ประวิตร หนุน สทนช.-สภาน้ำเอเชีย-OECD เร่งเครื่องบริหารจัดการน้ำ EEC

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ประวิตร เร่งยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC ย้ำต้องพัฒนาต่อเนื่อง ดึงใช้องค์ความรู้เพื่อเพิ่มความมั่นคงน้ำให้ประชาชน

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวหลังเป็นประธานเปิดงานเสวนา “ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC” ว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมสาธารณรัฐเกาหลี สภาน้ำแห่งเอเชีย และ OECD ในการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC

การเสวนาครั้งนี้นับเป็นการเปิดโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ OECD ได้จัดทำขึ้นสัมฤทธิ์ผลและเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปปรับใช้ให้ตรงตามบริบทของประเทศไทย

เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำจำเป็นต้องมีการพัฒนาตลอดเวลาทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติการ เพื่อให้ปัจจัยพื้นฐานของประเทศมีความมั่นคง ส่งผลถึงการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ และได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นเข็มทิศในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี 2561-2580)

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบจะสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สิ่งสำคัญคือมีองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งภายในประเทศและกับพันธมิตรต่างประเทศ

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า งานเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การหารือระดับชาติเรื่องน้ำในประเทศไทยและพื้นที่ศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ “EEC” ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง AWC กระทรวงสิ่งแวดล้อมสาธารณรัฐเกาหลี OECD และ สทนช. ภายใต้ “โครงการข้อริเริ่มความร่วมมือด้านน้ำกรอบระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 2020-2024”


ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความเห็นต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งครอบคลุมการบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำ มาตรการกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสุขาภิบาลในพื้นที่ EEC และช่องว่างของกลไกทางการเงิน เทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นำไปสู่การจัดทำร่างรายงานเกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC ฉบับสุดท้ายที่สมบูรณ์ ก่อนนำไปปรับใช้จริงให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC โดยเร็ว”