แบงก์ไทยเทศปล่อยกู้ GULF ซื้อหุ้น INTUCH-ADVANC วงเงิน 1.75 แสนล้าน

12 แบงก์ทั้งในและต่างประเทศ ร่วมปล่อยสินเชื่อ GULF เทนเดอร์หุ้น INTUCH-ADVANC วงเงินรวม 174,700 ล้านบาท เฉพาะ 8 ธนาคารพาณิชย์ในไทยปล่อยกู้รวม 91,000 ล้านบาท “กรุงไทย-ไทยพาณิชย์” ปล่อยกู้สูงสุดรายละ 20,000 ล้านบาท

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 บริษัท กัลฟ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.64 บริษัทมีการยื่นเอกสารคำเสนอซื้อต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2564-4 สิงหาคม 2564 ทุกว้นทำการของตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น

ซึ่งทั้ง INTUCH และ ADVANC พร้อมทำหนังสือแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบแล้ว โดยสำหรับราคาทำคำเสนอซื้อหุ้น INTUCH อยู่ที่ราคา 65 บาท จำนวนไม่เกิน 2,599,631,112 หุ้น หรือคิดเป็น 81.07% ของหุ้นทั้งหมดของ INTUCH และกรณีที่มีการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) คงเหลือทั้งหมดเป็นหุ้นสามัญ บริษัทจะต้องซื้อหุ้น INTUCH เพิ่มอีก 1,268,956 หุ้น คิดเป็นมูลค่าการลงทุนสูงสุดไม่เกิน 169,058.50 ล้านบาท

ส่วนการทำคำเสนอซื้อหุ้น ADVANC อยู่ที่ราคา 120.93 บาท จำนวน 2,973,554,313 หุ้น หรือคิดเป็น 100% ของหุ้นทั้งหมด ซึ่งหากมีการใช้สิทธิแปลงวอร์แรนต์คงเหลือทั้งหมดเป็นหุ้นสามัญ จะต้องซื้อหุ้นสามัญ ADVANC เพิ่มขึ้นอีก 1,304,977 หุ้น มูลค่าการลงทุนไม่เกิน 365,491.21 ล้านบาท ซึ่งหากรวมการทำคำเสนอซื้อหุ้น INTUCH และ ADVANC จะใช้เงินรวม 534,549.72 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในส่วนของการทำคำเสนอซื้อหุ้น ADVANC เนื่องจากเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 ทาง GULF ได้แจ้งปรับราคาการทำคำเสนอซื้อหุ้น ADVANC ลงเหลือหุ้นละ 120.93 บาท จากเติมที่ราคา 122. 86 บาทต่อหุ้น โดยมีการปรับปรุงตามวิธีการคำนวณ ต้นทุนการได้มาซึ่งอำนาจครอบงำกิจการผ่านนิติบุคคลอื่น จากงบการเงินรวมของ INTUCH งวดไตรมาส 1/2564 (ม.ค.-มี.ค. 64)

ส่วนแหล่งที่มาของเงินทุนที่ใช้ในการเข้าเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นในครั้งนี้ มาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินทั้งจำนวนจากทั้งธนาคารภายในประเทศและจากธนาคารในต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 12 ธนาคาร วงเงินรวม 174,700 ล้านบาท ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยวงเงินปล่อยกู้รวม 91,000 ล้านบาท

1.ธนาคารกรุงไทย วงเงินปล่อยกู้ 20,000 ล้านบาท

2.ธนาคารไทยพาณิชย์ วงเงินปล่อยกู้ 20,000 ล้านบาท

3.ธนาคารออมสิน วงเงินปล่อยกู้ 15,000 ล้านบาท

4.ธนาคารกสิกรไทย วงเงินปล่อยกู้ 10,000 ล้านบาท

5.ธนาคารยูโอบี วงเงินปล่อยกู้ 10,000 ล้านบาท

6.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร วงเงินปล่อยกู้ 6,000 ล้านบาท

7.ธนาคารทหารไทยธนชาต วงเงินปล่อยกู้ 5,000 ล้านบาท

8.ธนาคารทิสโก้ วงเงินปล่อยกู้ 5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีธนาคารในต่างประเทศ วงเงินปล่อยกู้รวม 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 83,700 ล้านบาท (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ) ประกอบด้วย

1.Deutsche Bank AG, Singapore Branch วงเงินปล่อยกู้ 675 ล้านเหรียญสหรัฐ

2.Maybank International Labuan Branch วงเงินปล่อยกู้ 675 ล้านเหรียญสหรัฐ

3.Standard Chartered Bank ( Singapore) Limited วงเงินปล่อยกู้ 675 ล้านเหรียญสหรัฐ

4.Sumitomo Mitsui Banking Corporation, Singapore Branch วงเงินปล่อยกู้ 675 ล้านเหรียญสหรัฐ