ศุภชัย เจียรวนนท์ กับสูตรปลดล็อกอนาคตประเทศไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” เดินหน้าโปรเจ็กต์ Future Thailand ชวนนักธุรกิจทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่มาร่วมมองอนาคตประเทศไทย ในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ปี 2566 หลังจากที่มีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566

ล่าสุดได้พูดคุยกับ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ในฐานะผู้นำอาณาจักรธุรกิจใหญ่ของประเทศ ที่ครอบคลุมทั้งธุรกิจการเกษตร อาหาร ค้าปลีก รวมไปถึงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการเงิน ที่จะมาสะท้อนมุมคิดถึงโจทย์ขับเคลื่อนประเทศไทย ในโมเดลที่ไม่เหมือนเดิม

โจทย์ใหญ่ “ปฏิรูปภาคเกษตร”

ปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไขในมุมมองของ “ศุภชัย” คือ เรื่องเกษตร โดยเปิดประเด็นว่า เพราะเมืองไทยภาคการเกษตรยังไม่สามารถผ่านยุค 1.0 ไปได้ อาจมีบางส่วนที่ผ่านไป 2.0 หรือทำ smart farming แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถรวมเป็นเกษตรแปลงใหญ่ที่จะทำให้เกิดเป็น “เกษตรอุตสาหกรรม” ได้

พร้อมยกโมเดลการปฏิรูปภาคการเกษตรในต่างประเทศว่า จะทำเป็นระบบสหกรณ์ โดยให้เกษตรกรเป็นแลนด์ลอร์ด เป็นผู้ถือหุ้น แบ่งผลประโยชน์ด้วยความเหมาะสม แต่สหกรณ์ในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จ เพราะหากระบบสหกรณ์ต้องทำ 5 ด้าน คือ การบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยี การทำการตลาด การเพิ่มมูลค่าต่าง ๆ และบริหารการเงิน แต่สหกรณ์ของไทยทำเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว และก็ทำได้ไม่สมบูรณ์

“ตอนนี้ประเทศไทยมีสหกรณ์การเกษตรประมาณ 5,000 แห่ง เทียบเท่ากับจำนวนตำบล แต่ 2 ใน 3 ไม่ประสบความสำเร็จ”

อีกปัญหาสำคัญของภาคเกษตร คือ “เรื่องชลประทาน” จะเห็นว่าไทยมีทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง นั่นหมายความว่า “เรามีน้ำแต่ขาดการบริหารจัดการ” เกษตรกรที่อยู่ใกล้แหล่งชลประทานให้ผลผลิตสูง แต่พื้นที่ห่างไกลจากแหล่งชลประทานก็ทำเกษตรกันแบบตามมีตามเกิด

“ผมมองว่าไทยควรมีการสร้างแหล่งน้ำ สัดส่วนง่าย ๆ คือ 1 ต่อ 10 หมายถึงพื้นที่ 10 ไร่ จะต้องมีแหล่งน้ำ 1 ไร่ ถ้ามองในภาพของพื้นที่ในประเทศ 3,000 ตำบล ต้องทำให้คลัสเตอร์ของ 3,000 ตำบล ให้มีหนองน้ำขนาดใหญ่เอาไว้บริหารจัดการ หรือสามารถที่จะเป็นผู้ลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างรายได้หรือผลผลิตที่สูงขึ้นหลายเท่า สามารถที่จะคืนทุนให้กับการบริหารน้ำและบำรุงรักษาดูแล”

ทั้งนี้ ถ้าเกษตรกรสามารถตั้งเป็นวิสาหกิจ หรือสหกรณ์ขึ้นมา ให้เกิดเป็นองค์กร ที่สามารถต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงได้ เหมือนเป็นบริษัทเอกชน หรือการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมได้อย่างกลุ่มอ้อยและน้ำตาล ที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำเกษตรแปลงใหญ่

ปลดล็อกปัญหาดันจีดีพีเกษตร

“ถ้าเราจะยกระดับประเทศ จากประเทศเกษตรกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรยุคใหม่จะต้องปฏิรูประบบ รูปแบบที่เราน่าจะทำต่อเนื่อง คือ PPP (public private partnership) เดิมเรามีโครงการประชารัฐ ก็สามารถทำเป็นประชารัฐเพื่อการปฏิรูปการเกษตร ซึ่งไม่ใช่จบแค่ 2 เรื่องนี้

เพราะยังมีเรื่องเทคโนโลยี ต้องทำควบคู่กันไป ต้องนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าสินค้า บางคนอาจจะมองว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิต 3-5 เท่า แล้วถ้าผลผลิตออกมามาก สินค้าล้นตลาด ราคาตกจะทำอย่างไร ต้องทำต่อไปถึงการแปรรูป ทำแพ็กเกจจิ้ง ทำการตลาด สร้างแบรนด์ ต่อยอดให้กับสินค้าอาหารไทย”

ปัจจุบันอาหารไทยเป็นสินค้าที่อยู่ระดับต้น ๆ ของโลก ถ้าแต่ละอำเภอ จังหวัด ทำสินค้าแบรนด์ 10 สินค้า นำไปสู่การส่งออก สร้างแบรนด์ เอาแค่นักท่องเที่ยวจีนที่มาเมืองไทยก็พอแล้ว ซื้อของฝากกลับไป นี่คือ “ซอฟต์พาวเวอร์แบรนดิ้ง”

“ถ้าปลดล็อกเรื่องเหล่านี้สร้างระบบนิเวศที่ถูกต้อง เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นมาเอง เหมือนประเทศจีนพอปลดล็อกก็เติบโต จากประเทศที่มีประชากรที่อดอยากค่อนประเทศ กลายเป็นประเทศที่เกือบจะเรียกว่าเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลก หากไทยทำตอนนี้ไม่ช้าไป และที่ผ่านมาก็ถือว่าทำมาพอสมควรหลายด้าน

ภาคเกษตร คิดเป็นประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ ถ้าเราสูญเสียทรัพยากรเหล่านี้ เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ทำเกษตรกัน โอกาสที่ไทยจะเป็นคลังอาหาร เป็นความมั่นคงทั้งระดับภูมิภาคหรือระดับโลกจะหายไปพร้อม ๆ กัน ถ้าแก้ได้จีดีพีเกษตรตอนนี้ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลาไม่นานต้องไปถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ”

ปั๊มคนสายพันธุ์สตาร์ตอัพ 1 ล้านคน

อีกด้านที่สำคัญไม่แพ้กัน “ศุภชัย” ย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำ คือ เรื่องทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เรื่องนี้อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องระยะยาว แต่ต้องเริ่มต้นก่อน ที่ผ่านมายังขาดความต่อเนื่อง และต้องร่วมมือกันหลายกระทรวง หากจำเป็นเราต้องมี “บอดี้” มาขับเคลื่อนเรื่องนี้ อาจจะเรียกว่า “national board of education transition”

แนวทางหนึ่งที่ถือว่าสำคัญมาก ๆ คือ การสร้าง “สตาร์ตอัพ” หากเรามีทุนที่จะให้เขาลองผิดลองถูก อย่างสิงคโปร์ประเทศที่มีความเข้มแข็งมาก มีสตาร์ตอัพประมาณ 50,000 ราย แต่ในเมืองไทยมีประมาณ 1,000 ราย ซึ่งประสบความสำเร็จจริง ๆ อาจไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่หมายถึงคนจำนวนมากที่ได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูกจะทำให้มุมมองของเขาเปลี่ยนไปเลยทั้งชีวิต

“ถ้าเราสามารถพัฒนาสตาร์ตอัพขึ้นมา 20,000 ราย แต่ละรายมีคน 50 คน รวมแล้วเราจะมีคน 1 ล้านคน ที่ถูกเทรนมาให้มองทุกอย่างเหมือนเป็นผู้ประกอบการ และให้มองลงไปถึงการใช้เทคโนโลยี และการสร้างนวัตกรรมในการเปลี่ยนแปลงโลก จะมีโรงเรียนไหนใหญ่กว่านี้ และเขาจะเป็นคนไปดิสรัปต์เอกชนรุ่นเก่าด้วย ทำให้เอกชนเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเขาก็คือเอสเอ็มอี แต่เป็นเอสเอ็มอีด้านเทค”

การพัฒนาสตาร์ตอัพ ช่วยแก้อะไรได้หลายอย่าง แม้กระทั่งเรื่องวัฒนธรรม ถ้าอยู่ดี ๆ มีคนล้านคนมาปลุกเรื่องสตาร์ตอัพ นี่ไม่ใช่เป้าหมายที่ใหญ่เกินไป เรื่องดิจิทัลอีโคโนมี เรื่องคนก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเช่นกัน

4 นโยบายสำคัญขับเคลื่อนประเทศ

“ศุภชัย” สรุปแนวคิดข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลขับเคลื่อน ประกอบด้วยเรื่องการศึกษา การเป็นเทคฮับ ซึ่งเกี่ยวโยงกับสตาร์ตอัพเยอะ และการเป็น innovation center และการปฏิรูปเรื่องการเกษตร และอยากเสนออีกเรื่องคือ การปฏิรูปสื่อ เพราะสื่อเป็นห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดในการหล่อหลอมวัฒนธรรม และต้องพูดว่าสื่อที่ประชาชนเข้าถึงช่วงไพรมไทม์มีไม่กี่ช่องสถานีโทรทัศน์ และคอนเทนต์เหล่านั้นถูกกระจายไปในอินเทอร์เน็ต ด้วยดาราเซเลบริตี้

หากรัฐบาลให้อินเซนทีฟโดยการสนับสนุนเงินทุนสำหรับการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่า ใส่ทั้งเรื่องความรัก ความกตัญญู การซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หลายอย่างที่เป็นคุณค่า เป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ซึ่งปกติการทำละครใช้งบฯลงทุน 50 ล้านบาทต่อไตรมาส ทั้งปีใช้เงิน 200 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลอาจสนับสนุน 400 ล้านบาทต่อช่อง ถ้ามีช่องที่มีคนดู 2-3 ช่อง คือ ใช้เงินประมาณ 1,200 ล้านบาท ให้สื่อทำคอนเทนต์ที่มีคุณค่าแบบนี้ รัฐบาลให้เงินสนับสนุนเลย 50 ล้านบาท แบบได้ต้นทุนไปแล้ว


“เรียกว่า เงิน 1,200 ล้าน ทำให้ประเทศสามารถหล่อหลอมวัฒนธรรมที่ดี สร้างความเข้มแข็งของคนทั้งประเทศ สอดแทรกความภูมิใจในวิชาชีพ หรือสร้างโรลโมเดล ซึ่งผมโชคดีกว่า ผมมีคุณธนินท์เป็นโรลโมเดล แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีคนใกล้ชิดเป็นโรลโมเดล ทุกวันนี้ผมคิดว่าเด็ก ๆ ทุกคนฝันอยากจะเป็นอะเวนเจอร์ เพราะเขาต้องการโรลโมเดล เงิน 1,200 ล้านจึงถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับกรอบความคิดของการดำเนินสังคมอันยิ่งใหญ่” ประธานคณะผู้บริหาร ซี.พี.กล่าวทิ้งท้าย