เฟมินิสต์กับการเรียกร้องที่ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่สิทธิสตรี

ศิรินภา นรินทร์ : เรื่อง

การออกมาชุมนุมประท้วงของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ไม่เพียงแต่เป็นการเรียกร้องทางการเมืองอย่างเดียว หนึ่งในประเด็นที่เป็นที่พูดถึง คือ การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ และปัญหาการกดขี่ทางเพศในสังคมไทย โดยกลุ่ม “ผู้หญิงปลดแอก” ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น “เฟมินิสต์ปลดแอก” คือกลุ่มหลักที่พูดถึงปัญหานี้

แม้ว่าสังคมไทยจะเริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับแนวคิดเฟมินิสม์ (feminism) มากขึ้น แต่ก็มีผู้ที่ยังไม่เข้าใจและคิดว่าคนที่เป็นเฟมินิสต์ (feminist) มีเพียงผู้หญิงเท่านั้น และต้องเป็นกลุ่มผู้หญิงที่เกลียดผู้ชาย ต้องการจะมีอำนาจเหนือกว่า และเรียกร้องเฉพาะเรื่องสิทธิสตรี จนเกิดกระแสต่อต้านเฟมินิสต์ขึ้นมา

การต่อต้านกลุ่มเฟมินิสต์พบเห็นได้มากในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาเล่นมุขตลกเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ และการล้อเลียนผู้ที่ออกมาเรียกร้อง ไปจนถึงสร้างเรื่องเท็จขึ้นมาเพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของเฟมินิสต์ดูเป็นกลุ่มคนที่น่ากลัวของสังคม

ในโลกออนไลน์มีการเรียกกลุ่มเฟมินิสต์ว่า “เฟมทวิต” มาจากคำว่า feminism of twitter ซึ่งเป็นคำที่ใช้ล้อเลียนกลุ่มเฟมินิสต์ที่เคลื่อนไหวในทวิตเตอร์ โดยมองว่าสิ่งที่เรียกร้องนั้นมากเกินไป ไม่สามารถจะเกิดขึ้นจริง หรือทำตามกระแส แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มเฟมทวิตยังคงใช้คำนี้ในการเรียกตัวเองเพื่อยืนยันจุดยืนการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ

ปรากฏการณ์การต่อต้านเฟมินิสต์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นการต่อสู้ทางความคิดที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับทุกคน และกลุ่มที่ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจ

Advertisment

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงอยากจะชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับเฟมินิสต์ แนวคิดเฟมินิสม์ และประเด็นการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย

 

กรอบแนวคิดชายเป็นใหญ่ แท้จริงแล้วกดขี่ทุกเพศ

ความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นผลมาจากกรอบแนวคิดปิตาธิปไตย (patriarchy) หรือระบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นระบบที่แบ่งแยกบทบาทหน้าที่ระหว่างเพศมาช้านาน โดยที่เพศชายเป็นผู้กุมอำนาจในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการตัดสินใจต่าง ๆ ในขณะที่เพศหญิงถูกใช้เป็นเครื่องมือสนองความใคร่ของผู้ชาย จะต้องเป็นไปตามแบบอย่างที่สังคมกำหนด ต้องทำงานบ้าน ดูแลสามี พูดเพราะ เรียบร้อย ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการลดทอนคุณค่าของผู้หญิง

Advertisment

ระบบนี้ชายเป็นใหญ่ยังกดทับกลุ่ม LGBTQ+ ที่มีเพศวิถีไม่ตรงกับเพศกำเนิดอย่างมาก อาจจะมากกว่าผู้หญิงด้วยซ้ำ คนกลุ่มนี้ถูกสังคมมองว่าผิดปกติ ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้มีความสามารถสูง ๆ ไม่ได้หน้าตาดี ก็มักจะถูกมองเป็นตัวตลก คนกลุ่ม LGBTQ+ จึงต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักมากเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคม

นอกจากนั้น ระบบชายเป็นใหญ่ยังกดทับผู้ชายเอง ด้วยกรอบความคิดที่ว่าผู้ชายต้องเข้มแข็ง ต้องเป็นผู้นำ ห้ามแสดงความอ่อนแอออกมา ห้ามชอบสิ่งของที่อาจแสดงถึงความเป็นผู้หญิง หรือถ้าผู้ชายโดนลวนลามก็จะถูกมองเป็นเรื่องเล็กน้อย ฯลฯ

หากจะกล่าวว่าระบบชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมมานาน เป็นระบบที่กดขี่ทุกเพศ ก็ไม่น่าจะผิดไปจากความเป็นจริง ดังนั้น จึงมีการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิสตรี และสิทธิของคนเพศอื่น ๆ เกิดขึ้นมา เพื่อผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมที่เท่าเทียมสำหรับทุกเพศ

 

เฟมินิสม์ จากแนวคิดเพื่อสตรี สู่ความเท่าเทียมของทุกคน

เฟมินิสม์ (feminism) หรือแนวคิดสตรีนิยม ความหมายตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษหมายถึง แนวคิดที่ว่าด้วยความเท่าเทียมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเพศต่าง ๆ โดยผู้ที่นิยมแนวคิดนี้จะเรียกว่าตัวเองว่า เฟมินิสต์ (feminist) ซึ่งแนวคิดนี้ได้มีการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ยุคแรกเรียกว่าเป็นคลื่นลูกที่หนึ่ง เริ่มต้นเมื่อปี 1845 ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิง เพื่อยกสถานะในสังคมของสตรีจากการเป็นพลเมืองชั้นสองให้มีความเท่าเทียมกับผู้ชาย

ต่อมาในช่วงคลื่นลูกที่สอง เริ่มในปี 1960 เน้นในเรื่องของการปลดปล่อยผู้หญิงให้เป็นอิสระ เป็นยุคที่ผู้หญิงเริ่มค้นหาตัวเองและหลุดออกจากกรอบเดิม ๆ ของสังคม

คลื่นลูกที่สาม เริ่มตั้งแต่ 1980 ถึงปัจจุบัน เป็นการหันกลับมาตั้งคำถามในเรื่องบทบาทของเพศ และไม่สร้างวาทกรรมความเป็นผู้หญิงจากคนผิวขาวและชนชั้นกลางในตะวันตกเท่านั้น แต่เน้นให้ความสำคัญกับความหลากหลายในสังคม เพศวิถี เชื้อชาติ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ในปัจจุบันการเรียกร้องของกลุ่มเฟมินิสต์ ไม่ใช่เพื่อสิทธิของสตรีเท่านั้น รวมทั้งกลุ่มผู้เรียกร้องก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง จะเป็นผู้ชายหรือกลุ่ม LGBTQ+ ก็สามารถออกมาเรียกร้องในนามเฟมินิสต์ได้ เพราะแนวคิดเฟมินิสม์เป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับทุกคนในสังคม

เมื่อปี 2014 องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ได้รณรงค์ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศขึ้น ในแคมเปญ “HeForShe” เป็นแคมเปญที่ให้ผู้ชายมีส่วนร่วมในการสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกเพศ โดยมี เอมมา วัตสัน (Emma Watson) เป็นทูตพิเศษของสหประชาชาติ หลังจากเปิดตัวแคมเปญมีผู้ชายจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 54,000 คน มีคนดัง ผู้บริหาร และบริษัทต่าง ๆ เข้าร่วมมากมาย ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมแคมเปญนี้รวมแล้วกว่า 2 ล้านคน บริษัทใหญ่ระดับโลกอย่าง Unilver ก็เข้าร่วมด้วย จากเดิมในปี 2014 ที่มีสัดส่วนผู้หญิงเป็นคณะกรรมการบริษัท 36% ก็เพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 45% ในปี 2018

การชุมนุมประท้วงของกลุ่มผู้หญิงนับแสนในประเทศอิรักเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธ การประท้วงนี้ลุกลามไปยังหลายเมือง

เหตุการณ์ลุกลามบานปลายเมื่อมีครูสอนศาสนาออกมาชี้ว่าให้มีการแยกชายหญิงในการประท้วงเพราะเพศสภาพที่ต่างกัน จึงเกิดการเรียกร้อง “หยุดการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง” “เลิกการแบ่งแยกเพศสภาพ” และ “เสรีภาพ การปฏิวัติ สตรีนิยม” รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์กับแฮชแท็กที่แปลเป็นภาษาไทยว่า #ลูกสาวของประเทศ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ในยุคนี้

การเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์ ไม่เพียงแค่การออกมาชุมนุมประท้วง แต่ยังมีการเคลื่อนไหวต่อสู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดเป็นกระแสให้มีการออกมาขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในหลายประเทศกับแฮชแท็ก #youknowme #metoo #WhereIsMyName และ #เฟมทวิต ในประเทศไทย

 

การเรียกร้องของกลุ่มเฟมินิสต์ในไทย ไม่ใช่เพื่อเพศใดเพศหนึ่ง

ประเด็นในการเรียกร้องของกลุ่มเฟมินิสต์ไม่ว่าในประเทศไทยหรือทั่วโลกมีข้อเรียกร้องที่คล้ายกัน คือ เรีียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ต่อต้านคุกคามทางเพศ ต่อต้านการถูกข่มขืน เรียกร้องสิทธิ์การทำแท้งเสรี ต่อต้านการเหยียดเพศ เชื้อชาติ สีผิว เรียกร้องการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม

ประเด็นที่เฟมินิสต์ในไทยเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทย อย่างเรื่องของการประกอบอาชีพที่แม้ว่าปัจจุบันจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่บางอาชีพยังไม่เปิดรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ บางอาชีพที่ผู้หญิงสามารถทำได้แต่กลับถูกมองว่ายังไม่มีความสามารถเท่าผู้ชาย ซึ่งเป็นความไม่เท่าเทียมที่ฝังรากลึก
ในสังคมมานาน

ปัญหาการคุกคามทางเพศก็มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และเกิดขึ้นในทุกระดับสังคม ทั้งที่บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน สถานที่สาธารณะ หรือแม้แต่ในโลกออนไลน์ ซึ่งการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น บ้างก็ถูกมองว่าเหยื่อไม่ระมัดระวังตัวเอง แต่งกายไม่มิดชิด หรือไปอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ ทั้งที่เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลย จึงนำมาสู่การเรียกร้องประเด็นต่าง ๆ

การออกมาชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อต้องการทำลายโครงสร้างปิตาธิปไตย ที่กดทับคุณค่าของมนุษย์และกีดขวางการเข้าถึงทรัพยากรของคนจากอคติทางเพศ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกเพศ และสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับเฟมินิสต์ ซึ่งแท้จริงแล้วออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับทุกเพศ พร้อม ๆ กับการเรียกร้องประชาธิปไตย

นอกจากการสนับสนุนข้อเรียกร้องหลัก 3 ประการของคณะราษฎร 2563 แล้ว ยังสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่ม “เสรีเทยฺย์พลัส” 2 ข้อคือ 1.สังคมไทยจะต้องยกระดับมาตรฐานจริยธรรม โดยเฉพาะเรื่องเพศ และร่วมกันตรวจสอบเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในขบวนการประชาธิปไตย 2.ในการการจัดกิจกรรมชุมนุม เพศหญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศควรได้รับโอกาสนำเสนอเนื้อหาบนเวที เพื่อความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

ต่าง ๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการออกมาเรียกร้องของกลุ่มเฟมินิสต์ในยุคหลังที่มาพร้อมข้อเรียกร้องที่หลากหลาย แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่การเรียกร้องเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่สังคมที่ดีขึ้น