จดหมายแห่งอนาคต (18) ยุคแห่ง Data กับโลกาภิวัตน์โฉมใหม่

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ

ที่ผ่านมาพ่อเล่าให้ฟังว่าชะตาของการค้าโลกกำลังจะพลิกโฉมไปอย่างรวดเร็ว เมื่อความไม่เท่าเทียมกันได้จุดกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ให้เริ่มแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น อีกทั้งขั้วอำนาจโลกก็กำลังค่อย ๆ ขยับจากสหรัฐอเมริกาไปสู่จีน

แต่ต้องบอกก่อนเลยว่า ภาพร่างของโลกาภิวัตน์ยุคใหม่นั้นยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังขาดมิติที่สำคัญที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งจะมีผลกับกลไกการค้าโลกไม่น้อยไปกว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของโลกเลยทีเดียว

เทคโนโลยีทำการค้าแบบเก่าเริ่มฝืด

พ่อโตขึ้นมากับยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้การค้าโลกนั้นเฟื่องฟู ในช่วงปี ค.ศ. 1980-2000 อัตราการเติบโตของการค้าโลกรวดเร็วกว่าการเจริญเติบโตของ GDP โลกถึง 2 เท่า ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งก็คือ การสื่อสารและคมนาคมขนส่งที่ถูกลง ทำให้บรรษัทข้ามชาติ หรือ transnational companies สามารถสร้าง global value chain หรือห่วงโซ่การผลิต โดยกระจายการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปทั่วโลก กระจายให้ขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานมากไปอยู่ในประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำ เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน

ตัวอย่างเช่น Apple iPhone ที่พ่อใช้เขียนจดหมายนี้และลูกชอบดึงไปเล่นนั้น ไม่ได้ถูกผลิตโดยบริษัท Apple ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาอย่างเดียว แต่ห่วงโซ่การผลิตนั้นถูกยืดให้ยาวออกไปกระจายอยู่ในหลายประเทศ เช่น อเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และจีน เพราะฉะนั้นการสร้างโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง จึงมีการค้าข้ามประเทศกลับไปกลับมาหลายรอบ เสมือนเกมบาสเกตบอลที่ต้องให้เราส่งลูกบอลระหว่างคนในทีมของเราหลาย ๆ ครั้ง ก่อน “ชู้ตเข้าห่วง” (คือขายให้กับลูกค้าคนสุดท้ายที่ซื้อโทรศัพท์)

แต่มาวันนี้เทคโนโลยีเริ่มพลิกผันไปอีก และคลื่นระลอกใหม่นี้อาจมีส่วนทำให้ “ห่วงโซ่การผลิต” นั้น สั้นลง ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้สามารถใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนในหน้าที่งานที่ซ้ำไปซ้ำมาและใช้ทักษะไม่สูงได้อย่างง่ายดาย

ไม่นานมานี้ บริษัท Foxconn ผู้ผลิตโทรศัพท์ Apple ได้ประกาศหลายครั้งถึงความมุ่งมั่นที่จะลดคนงาน แล้วแทนที่ด้วยเครื่องจักรทั้งในโรงงานในจีนและในประเทศต่าง ๆ เมื่อสัดส่วนของต้นทุนแรงงานในการผลิตลดลง การแยกร่างไปผลิตชิ้นส่วนบางส่วนในประเทศที่ค่าจ้างแรงงานถูกก็ไม่จำเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

ในขณะที่ 3D printing นั้น สามารถลัดห่วงโซ่การผลิตได้ จากขั้นตอนการดีไซน์ไปยังขั้นตอนการผลิตรวดเดียว ด้วยการส่งข้อมูลจากการดีไซน์ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลไปยัง 3D printer ให้ “พิมพ์” ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่มี ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ผลิตเสื้อผ้าและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้ว และในอนาคตก็น่าจะสามารถพัฒนาจนทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ปริมาณมากในราคาถูกได้

ในโลกที่ 3D printing เฟื่องฟู ผู้ผลิตน่าจะอยากไปอยู่ใกล้ประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ เพื่อให้รู้จักรสนิยมของลูกค้าและส่งผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภคได้โดยง่ายและรวดเร็ว การที่จะไปตั้งโรงงานผลิตกระจายอยู่ในหลาย ๆ ประเทศก็หมดความจำเป็นลง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เสมือนเกมบาสเกตบอล ที่เรามีซูเปอร์สตาร์มือฉมังอยู่ในทีมจนส่งลูกครั้งเดียวให้จบได้คะแนนแท้แน่นอน ไม่ต้องส่งกลับไปกลับมาให้เสียเวลา แต่ต้องไม่ลืมว่าการส่ง “ลูกบอล” กลับไปกลับมานั้น คือ สิ่งที่ถูกบันทึกว่าเป็น “การค้าระหว่างประเทศ” เพราะฉะนั้นหากมีการส่งลูกบอลน้อยลงการค้าโลกก็อาจจะลดลงไปด้วย

การไหลเวียนของสินค้า

เป็นการไหลเวียนข้อมูล

หากแต่การส่งสินค้าข้ามประเทศน้อยลง ไม่ได้แปลว่าเครื่องจักรแห่งโลกาภิวัตน์นั้นสูญสลายไปหมด เพียงแต่อาจมีเปลี่ยนโฉมพร้อมกับยกเครื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่อีกครั้ง

ในอดีตโลกาภิวัตน์เคยผลัดใบมาหลายครั้ง รอบที่แล้วอาจพูดได้ว่าเป็นการเปลี่ยนจาก การค้าสินค้าไปสู่การค้าการเงิน โดยการไหลเวียนของการเงินทุนเริ่มไม่ผูกกับการค้าสินค้า แต่การเงินได้แยกตัวออกจากการค้า ไปมีชีวิตของตัวเองซึ่งขึ้นอยู่กับผู้บริหารกองทุนทั้งหลายทั่วโลก

สำหรับคลื่นลูกใหม่ในยุคของพ่อปัจจุบันนี้ ก็คือการไหลเวียนของข้อมูล หรือ data ที่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ไว้หน้าการค้าการลงทุนข้ามประเทศที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ Mckinsey Global Institute (MGI) ได้ประเมินว่าการไหลเวียนของ data ข้ามประเทศกำลังเติบโตในอัตรา 50 เท่าเมื่อเทียบกับเมื่อสิบปีที่ผ่านมา มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่ง ประมาณการว่าในปี 2025 ข้อมูลที่สะสมทั่วโลกจะมีเทียบเท่ากับหนึ่งล้านล้านห้องสมุด หรือถ้า data ทั้งหมดนี้เป็นเพลง เราจะได้นั่งฟังต่อเนื่องกันไปได้ยาวถึง 3.3 แสนล้านปี !

แล้วการไหลเวียนของ data ที่มหาศาลนี้มาจากไหน ?

ข้อหนึ่ง-มาจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีกิ่งก้านสาขาทั่วโลกสื่อสารกันและบริหารงานข้ามประเทศ

ข้อสอง-มาจากการค้าโลก ซึ่งปัจจุบันคนกว่า 350 ล้านคนใช้ e-Commerce ซื้อสินค้าบริการข้ามประเทศ ทั้งนี้ MGI ยังประเมินอีกว่า 12% ของการค้าโลกในปัจจุบันเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม e-commerce ทำให้เกิดธุรกิจ micro multinational enterprise ขึ้น หรือธุรกิจเล็ก ๆ ที่กลายเป็นธุรกิจข้ามชาติได้ อย่างที่ Hal Varian นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Google เคยพูดไว้เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว นอกจากนี้ การค้าทุกวันนี้ยังมี digital decoupling คือ สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกดิจิทัล โดยไม่ต้องมีการเคลื่อนย้ายทางวัตถุ

รูปแบบแรก คือ การค้าทางสินค้ากลายเป็นการค้าทางบริการตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็เช่น การ stream ดูหนังโดยไม่ต้องซื้อขาย DVD ข้ามประเทศ เมื่อ Netflix คิดค้นระบบสมัครสมาชิกแบบเสียค่าบริการแล้วให้คน stream หนังกับซีรีส์ตามช่องทางออนไลน์ได้ตามใจชอบ บริษัทก็สามารถทะลวงตลาดขยายฐานลูกค้าเพิ่มไป 190 ประเทศผ่านระบบ cloud สาธารณะได้อย่างรวดเร็ว

อีกรูปแบบก็คือ การให้บริการข้ามประเทศสามารถทำได้โดยไม่ต้องเดินทางข้ามประเทศ เช่น การศึกษาสามารถเรียนได้จากออนไลน์ตาม Massive Open Online Courses-MOOC การรักษาพยาบาลอาจสามารถทำได้ผ่านช่องทางออนไลน์และโทรศัพท์หรือ telemedicine งานดีไซน์ปกหนังสืออาจจ้างคนผ่านตลาดงานออนไลน์ อย่าง Amazon Mechanical Turk หรือ freelancer.com และการผลิตอาจทำได้ด้วย 3D printing มีเพียงข้อมูลดิจิทัลที่วิ่ง “ข้ามประเทศ”

ข้อสาม-มาจากการที่คนทั่วไปสร้างเครือข่ายสื่อสารกันทางโซเชี่ยเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊กที่มีผู้ใช้มากกว่าประชากรของจีนแล้ว

ข้อสี่-เทคโนโลยี internet of things กำลังทำให้ไม่ใช่เพียงแต่คนที่พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้เท่านั้น แต่แม้กระทั่งพืช สิ่งของ ก็สามารถ “สนทนา” กันได้เมื่อเซ็นเซอร์ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ของบ้านที่เราอยู่ รถที่เราขับ พืชผักที่เราปลูก อวัยวะที่อยู่ในตัวเรากลายเป็นข้อมูลดิจิทัลแลกเปลี่ยนกันได้ และจะนำไปสู่การสร้างสังคมอัจฉริยะ (คือมี smart home, autonomous vehicle, smart farming ทุกอย่างเป็นอัจฉริยะ..แล้วคนล่ะ ?)

ขุมทรัพย์ที่ชื่อ data

ทุก ๆ อย่างจึงมี digital footprint เหมือนเด็กที่กินขนมปังกรอบไปไหนก็มีเศษขนมปังเป็นร่องรอยตาม กลายเป็นแหล่งข้อมูลมหาศาล และเมื่อเราได้พัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์ประยุกต์ใช้ข้อมูลปริมาณมหาศาล (big data) ทั้งหลายเหล่านี้ “เศษขนมปัง” เหล่านี้ก็เปลี่ยนเป็นขุมทรัพย์ในทันที จนมีนักวิเคราะห์อนาคตหลายท่านมองว่า Data is the new oil หรือ ข้อมูลคือน้ำมันของยุคใหม่ บ้างก็มองว่า Data is the new asset หรือสินทรัพย์รุ่นใหม่ที่เราอาจสามารถซื้อขายได้

แต่ data จะเป็นสินทรัพย์หรือน้ำมันกันแน่ ? ใครจะเป็นผู้กุมอำนาจในยุคโลกาภิวัตน์ใหม่นี้ ผู้บริโภคหรือบริษัทแบบไหนกันแน่ ? มาลองคิดกันต่อตอนหน้า

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (1) ตอน : ลงทุนกับลูกให้ทันโลก 4.0

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (2) ตอน : การศึกษากับโลกเทคโนโลยี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (3) ตอน : มหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไป

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (4) ฤๅโลกมหาวิทยาลัยจะเดินตามโลกดนตรี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (5) “รถไฟ” แห่งเทคโนโลยีกับผู้ถูกทิ้งไว้ที่ “ชานชาลา”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (6) MOOC เป็นตั๋วให้ผู้ตกขบวนรถไฟได้หรือไม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (7) พิษร้ายความไม่เท่าเทียมกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (8) เคล็ดการเรียนรู้ตลอดชีพ

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (9) การเสื่อมอำนาจของอเมริกาและอนาคตการค้าโลก

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (10) กับดัก Kindleberger “จีน” เป็นผู้นำใหม่แทน “อเมริกา” ได้ไหม ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (11) ภาพร่างโลกาภิวัตน์ลายมังกร

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (12) ทำไมโครงการรถไฟ “ไฮสปีด” อาจเดินหน้าแบบ “สโลโมชั่น”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (13) อุปสรรคสู่ทางสายไหมของจีน

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (14) ยุคของอเมริกาเสื่อมลงแล้ว ดอลลาร์จะเสื่อมลงหรือยัง ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (15) “หยวน” ขึ้นบัลลังก์แทน “ดอลลาร์” ได้หรือไม่ ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (16) แบงก์ชาติยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคเงินดิจิทัล

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (17) ธนาคารพาณิชย์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ในยุคเงิน Cryptocurrency