับสุดท้ายใน Glass Ceiling Index ของ Economist ซึ่งเป็นดัชนีวัดบทบาทและอิทธิพลของผู้หญิงในการทำงานในกลุ่มประเทศ OECD

สังคมเกาหลีใต้ไม่ค่อยยอมรับแนวคิดสตรีนิยมและการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวคิดสตรีนิยมในเกาหลีใต้ถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุดโต่ง แม้แต่ในกลุ่มคนอายุน้อยก็ตาม  

จากการสำรวจในปี 2019 โดยสื่อท้องถิ่น SisaIN พบว่า 62.3% ของผู้ชายในวัย 20-29 ปีไม่เชื่อว่า “เฟมินิสต์” เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อบรรลุความเท่าเทียมทางเพศ ขณะที่ผู้ชายอายุ 20-29 ปีราว 78.9% เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่าเฟมินิสต์เป็นเรื่องของ “female supremacy” กล่าวคือ มองว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่สังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ 

เจสัน เบเชอร์เวส (Jason Bechervaise) นักวิจารณ์ภาพยนตร์และนักวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีกล่าวว่า การที่บาร์บี้ทำผลงานในเกาหลีใต้ได้ต่ำเมื่อเทียบกับตลาดตะวันตกนั้นไม่น่าแปลกใจ เพราะภาพยนตร์ที่ขับเคลื่อนโดยผู้หญิงมักจะต้องดิ้นรนในตลาดเกาหลีใต้ 

“ผู้ที่ต่อต้านเฟมินิสต์จะโจมตีภาพยนตร์ประเภทนี้อย่างไม่ต้องสงสัย” เจสันกล่าว

ถึงอย่างนั้นก็ตาม เจสันก็มองว่าเรื่องความไม่ชอบแนวคิดสตรีนิยมและเฟมินิสต์ของคนในเกาหลีใต้ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ภาพยนตร์เรื่องบาร์บี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในเวลาเดียวกันนี้ก็มีภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Smugglers ซึ่งนำแสดงโดยนักแสดงหญิงรุ่นใหญ่กำลังครองอันดับ 1 ในบ็อกซ์ออฟฟิศอยู่ โดยมีผู้ชมมากกว่า 2 ล้านคน ทั้งที่เพิ่งเข้าฉายเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม หรือเพียง 1 สัปดาห์