ฟันธง ธปท.ปรับดอกเบี้ยอีก 0.25% พุธนี้ EIC ชี้ “ขาขึ้น” ลากยาวปี’67 พีกสุด 2.75%

แบงก์ขึ้นดอกเบี้ย

“EIC ไทยพาณิชย์-ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประสานเสียงคาดการณ์ กนง. ประชุม 30 พ.ย.นี้ ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% “ดร.สมประวิณ” คาดปีหน้า ธปท. ขยับดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง มองเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นยาวถึงต้นปี’67 พีกสุด 2.75%

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) เปิดเผยว่า อีไอซี ประเมินว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบสุดท้ายวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) อีก 0.25% ต่อปี จากระดับ 1.00% ต่อปี มาอยู่ที่ระดับ 1.25% ต่อปี

โดยการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยยังคงมีความจำเป็นในระยะยาว ภายหลังจากอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะอยู่ที่ 6.1% และปี 2566 เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.2% แม้ทยอยลดลง แต่ยังไม่กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับ 1-3%

ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566 มองว่า กนง.ยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องภายในครึ่งแรกของปี 2566 อีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ต่อปี จาก 1.25% ต่อปี ไปอยู่ที่ระดับ 2.00% ต่อปี และ กนง.จะรอดูท่าทีของทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวว่าจะมีผลกระทบต่อไทยหรือไม่ และหากดูอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยปรับลดลง อาจจะยังไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี มองว่าดอกเบี้ยในระดับ 2.00% ต่อปี ยังไม่ได้เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุด แต่คาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 กนง.จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ต่อปี ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายไปแตะที่ระดับ 2.75% ต่อปี ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่สามารถขยายตัวเป็นไปอย่างราบรื่น หรือ Soft Landing ได้ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพเทียบเท่าก่อนโควิด-19 ภายในสิ้นปี 2567 ที่ระดับศักยภาพ 3.5%

“ตอนนี้เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณชัดเจนว่าเข้าสู่ภาวะชะลอตัว และเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงการฟื้นตัว ซึ่งที่ผ่านมานโยบายการเงินผ่อนคลายค่อนข้างมาก จึงต้องปรับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือ Policy Normalization แต่การปรับจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และประเมินจังหวะและสถานการณ์ต่าง ๆ ในการปรับขึ้น เพราะมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยยังคงมีความจำเป็นระยะยาว และเพื่อไม่ให้นโยบายการเงินตึงตัวจนกระทบการฟื้นตัว”

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่าในการประชุม กนง. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการประชุม กนง. ครั้งสุดท้ายของปีนี้ คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.25% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

โดยเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของ กนง. ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นมาจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยสะท้อนราคาสินค้าในภาพรวมยังคงเร่งตัวสูงขึ้น แม้แรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มลดลง

ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องหลังจากในไตรมาส 3/2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวถึง 4.5% YOY ดังนั้น กนง. คงพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ในการประชุมที่จะถึงนี้ ซึ่ง กนง.คงจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ ขณะที่แรงกดดันจากประเด็นด้านค่าเงินนั้นเริ่มมีลดลง หลังจากค่าเงินบาทพลิกภาพมาแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ ในปีหน้าเส้นทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. คงขึ้นอยู่กับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลักอย่างเฟดเป็นสำคัญ โดยมีความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายของไทยคงไปแตะระดับสูงสุดที่ราว 1.75-2.00% ในปีหน้า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ในขณะเดียวกัน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะค่อย ๆ อ่อนแรงลง ซึ่งคงจะส่งผลให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงเฟดกลับมาให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฟดคงชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไปและอาจหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า ซึ่งคงจะส่งผลให้ปัจจัยสนับสนุนค่าเงินดอลลาร์นั้นมีน้อยลงและส่งผลต่อไปยังค่าเงินบาทให้อาจพลิกภาพมาแข็งค่าได้ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อ กนง. ด้านค่าเงินอีกทางหนึ่ง

ดังนั้น จากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ประกอบกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและค่าเงินที่ลดลง กนง.คงกลับมาให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยลงและหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีหน้า