สินมั่นคงฯเปิด 3 แนวทางจัดทำแผนฟื้นฟูยื่นศาลล้มละลาย ชี้หุ้น SMK ยังซื้อขายได้

สินมั่นคง

สินมั่นคงฯ แจงหุ้น SMK ถูกขึ้นเครื่องหมาย C และ NP ยังซื้อขายได้ด้วยบัญชี “Cash Balance” เผยปมเข้าฟื้นฟูกิจการ เหตุแบกภาระ “หนี้สินล้นพ้นตัว” ลั่นทางออกทางเดียวสางหนี้ประกันโควิด-เปิดทางเจรจาหนี้ระหว่างบริษัทกับผู้เอาประกัน แย้ม 3 แนวทาง “แผนฟื้นฟู” เตรียมเสนอศาลล้มละลายพิจารณา พร้อมย้ำอีกครั้ง ! บริษัทยังให้ความคุ้มครองประกันภัยประเภทอื่นตามกรมธรรม์

วันที่ 6 มิถุนายน 2565 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า บริษัทได้จัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565

กรณีตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขึ้นเครื่องหมาย C บนหลักทรัพย์ของบริษัท ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เนื่องจากบริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565

และกรณีที่ต่อมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เพิ่มเหตุการณ์ขึ้นเครื่องหมาย C บนหลักทรัพย์ของบริษัท ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 เนื่องมาจากการที่บริษัทได้เปิดเผยข้อมูลงบการเงินไตรมาสที่ 1/2565 ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ซึ่งปรากฏข้อมูลว่า บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนที่ชำระแล้ว โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีมูลค่าประมาณ -27,225 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ -13,612.5 ของทุนที่ชำระแล้วนั้น

บริษัทได้จัดทำรายงานสรุปแนวทาง ขั้นตอนการแก้ไข ประเด็นพิจารณาและการดำเนินการเกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ดังนี้

ความคืบหน้าในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของบริษัท

  • เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
  • ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565
  • ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น.

สรุปการขึ้นเครื่องหมายบนหลักทรัพย์ของบริษัท

  • เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 หลักทรัพย์ของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย C กรณีศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565
  • ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 หลักทรัพย์ของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย SP 1 วัน เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินไตรมาสที่ 1/2565
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 หลักทรัพย์ของบริษัทถูกเปลี่ยนจาก SP เป็นเครื่องหมาย NP จนกว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จะมีคำสั่งให้แก้ไขหรือไม่แก้ไขงบการเงินของบริษัท นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯได้เพิ่มเหตุการณ์ขึ้นเครื่องหมาย C บนหลักทรัพย์ของบริษัท เนื่องจากบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้ว ตามงบการเงินไตรมาสที่ 1/2565
  • ปัจจุบันหลักทรัพย์ของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย C และ NP ซึ่งนักลงทุนยังสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทได้ด้วยบัญชี Cash Balance

ที่มาและสาเหตุของการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท

1.ในปี 2564 บริษัทได้รับประกันกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ประเภทเจอจ่ายจบ และประเภททูอินวัน (2 in 1) โดยมีเบี้ยรับจากประกันภัยรวมจำนวน 661 ล้านบาท ต่อมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในวงกว้างและกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) และปัจจัยภายนอกอันเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท เช่น มาตรการการป้องกันและควบคุมโรคของรัฐบาล อัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นต้น

ทำให้มีจำนวนยอดผู้ติดเชื้อในประเทศสูง โดยมีผู้เอาประกันมายื่นเคลมสินไหมทดแทนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) คงค้าง 350,000 ราย คิดเป็นค่าสินไหมประมาณเกือบ 30,000 ล้านบาท (เมื่อนับรวมสินไหมกรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ ที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดประมาณ 41,875 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายสินไหมที่สูงถึง 63 เท่าของเบี้ยประกันภัยรับ หรือ 6,300% ซึ่งสูงกว่าการจ่ายสินไหมประเภทอื่นเกือบ 100 เท่า จนกระทั่งบริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ที่ถึงกำหนดดังกล่าว

2.บริษัทได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการดูแลผู้เอาประกันและจ่ายสินไหม โดยได้นำเงินจากกำไรสะสมทั้งหมดมาจ่ายชำระสินไหมทดแทนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไปแล้วเป็นเงินจำนวนมากกว่า 11,000 ล้านบาท

3.จากจำนวนสินไหมทดแทนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่มีจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมทุน บริษัทจึงไม่อาจหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการชำระหนี้ได้ หากยังคงมีภาระหนี้เป็นจำนวนสูงเกินความสามารถทางการเงิน อย่างไรก็ดี ธุรกิจของบริษัทมีพื้นฐานดีและก่อนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ

เนื่องจากบริษัทได้ให้บริการอย่างมีคุณภาพ ยึดมั่นลูกค้าเป็นสำคัญ และประกอบธุรกิจโดยอยู่คู่สังคมไทยมาโดยตลอด

4.บริษัทมีสินทรัพย์ไม่พอกับหนี้สิน (มีหนี้สินล้นพ้นตัว) โดยตามงบการเงินงวดล่าสุด (งบการเงินไตรมาสที่ 1/2565) บริษัทมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์เป็นจำนวนประมาณ 27,225 ล้านบาท

5.การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นทางออกที่ดีที่สุดและเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดเพียงช่องทางเดียว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ผลที่อาจเกิดขึ้นหากบริษัทไม่ได้รับการฟื้นฟูกิจการ

1.บริษัทจะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และต้องหยุดดำเนินธุรกิจ

2.บริษัทจะต้องปิดกิจการหรือล้มละลาย ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อผู้เอาประกันจำนวนมาก รวมทั้งคู่ค้า และบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

3.ภาระหนี้สินไหมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ของบริษัท จะเป็นภาระต่อกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งปัจจุบันขาดสภาพคล่องอย่างมากและยังไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาชำระค่าสินไหมทดแทนกว่าหมื่นล้านบาทแทนบริษัทประกันภัยที่ต้องเลิกประกอบธุรกิจตามกฎหมายจำนวน 4 ราย ก่อนหน้านี้

4.หุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่มีมูลค่า ทำให้นักลงทุน และผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัยโดยรวม

แนวทางการแก้ไขปัญหาและการกลับมาดำเนินธุรกิจในอนาคต

เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากสินไหมทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยโควิดที่มีจำนวนสูงเกินความสามารถของบริษัทที่จะชำระได้ทั้งหมด กระบวนการฟื้นฟูกิจการจึงเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้บริษัทได้เจรจาหาแนวทางการชำระหนี้ที่เหมาะสมให้กับเจ้าหนี้สินไหมกรมธรรม์ประกันภัยโควิด ในขณะที่บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจและให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยกรณีกรมธรรม์ปกติอื่น ๆ ต่อไปได้

กระบวนการฟื้นฟูกิจการจึงเป็นแนวทางออกที่จะทำให้บริษัทแก้ปัญหาสินไหมทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยโควิดที่สูงเกินความสามารถที่จะชำระหนี้ และบริษัทจะสามารถกลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติต่อไปในอนาคต เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

โดยเบื้องต้นทางบริษัทจะร่างแผนเสนอแนวทางการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งจากการศึกษาในเบื้องต้น เป็นไปได้หลายแนวทาง ดังนี้ โดยแนวทางในการชำระหนี้จะได้มีการหารือร่วมกับเจ้าหนี้ในระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

1.การหาแหล่งเงินทุนใหม่และปรับโครงสร้างทุน โดยการเพิ่มทุนจากผู้ร่วมทุนใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการชำระหนี้ และ/หรือ เพื่อปรับโครงสร้างทุนให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

2.การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ การชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้

3.ศึกษาและจัดเตรียมแผนและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจประกันภัยให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
เป็นทุน

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ

1.ความร่วมมือจากเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับแนวทางการชำระหนี้ร่วมกัน

2.ความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน และมูลค่าของกิจการของบริษัท

3.กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนคำสั่งหรือความเห็นของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

4.การสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

5.ความเชื่อมั่นของผู้เอาประกันภัย ตัวแทน นายหน้า คู่ค้าต่าง ๆ ต่อภาพลักษณ์ของบริษัท

6.แนวโน้มอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในอนาคต

7.สภาพเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ บริษัทมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล เพื่อให้บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างต่อเนื่องและปรับโครงสร้างการชำระหนี้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและแก้ไขฐานะการเงิน

บริษัทขอยืนยันว่าบริษัทมีเจตนาที่ดีในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินไหมกรมธรรม์ประกันภัยโควิด โดยการฟื้นฟูกิจการจะเปิดโอกาสให้บริษัท และผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้เจรจาร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการชำระหนี้ที่เหมาะสมและเป็นแนวทางที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จะได้รับการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมากกว่ากรณีที่บริษัทต้องปิดกิจการอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จะได้รับชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทนตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้มีการยอมรับร่วมกัน ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จะมีโอกาสได้พิจารณาและลงมติเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

สำหรับผู้เอาประกันภัยประเภทอื่น เช่น ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและภาคบังคับ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันขนส่งทางทะเล เป็นต้น บริษัทขอให้ความมั่นใจว่าบริษัทจะยังคงให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยตามปกติ และรักษาคุณภาพ ความสะดวกรวดเร็ว ในการให้บริการ