จดหมายแห่งอนาคต (19) เปิดประตูยุคแห่งการล่า Data

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ

ในตอนที่แล้วเราคุยกันไว้ถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่นำคนยุคพ่อเข้าสู่ยุคแห่งข้อมูล แต่คำถามต่อไปก็คือ เวทีการแข่งขันในยุคของข้อมูลที่ว่านั้น หน้าตามันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และควรมีนโยบายเพื่อรับมืออย่างไร

การ “ล่า” data

เวทีแข่งขันที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน

ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างก็ยอมรับถึงคุณค่าและความสำคัญของ data บ้างก็เรียกว่า “data คือ น้ำมัน” ของโลกยุคใหม่ บ้างก็ว่า “data คือ สินทรัพย์” แต่โดยส่วนตัว พ่อมองว่าข้อมูลนั้นมีความคล้ายคลึงกับน้ำมันมากกว่าสินทรัพย์ เพราะข้อมูลนั้นมีลักษณะพิเศษ คือ ไม่ใช่ว่าจะมีค่าเมื่ออยู่ในมือของใครก็ตามเหมือนกับทองคำ แต่จะมีค่ามาก-น้อยขึ้นอยู่กับว่าคนที่ครอบครอง data นั้นสามารถนำไป “กลั่น” เอา “ความรู้” ออกมาจากข้อมูลได้มากแค่ไหน และเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน เปรียบเสมือนว่าหากเราไม่มีเทคโนโลยีและเครื่องมือในการกลั่น ก็ไม่สามารถดึงมูลค่ามหาศาลที่ถูกซ่อนอยู่ในน้ำมันดิบมาใช้ประโยชน์ได้

และคล้ายกับโลกของน้ำมัน บริษัทเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการกลั่นข้อมูลได้ ก็เริ่ม “ล่า” ทั้งค้นหา ขุด โปรยเงินเพื่อให้ได้ data เหล่านี้มาครอบครอง แต่เพราะ data ไม่เหมือนกับสินทรัพย์ที่มีราคาซื้อขายในตลาดและเปลี่ยนมือกันได้ง่าย ๆ ดังนั้น การล่า data จึงมักจะเกิดขึ้นมาพร้อมกับกระแสการซื้อบริษัทและสร้างพันธมิตรของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้า (Mergers and Acquisitions)

ตัวอย่างเช่น IBM ที่ใช้เงินเป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในการซื้อ The Weather Company เมื่อปี 2015 เพื่อให้ได้แหล่งข้อมูลภูมิอากาศมาครอบครอง หรือการทำสัญญาแลกเปลี่ยนข้อมูลคนไข้บางส่วนระหว่าง NHS ระบบสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษกับ Deepmind ของ Alphabet/Google

ขยับเข้ามาดูตัวอย่างใกล้ตัวกันสักหน่อย มียักษ์ใหญ่ e-Commerce ของจีนที่ห้ำหั่นกันเข้าลงทุนในบริษัทเรียกรถรับส่ง อย่างเช่น Grab, Didi Chuxing ที่ชนะ Uber ได้ในจีน Go Jek ในอินโดนีเซีย โดยหากเข้าไปครองตลาดนี้ได้ ก็อาจมีประโยชน์สองสามเด้ง คือ ได้ทั้งข้อมูลคนขับรถ ข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร

และในกรณีของจีน ผู้โดยสาร Didi Chuxing ยังสามารถใช้ระบบชำระเงินของยักษ์ใหญ่ e-Commerce เช่น Alipay หรือ Tenpay ได้อีก โดยไม่ต้องใช้เงินสด จึงเป็นการเพิ่ม use case และ user ให้ระบบชำระเงินเหล่านี้เพื่อเพิ่ม data การใช้จ่ายที่สะท้อนภาพการเงินของคนโดยสารอีกเด้งหนึ่ง ซึ่งสามารถนำข้อมูลการชำระเงินนี้ไปใช้พัฒนาเป็นข้อมูลประกอบการปล่อยสินเชื่อกับบริการทางการเงินอื่น ๆ ได้ เช่นที่ Ant Financials ของ Alibaba และอีกหลายเจ้าทำสำเร็จมาแล้ว

พ่อจึงมองการแข่งขันของธุรกิจในยุค data ว่ามีความซับซ้อน มีการสับขาหลอกกันหลายชั้นขึ้นมาก ดูผิวเผินเหมือนแข่งกันรับผู้โดยสาร แต่จริง ๆ แล้ว แฝงการเพิ่มจำนวนคนที่มาใช้ระบบชำระเงินของตน ดูเหมือนแข่งเรื่องระบบ payment แต่หากติดระบบจ่ายเงินของเราแล้ว ก็จะขายของผ่าน platform e-Commerce ต่อไปได้ไม่ยาก เหมือนจะแข่งกันขายของ แต่สุดท้ายก็มีเป้าหมายที่มุ่งจะเอาข้อมูลคนซื้อไปใช้วิเคราะห์เพื่อปล่อยกู้หรือทำธุรกิจการเงิน หากคู่แข่งรายใดตามไม่ทัน ก็เสียทางแพ้เกมได้ง่าย ๆ

มี data ล่าเทคโนโลยี

ในทางกลับกันบริษัท ธนาคาร โรงพยาบาล หรือองค์กรจำนวนมาก ที่นั่งอยู่บนแหล่ง data “บ่อน้ำมัน” ที่มีมูลค่ามหาศาล แต่ไม่เคยมีเทคโนโลยีที่จะดึงหรือกลั่นความรู้หรือคุณค่าจากข้อมูลออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ต่างก็เริ่มตื่นตัว และลงทุนหาคนและเครื่องมือเพื่อมาทำ big data analytics เช่น ปัญญาประดิษฐ์สาย deep learning เพื่อปลดล็อกคุณค่าของข้อมูลที่ตนมี เปรียบเสมือนคนที่เพิ่งรู้ว่าที่ดินของตนเป็นแหล่งน้ำมันขนาดยักษ์ก็ว่าได้

วงการหนึ่งใกล้ตัวพ่อที่เห็นเทรนด์นี้อย่างชัดเจน ก็คือภาคการเงิน โดยธนาคารต่าง ๆ ที่มี data อยู่มากมายได้เริ่มตื่นตัวและพยายามลงทุน ซื้อ จับมือ และสร้าง fintech startup ให้เข้ามาอยู่ในอ้อมแขนของตน เพราะนอกจากจะช่วยพัฒนาความสามารถของตนเองในการใช้ data ให้ได้เต็มที่ยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการซื้อคู่แข่งอนาคตก็คือกลุ่ม fintech startup นี้ไว้ก่อน เหมือนดั่งคำกล่าวที่ว่า keep your friends close, enemies closer อีกด้วย

ข้อมูลของใครใช้เพื่อใคร

ใครรับผิดชอบ

แน่นอนว่าลูกคงเดาได้ว่า ไม่ใช่ทุกคน ทุกองค์กร จะหาเทคโนโลยีมา “กลั่น” ข้อมูลดิบออกมาเป็นองค์ความรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ และก็ไม่ใช่ว่าทุกองค์กรจะยินดีเปิดให้คนอื่นที่มีเทคโนโลยีมาใช้แหล่งข้อมูลที่มีค่าของตน คล้ายคลึงกับในโลกของน้ำมันที่ถึงแม้ว่าบ้านของตนจะตั้งอยู่บนบ่อน้ำมัน แต่ขุดมากลั่นใช้ไม่เป็น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเจ้าของบ้านจะยอมขายบ้านหรือเปิดสัมปทานให้คนอื่นที่มีเทคโนโลยีมาขุดเจาะและกลั่นได้เสมอไป

ดังนั้น พ่อจึงคิดว่ามีประเด็นทางนโยบายที่น่าสนใจในยุคแห่งการล่า data อย่างน้อยสามข้อ

ข้อแรก คือ ประเด็นความรับผิดชอบในการปกป้องข้อมูล ที่มีทั้งประเด็นของ data privacy และ data security ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของกฎหมายด้วย เช่น ถ้าข้อมูลนั้นถูกแฮกรั่วไหล หรือนำไปใช้ในทางที่ผิด ใครต้องเป็นคนรับผิดชอบ เจ้าตัวผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลมีสิทธิร้องเรียนได้หรือไม่

ข้อสอง ซึ่งผูกโยงกับข้อแรกด้วย คือ ข้อมูลนั้นเป็นของใคร ใครเป็นผู้มีสิทธิเลือกในการเปิดเผย และใครควรได้ประโยชน์

ข้อสาม คือ ผลกระทบของการใช้ data ต่อการแข่งขันและผู้บริโภค หากผู้ล่าสะสม data ได้มหาศาล จนกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอำนาจผูกขาดตลาดได้ (และอาจเป็นบริษัทต่างชาติด้วย) บทบาทของภาครัฐในการควบคุมดูแลควรเป็นอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนในอเมริกาและยุโรปในขณะนี้ และสำหรับประเทศไทยก็น่าคิดมาก เพราะยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีของจีนกำลังโหมเข้ามาอาเซียนอย่างชัดเจน

คราวหน้าเรามาดูกัน ว่าประเทศอื่นเขาคิดอย่างไรกันบ้าง เกี่ยวกับเรื่องประเด็นทางนโยบายเหล่านี้ แล้วมีอะไรเป็นข้อคิดให้ประเทศเราบ้าง

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (1) ตอน : ลงทุนกับลูกให้ทันโลก 4.0

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (2) ตอน : การศึกษากับโลกเทคโนโลยี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (3) ตอน : มหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไป

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (4) ฤๅโลกมหาวิทยาลัยจะเดินตามโลกดนตรี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (5) “รถไฟ” แห่งเทคโนโลยีกับผู้ถูกทิ้งไว้ที่ “ชานชาลา”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (6) MOOC เป็นตั๋วให้ผู้ตกขบวนรถไฟได้หรือไม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (7) พิษร้ายความไม่เท่าเทียมกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (8) เคล็ดการเรียนรู้ตลอดชีพ

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (9) การเสื่อมอำนาจของอเมริกาและอนาคตการค้าโลก

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (10) กับดัก Kindleberger “จีน” เป็นผู้นำใหม่แทน “อเมริกา” ได้ไหม ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (11) ภาพร่างโลกาภิวัตน์ลายมังกร

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (12) ทำไมโครงการรถไฟ “ไฮสปีด” อาจเดินหน้าแบบ “สโลโมชั่น”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (13) อุปสรรคสู่ทางสายไหมของจีน

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (14) ยุคของอเมริกาเสื่อมลงแล้ว ดอลลาร์จะเสื่อมลงหรือยัง ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (15) “หยวน” ขึ้นบัลลังก์แทน “ดอลลาร์” ได้หรือไม่ ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (16) แบงก์ชาติยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคเงินดิจิทัล

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (17) ธนาคารพาณิชย์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ในยุคเงิน Cryptocurrency

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (18) ยุคแห่ง Data กับโลกาภิวัตน์โฉมใหม่