
8 ปี หนี้สาธารณะเฉียด 10 ล้านล้าน “ประยุทธ์” สมานแผลเศรษฐกิจ หรือสร้างแผลเป็น?
วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายใต้การเข้ามาบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 หนี้สาธารณะ อยู่ที่ 42.50% ต่อจีดีพี มูลค่า 5.53 ล้านล้านบาท ขณะที่ปัจจุบัน ณ 31 มีนาคม 2565 หนี้สาธารณะ อยู่ที่ 60.58% ต่อจีดีพี มูลค่ากว่า 9.95 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมากว่า 4.42 ล้านล้านบาท
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- MOTOR EXPO 5 วัน ค่ายอีวี BYD ลุ้นแซงโตโยต้า ขึ้นผู้นำขายสูงสุด
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” พยายามหาลู่ทางใช้เงิน และผ่อนปรนขีดจำกัดวินัยการคลังหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่จัดทำงบประมาณกลางปีเพิ่ม ในปีงบประมาณ 2559 วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท ต่อมาปีงบประมาณ 2560 ทำงบประมาณกลางปีเพิ่มอีก 1.9 แสนล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 ก็ทำงบกลางปีเพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท
ต่อมาในปี 2563 เกิดการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจึงมีการปรับลดงบคืนต้นเงินกู้ลง 35,303 ล้านบาทโอนเข้างบกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด และยังกู้เพิ่มอีก 214,093 ล้านบาท รองรับรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เพราะจัดเก็บรายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หลังโดนผลกระทบโควิด
นอกจากนี้ ได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 เพื่อรับมือโควิด แบ่งเป็น 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานด้านสาธารณสุข แผนงานช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
แต่ความรุนแรงของโรคระบาดยังไม่ทุเลาลง “พล.อ.ประยุทธ์” จึงเดินหน้าออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564
ทั้งนี้ การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ส่งผลให้หนี้สาธารณะที่กำหนดไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ใกล้ชนเพดาน ซึ่ง ณ เดือน ก.ค. 64 มียอดหนี้สาธารณะกว่า 8,909,063 ล้านบาท คิดเป็น 55.59% ต่อจีดีพี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นประธาน จึงเห็นชอบให้ขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะ เพิ่มเป็นไม่เกิน 70% ของจีดีพี
“การขยายเพดานหนี้เป็นการเพิ่มพื้นที่การคลังให้รัฐกู้เงินได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท รองรับ พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับ รวมทั้งรองรับการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณอีก 7 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565”
และนอกจากดูแลผลกระทบโควิด ระหว่างทางรัฐบาลต้องดูแลเกษตรกร ผ่านโครงการประกันรายได้ข้าว ซึ่งเดินทางมาแล้วกว่า 3 ปี โดยปีการผลิต 64/65 ใช้งบประมาณกว่า 1.7 แสนล้านบาท ขณะที่งบที่นำมาใช้ จาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 28 มีวงเงินเหลือใช้ได้เพียง 5,360 ล้านบาท
“พล.อ.ประยุทธ์” จึงอนุมัติขยายเพดาน มาตรา 28 จากเดิมที่กำหนดว่า ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นไม่เกิน 35% ชั่วคราว 1 ปี ทำให้มีวงเงินในการก่อหนี้เพิ่มเติมได้อีก 1.55 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ตอนนี้กรอบวงเงินที่ขยายออกไปชั่วคราวใกล้เต็มเพดานแล้ว รัฐอาจมีความจำเป็นที่จะต้องขยายเพดานอีก เพื่อสมานแผลดูแลเศรษฐกิจ
สำหรับ 8 ปี “พล.อ.ประยุทธ์” ปลดล็อกข้อจำกัดทางการเงินสารพัดแนวทาง เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่บททดสอบคุ้มกันเศรษฐกิจยังไม่จบ โควิดยังไม่หายดี ก็มีความท้าทายใหม่เพิ่มเข้ามา จากความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ราคาพลังงานพุ่ง
ล่าสุด ประเด็นการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อพยุงราคาน้ำมัน ก็กำลังเป็นอีกหนึ่งปมที่รัฐบาล ต้องหาทางปลดล็อกข้อจำกัด เพราะแม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะขยายกรอบวงเงินกู้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากกำหนดไว้ 2 หมื่นล้านบาท เป็น 3 หมื่นล้านบาทแล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
ต้องจับตาดูต่อไปว่า ที่สุดแล้ว หากกู้แบงก์ไม่ได้ “พล.อ.ประยุทธ์” จะปลดล็อกเงื่อนไขอะไรเพิ่มอีก เพื่อหาช่องหาเงินมาอุดหนุนราคาน้ำมันในวิกฤตครั้งนี้ เมื่อฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 พบว่าติดลบ 81,395 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 45,968 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 35,427 ล้านบาท
ทั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อหนี้สาธารณะ จนเป็นน่ากังวลว่า รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” จะรักษาบาดแผล หรือจะสร้างรอยแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจไทย