บทบรรณาธิการ : ยุบสภาเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ได้ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 20 มีนาคม 2566 ถือเป็นการสิ้นสุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยู่มาจนเกือบจะครบสมัยการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

โดยสาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ก็คือ ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศ กำหนด ซึ่งจะไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน แต่ไม่เกินหกสิบวัน นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

แม้เหตุผลในการยุบสภาครั้งนี้จะแตกต่างไปจากการยุบสภาครั้งที่ผ่าน ๆ มาในอดีต กล่าวคือ เกิดความขัดแย้งในรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาล เกิดความขัดแย้งทางการเมือง การชุมนุมขับไล่รัฐบาล การแพ้โหวตหรือหนีโหวต เสร็จสิ้นภารกิจสำคัญ อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร มาสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือการตีตกร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล

แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เลือกที่จะยุบสภาก่อนครบเทอมเพียงไม่กี่วัน ด้วยเหตุผลให้เป็นไปตามคำพูดที่เคยสัญญาไว้ และเป็นการแก้ปัญหาการย้ายพรรคของนักการเมือง

จากข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบัน ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลจากคณะรัฐประหาร ผ่านการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยที่หัวหน้าคณะรัฐบาลคือ นายกรัฐมนตรียังเป็นบุคคลคนเดียวกัน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานมาเกือบครบ 8 ปี ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งทางบวกและทางลบ ในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ รวมไปถึงสิ่งที่เรียกกันว่า แผนการปฏิรูปและการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศไทย

แน่นอนว่า ด้านหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ต้องการที่จะไปต่อทางการเมือง ผ่านทางสโลแกนหาเสียง “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ของพรรครวมไทยสร้างชาติที่จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พรรคการเมืองอื่น ๆ ทั้งที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน หรือพรรคฝ่ายค้านต่างก็มีสโลแกนหาเสียง

อาทิ พูดแล้วทำ หรือเปลี่ยนรัฐบาลไม่พอ ต้องเปลี่ยนประเทศ หรือคิดใหญ่ ทำเป็น หรือภักดีประชาศรัทธาสถาบัน ล้วนแล้วแต่เป็นข้อเสนอให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งพิจารณา โดยมีเป้าหมายที่จะเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อบริหารประเทศชาติด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้น ในช่วงก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับจากวันประกาศยุบสภา จึงเป็นระยะเวลาที่จะให้ประชาชนคนไทยได้คิดพิเคราะห์พิจารณาว่า อยากได้ “ผู้นำ” หรือ “รัฐบาล” แบบไหนเข้ามาบริหารประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้า ก่อนที่จะเดินหน้าเข้าคูหาเลือกตั้งเพื่อตัดสินอนาคตของประเทศและอนาคตของคนไทย