มรดกหนี้สาธารณะ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ในการอภิปรายงบประมาณสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทุกครั้งที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นที่ฟากรัฐบาลมักพูดถึงไม่พ้น “จำนำข้าว” ที่ระบุว่าทำให้ไทยเป็นหนี้จำนวนมหาศาล ตัวเลขล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุไว้กลางสภาคือ 9.6 แสนล้านบาท

จึงเป็นภาระของทุกปีงบประมาณจนถูก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯออกมาตอบโต้ และชี้ถึงหนี้สาธารณะที่พุ่งขึ้นเกือบเท่าตัว ไม่ได้มาจากจำนำข้าว

ประเด็นหนี้จำนำข้าวนั้น ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาทำความเข้าใจว่า ตัวเลขอาจคลาดเคลื่อนเพราะคิดเพียงเงินที่จ่ายออก ไม่ได้หักเงินที่ได้คืนมาในรูปแบบการไถ่ถอนหรือขายผลผลิตออกไป ราว ๆ 4 แสนล้านบาท

ดร.เดชรัตบอกอีกว่า ที่ผ่านมาเหลือหนี้ก้อนดังกล่าวราว ๆ 2.8 แสนล้านบาท และงบประมาณปี 2566 รัฐบาลตั้งงบฯชำระหนี้ส่วนนี้ไว้ที่ 2.6 หมื่นล้านบาทเศษ หากเทียบกับหนี้โครงการประกันรายได้เกษตรและอื่น ๆ

นับเฉพาะปี 2562-2564 ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯจากการเลือกตั้ง ก่อไว้กว่า 2.47 แสนล้านบาท งบฯปี 2566 ตั้งเงินชำระหนี้ไว้ 4.4 หมื่นล้านบาท หรือมากกว่าหนี้จำนำข้าว 1.8 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ประเด็นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หากย้อนดูหนี้สาธารณะปี 2557 หรือปีสุดท้ายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในอำนาจก่อนถูกปฏิวัติ อยู่ที่ 5.53 ล้านล้านบาท เทียบเป็น 42.50% ต่อจีดีพี

แต่หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศทั้งสมัย คสช. จนเป็นนายกฯจากการเลือกตั้งรวม 8 ปี หนี้สาธารณะ ณ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ 60.58% ต่อจีดีพี มูลค่ากว่า 9.95 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 4.42 ล้านล้านบาท

ต่อให้ตัดหนี้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท ที่นำมาใช้จ่ายกรณีโควิดช่วงปี 2563-2564 ซึ่งถือเป็นสถานการณ์พิเศษที่กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก เพิ่มค่าใช้จ่ายเรื่องรักษาพยาบาลและอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคระบาด เท่ากับตลอดอายุของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อหนี้เฉียด ๆ 3 ล้านล้านบาท

หนี้ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วบวกกับโควิด ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เห็นชอบขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะ จากเดิม 60% ต่อจีดีพี เป็นไม่เกิน 70% เพื่อเพิ่มช่องว่างให้กู้เงินเพิ่มได้อีกในอนาคต ด้วยหนี้สาธารณะที่พุ่งเป็น 9.95 ล้านล้านบาท ในเวลาเพียง 8 ปี จึงเป็นคำถามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบโต้ว่าเพราะจำนำข้าว หรือเพราะบริหารงานกันแน่

ตัวเลขหนี้สาธารณะที่ใกล้ถึง 10 ล้านล้านบาท บวกกับช่องว่างของเพดานหนี้สาธารณะที่รัฐบาลยังสามารถกู้เพิ่มได้อีก ต้องดูกันต่อไปว่าเมื่อหมดยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และมีผู้บริหารประเทศชุดใหม่เข้ามารับไม้ต่อในช่วงปีหน้าที่จะครบวาระ 4 ปี มรดกหนี้สาธารณะของไทยจะไปหยุดที่เท่าไหร่