จดหมายแห่งอนาคต (20) เปลี่ยนขั้วอำนาจในยุค Data

โดย สันติธาร เสถียรไทย

[email protected]

ถึงลูกพ่อ

ในยุคที่พ่อเขียนจดหมายนี้ เรากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคแห่ง data และพ่อได้เล่าให้ฟังไว้ในฉบับที่แล้วว่า ถ้าจะพูดให้ถูกจริง ๆ คือ เป็นยุคแห่งการ “ล่า data” ก็อาจจะว่าได้ ในยุคนี้ผู้ที่มีฐาน data ใหญ่และเข้มข้น พร้อมกับสามารถกลั่นข้อมูลมาเป็นความรู้ได้ ก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน

คำถามที่ตามมาและไม่ถูกนำมาคุยกันเท่าที่ควร คือ ในยุคที่เวทีโลกถูกพลิกอย่างรวดเร็วด้วย data นี้ จะมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจอย่างไรบ้าง และบทบาทนโยบายควรเป็นอย่างไร ?

1.จาก MNC สู่ Platform

พ่อโตขึ้นมาในยุคที่ Multinational Companies (MNC) ยักษ์ใหญ่ในภาคพลังงาน การเงิน และอุตสาหกรรม เป็นเจ้าพ่อครองโลกเศรษฐกิจ นักศึกษาต่างแข่งกันเข้าเรียนหลักสูตร MBA และแย่งกันสมัครเข้าทำงานในบริษัท MNC และ Investment Bank ผู้ประกอบการ SMEs ต่อคิวกันอยากเป็น supplier ของ MNC ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อจะได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลก (global supply chain) ภาครัฐก็ต้องเกรงใจ MNC จะมีมาตรการควบคุมหนักมากก็กลัวเขาจะย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น แม้ว่าบริษัทเหล่านี้บ่อยครั้งจะใช้การโยกย้ายรายได้ไปในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ และร้องขอให้ลดภาระภาษีอีกต่างหาก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลต่าง ๆ อยู่เสมอ

แต่แล้วโลกวันนี้ก็เปลี่ยนไป ในยุคแห่ง Data บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในอเมริกาไม่ใช่ บริษัทและแบงก์ข้ามชาติ พวกนี้อีกต่อไป แต่จะกลายเป็น บริษัทเทคโนโลยี ที่มีลักษณะเป็นแนว platform สร้างพื้นที่ให้ผู้ซื้อ-ผู้ขาย-ผู้ใช้ได้เชื่อมต่อเจอกัน เช่น Google, Amazon, Facebook แม้แต่ในจีนเอง บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Tencent และ Alibaba ก็ได้กลายมาเป็นยักษ์ใหญ่และสามารถแย่งซีนบรรษัทรัฐวิสาหกิจใหญ่ของจีนได้อย่างสบาย ๆ

นักศึกษาถ้าจะเรียน MBA ก็จะอยากไปที่ที่มีวิชา data science ในหลักสูตรด้วย หรือไม่ก็จะเข้าสู่วงการ startup สร้างธุรกิจของตัวเอง แทนที่จะไปต่อคิวสมัครเข้าทำงานใน MNC ใหญ่ ๆ เหมือนเช่นเดิม เกือบจะเรียกได้ว่า อยากไป silicon valley มากกว่า wall streetSMEs อยากเข้าสู่ตลาดโลกก็ยังทำได้ แต่ในรูปแบบที่เปลี่ยนไป คือ แทนที่จะกลายเป็น supplier ในห่วงโซ่การผลิต ก็อาจกลายไปเป็น “บริษัทข้ามชาติขนาดจิ๋ว” ที่มีช่องทางการขายสินค้าให้กับลูกค้าในต่างประเทศได้โดยตรงผ่านตลาดออนไลน์ เช่น Alibaba สามารถลดต้นทุนการทำการตลาดและการขายลงได้ ห่วงโซ่การผลิตโลกจึงอาจจะสั้นลง แต่ “แบนและกว้างขึ้น” ด้วย platform ดิจิทัล

2.ธุรกิจ VS ผู้บริโภค

ปกติคนเรามักจะมองว่ายุคแห่งข้อมูลนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะบริการหลายอย่างกลายเป็นของ “ฟรี” และสามารถ customize ตามความต้องการผู้บริโภคได้มากขึ้น “อาจารย์กูเกิล” และ Wikipedia ทำให้เราสามารถหาข้อมูลจำเป็น ตั้งแต่เรื่องทั่วไป เช่น จะกินข้าวที่ไหน จนไปถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เอาไว้เขียนรายงานวิชาการได้อย่างรวดเร็วทันใจและฟรี e-Commerce platform ต่าง ๆ เช่น Amazon ทำให้เราสามารถหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา พร้อมกับดูการประเมินผลความพึงพอใจของลูกค้าคนอื่นได้ง่าย uber ช่วยเพิ่มช่องทางเลือกในการเดินทาง การวางแผนการเดินทาง และเพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับผู้โดยสาร โดยเฉพาะในยามเร่งด่วนได้

แต่ในขณะเดียวกัน ทั้งในอเมริกาและยุโรป ก็เริ่มมีการตั้งคำถามว่า บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จะเริ่มมีอำนาจเกินไป จนลดการแข่งขันในตลาดลงได้หรือไม่ และแท้จริงแล้ว บริการเหล่านี้ “ฟรี” หรือถูกลงจริงหรือไม่ ? แค่ไหน ?

หากเราคิดรวม data ของเราที่เราเซ็นยินยอมมอบให้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้นำไปใช้ โดย (ส่วนใหญ่) ไม่รู้ตัว หรือพูดง่าย ๆ คือ เราซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ส่วนหนึ่งด้วย data ของเรา แทนที่จะใช้เงินอย่างเดียว เหมือนอย่างที่ Datenmarkt ซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ใช้ data แทนเงินตราอย่างเปิดเผย เช่น ให้คนสามารถซื้อผลไม้กระป๋องได้ด้วยการยินยอมแชร์รูปส่วนตัวของตนกับทางร้าน 5 รูป ฟินเทค WeLab ในฮ่องกง ให้ส่วนลดดอกเบี้ยกับผู้กู้หากยอมให้เข้าไปดู Facebook และ Linkedin Account ของผู้กู้ เป็นต้น ซึ่งคนยุคพ่อจึงกำลังต้องเริ่มถามตัวเองเช่นกันว่า เรา “ขาย data” ของเราถูกไปไหม ?

สิทธิการเป็นเจ้าของ data

เพราะเหตุนี้ กฎหมายสองฉบับในสหภาพยุโรปซึ่งกำลังจะถูกนำมาใช้ จึงมีความน่าสนใจและถูกถกเถียงกันเป็นพิเศษ คือ GDPR (General Data Protection Regulation) และ PSD 2 (Payment Services Direc-tives) โดยกฎหมายทั้งสองฉบับพยายามที่จะโยกอำนาจในการควบคุม data ของตนกลับมาที่ผู้บริโภค

ตัวอย่างเช่น GDPR ได้กำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีที่เอาข้อมูลดิจิทัลของเราไปใช้ ต้องเปิดให้เราเข้าไปดูได้ว่า data อะไรของเราที่ถูกเอาไปใช้บ้าง ใช้เพื่ออะไร และเราต้องสามารถขอถอนคำยินยอมให้ใช้ data ได้อย่างง่ายดายด้วย

ในขณะที่ PSD 2 กำหนดให้พวกธนาคารทั้งหลายที่มีข้อมูลของลูกค้าอยู่ หากมีบริษัทฟินเทคมาขอข้อมูลของลูกค้าที่ธนาคารเก็บไว้ไปใช้ สิทธิในการตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่คุณ (ธนาคาร) แต่อยู่ที่ตัวลูกค้า หากลูกค้าบอกให้เปิดเผยข้อมูลได้ ธนาคารก็ต้องเปิด API ของตน ให้เชื่อมกับของฟินเทคนั้น พ่อยังคิดไม่ออกว่ากฎหมายเหล่านี้จะถูกบังคับใช้อย่างไร แต่แนวทางที่เห็นก็คือ กฎหมายเริ่มต้องหันมาคุ้มครองสิทธิในการใช้ data ของเรามากขึ้น

3.นายจ้าง vs ลูกจ้าง

หลายคนมองว่ายุค data โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ sharing economy นั้น น่าจะดีกับ “ลูกจ้าง” เพราะสร้างความยืดหยุ่นให้กับแรงงาน คนมีรถสามารถกลายมาเป็นคนขับ uber คนมีบ้านสามารถเปิดให้เช่าบ้านผ่าน Airbnb นักเรียนหรือผู้เกษียณแล้วอาจรับงานเป็นชิ้น ๆ สร้างรายได้พร้อมกับทำอย่างอื่นไปด้วย โดยที่ตัวอาจไม่ต้องอยู่ในเมืองเดียวกันกับนายจ้างด้วยซ้ำ หรือบางทีที่เรียกกันในชื่อแปลก ๆ ว่า gig economy คือ แต่ละงานเป็นเสมือน “กิ๊ก” คือ กิจกรรมสั้น ๆ ชั่วคราว

แต่ในทางกลับกัน หากการจ้างงานเป็นแบบกิ๊กระยะสั้นชั่วคราวกันหมด อำนาจของสหภาพแรงงานต่าง ๆ ก็อาจลดลง การรวมตัวกันต่อรองกับนายจ้างก็อาจจะยากขึ้น นายจ้างอาจกลายเป็นมีอำนาจมากขึ้น ลูกจ้างคนไหนบ่นมากก็ไปหาลูกจ้างชั่วคราวมาแทนที่ได้ เลยทำให้การเพิ่มค่าแรงของลูกจ้างนั้นยิ่งยากกว่าเดิม

อีกโจทย์ที่ทางสิงคโปร์กำลังครุ่นคิดก็คือ หากงานในอนาคตกลายเป็นงานที่มีเวลาจ้างงานสั้นลง เปลี่ยนงานบ่อย ๆ แล้ว จะมีผลกระทบต่อระบบสวัสดิการสังคมเช่นไร หากงานเหล่านี้ไม่ได้อยู่ “ในระบบ” อาจได้รายได้ดีขณะที่ทำงานอยู่ แต่อาจไม่ช่วยออมเงินสำหรับยามป่วย หรือชราภาพเหมือนกับงานประจำในยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าในยุคของ data การจ้างงานโดยรวมอาจมีน้อยลง โดยเฉพาะแรงงานที่ทักษะไม่สูง และงานเป็นงานซ้ำ ๆ ที่ถูกปัญญาประดิษฐ์แทนที่ได้ง่าย อีกทั้งบริษัทเทคโนโลยีสามารถให้บริการแบบ cross border ได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องมาลงทุนในประเทศที่ตนเองอยากจะขายของเสมอไป ในเอเชีย Google เองก็มี data center แค่ในสิงคโปร์และไต้หวัน และบริษัทต่าง ๆ ที่เคยต้องลงทุนมีแผนก IT ของตนเอง ก็อาจไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไป เพราะใช้ cloud service แทนได้

แค่คิดถึงสามมิติของการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจในยุคแห่ง data นี้ พ่อก็ปวดหัวแล้ว เพราะว่ามีโจทย์ทางนโยบายและธุรกิจให้ต้องคิดต่ออีกมากมาย คราวหน้ามาคุยกันต่อว่า ยุคแห่งข้อมูลนี้จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (1) ตอน : ลงทุนกับลูกให้ทันโลก 4.0

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (2) ตอน : การศึกษากับโลกเทคโนโลยี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (3) ตอน : มหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไป

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (4) ฤๅโลกมหาวิทยาลัยจะเดินตามโลกดนตรี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (5) “รถไฟ” แห่งเทคโนโลยีกับผู้ถูกทิ้งไว้ที่ “ชานชาลา”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (6) MOOC เป็นตั๋วให้ผู้ตกขบวนรถไฟได้หรือไม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (7) พิษร้ายความไม่เท่าเทียมกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (8) เคล็ดการเรียนรู้ตลอดชีพ

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (9) การเสื่อมอำนาจของอเมริกาและอนาคตการค้าโลก

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (10) กับดัก Kindleberger “จีน” เป็นผู้นำใหม่แทน “อเมริกา” ได้ไหม ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (11) ภาพร่างโลกาภิวัตน์ลายมังกร

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (12) ทำไมโครงการรถไฟ “ไฮสปีด” อาจเดินหน้าแบบ “สโลโมชั่น”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (13) อุปสรรคสู่ทางสายไหมของจีน

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (14) ยุคของอเมริกาเสื่อมลงแล้ว ดอลลาร์จะเสื่อมลงหรือยัง ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (15) “หยวน” ขึ้นบัลลังก์แทน “ดอลลาร์” ได้หรือไม่ ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (16) แบงก์ชาติยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคเงินดิจิทัล

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (17) ธนาคารพาณิชย์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ในยุคเงิน Cryptocurrency

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (18) ยุคแห่ง Data กับโลกาภิวัตน์โฉมใหม่


คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (19) เปิดประตูยุคแห่งการล่า Data