อีไอซี ย้ำเศรษฐกิจไทยเผชิญ 3 (ไม่) ความแน่นอน หั่นจีดีพีปี’66 เหลือโต 3.4%

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

อีไอซี ปรับเพิ่มประมาณจีดีพีปี’65 มาอยู่ที่ 3.2% จาก 3.0% และปรับลดปี’66 เหลือ 3.4% จาก 3.7% เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ฉุดการส่งออกชะลอตัวเหลือ 1.2% แรงส่งภาคการท่องเที่ยวยังดี คาดอยู่ที่ 28.3 ล้านคน พร้อมมองเศรษฐกิจไทยเผชิญ 3 ไม่ 4 ปัจจัยเสี่ยง เผยเงินบาทพลิกแข็งค่า 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก-เงินทุนไหลเข้า

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) เปิดเผยว่า อีไอซีได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้และปี 2566 โดยปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้จากเดิม 3.0% เพิ่มเป็น 3.2% มาจากภาคการท่องเที่ยวที่สามารถขยายตัวได้สูงกว่าคาดการณ์ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน และเพิ่มเป็น 28.3 ล้านคน ส่งผลต่อรายได้และการบริโภคที่เติบโตต่อเนื่องขยายตัวอยู่ที่ 5.8% และปรับลดลงเหลือ 3.0%

อย่างไรก็ดี อีไอซีได้ปรับลดประมาณการเติบโตจีดีพีในปี 2566 ลดลงจาก 3.7% ลงมาอยู่ที่ระดับ 3.4% โดยปัจจัยมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัว และเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) จะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยที่ปรับลดลงจาก 2.5% เหลือเพียง 1.2% หลังจากตัวเลขล่าสุด ณ เดือนตุลาคม 2565 ตัวเลขส่งออกออกมาติดลบ -4%

ดังนั้น จากแนวโน้มดังกล่าวสะท้อนเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น โดยเศรษฐกิจฟื้นตัวภายใต้ 3 ไม่ คือ 1.ไม่สอดคล้องกัน โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 2.9% และปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.8% ทั้งนี้ หากดูข้อมูลในช่วงที่เศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอยจีดีพีจะขยายตัวเพียง 1.5% ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจในหลายประเทศจะเกิดภาวะถดถอย

เช่น ยูโรโซน คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในสิ้นปีนี้ โดยเศรษฐกิจโลกจะเจอปัญหา 2 มิติ ด้วยกัน คือ 1.สงครามการค้า (Trade War) และ 2.นโยบายการเงิน (Fed Policy Error) ส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินมีข้อจำกัดมากขึ้น

และ 2.ไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งสะท้อนจากดัชีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 80% ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่ไม่เหมือนกัน เช่น ปัญหาโควิด-19 ปัญหานโยบายการเงินและการคลัง หรือปัญหาทางด้านพลังงาน ซึ่งนโยบายการทำเผื่อไว้เหมือนในช่วงเกิดโควิด-19 ของสหรัฐได้สร้างความผันผวนต่อประเทศอื่น ดังนั้น ความไม่แน่นอนและความผันผวนจะอยู่กับเราไปอีกสักระยะ

ท้ายสุด 3.ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งจะมีภาคที่เติบโตได้ดี และภาคที่ไม่ดี โดยภาคที่มีการเติบโตได้ดี เช่น เกี่ยวข้องการบริโภคภายในประเทศ อาหาร รักษาพยาบาล และภาคที่ยังน่าเป็นห่วง เช่น เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก อาทิ ภาคการส่งออก พลังงาน เซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงทางด้าน ESG ที่ทุกคนยังให้ความสำคัญน้อย แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำในระยะยาว

นอกจากนี้ ความไม่เท่าเทียมทางด้านรายได้ เช่น ครัวเรือนที่มีหนี้เกิน 2 เท่าของรายได้ พบว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 8% ปัจจุบันอยู่ที่ 9.4% และหากดูสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ของกลุ่มเปราะบางจะพบว่ามีหนี้ 3 เท่า หรือประมาณ 40% ของรายได้ และหากดูกลุ่มที่ไม่ได้เปราะบางมีภาระหนี้เพียง 0.5 เท่า หรือประมาณ 7% เท่านั้น

“เศรษฐกิจเรียกว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าเมฆฝนกำลังมา และเข้าสู่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้เราเผชิญปัจจัยเสี่ยง 4 ประเด็นด้วยกัน คือ 1.เศรษฐกิจโลกชะลอกระทบการส่งออก 2.นโยบาย COVID Zero ในจีน กระทบนักท่องเที่ยวจีนได้ 3.ไทยเผชิญ 3 สูง คือ เงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยสูง และหนี้สูง ซึ่งกระทบกับครัวเรือนเปราะบาง และ 4.มีการเลือกตั้งอาจจะกระทบบรรยากาศการลงทุนได้”

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าได้ แต่ก็มีปัจจัยเงินบาทอ่อนค่าได้เช่นกัน คือ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลออก โดยในปีนี้มองกรอบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36.00-37.00 บาทต่อดอลลาร์

ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ดร.ฐิติมา ชูเชิด

อย่างไรก็ดี แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2566 จากทิศทางจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 28.3 ล้านคน ส่งผลต่อรายได้ และดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะอยู่ที่ 5% ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ได้เป็นปัจจัยเงินทุนไหลออก แต่เห็นสัญญาณเงินไหลกลับเข้ามาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าอยู่ในกรอบ 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์

“ค่าเงินบาทเรามองว่าจะขยับแข็งค่าต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะตลาดเริ่ม Price In เรื่องดอกเบี้ยเฟดจะไปอยู่ที่ 5% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไม่น่าจะเพิ่มขึ้นแล้ว และจากข่าวดีที่มีมาเรื่อย ๆ คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ได้”