เทียบทุกคำวินิจฉัย คดีนักการเมืองถือหุ้นสื่อ พิธา จะถูกตัดสิทธิหรือไม่

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

สิ่งที่จะทำให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พลาดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มากที่สุด

มิใช่การไม่ยกมือโหวตให้ของ ส.ว. 250 คน หากเป็นปมการ “ถือหุ้นไอทีวี” 42,000 หุ้น ซึ่งจะเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. จนถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเรื่องการห้ามถือหุ้นสื่อไว้อยู่ในมาตรา 98 (3) ซึ่งว่าด้วยคุณสมบัติที่ห้ามลงสมัคร ส.ส. โดยระบุว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”

นอกจาก มาตรา 98 (3) เรื่องถือหุ้นสื่อ เป็น “คุณสมบัติต้องห้าม” ของ ส.ส. ยังเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) อีกด้วย

ถ้าบรรทัดสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “พิธา” ถือหุ้นสื่อจริง มีสิทธิโดนสองเด้ง

แต่ก่อนอื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องมีมติส่งคำร้องของ “พิธา” ที่ร้องโดย “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” จากพรรคพลังประชารัฐ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน จึงจะเข้าสู่กระบวนการ

“เรืองไกร” แสดงความมั่นใจว่า กกต.จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน

หลังจาก “เรืองไกร” ย่องเงียบ เข้าให้คำชี้แจงต่อ กกต. เมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ย้อนอดีตกฎห้ามถือครองหุ้นสื่อ

ปมห้าม “นักการเมือง” ถือครองหุ้นสื่อ เกิดขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้ ปรากฏอยู่ในมาตรา 48

“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว”

โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ เป็นประธาน หยิบตุ๊กตาการครอบงำสื่อในรัฐบาลไทยรักไทยมาเป็นตัวแบบในการยกร่างรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น ของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น เข้าถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) ซึ่งเป็นผู้ร่วมสัญญาการดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (UHF) กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไอทีวี ต่อจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดอำนาจรัฐบาลไทยรักไทย พร้อมฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ทิ้ง แล้วจึงมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้นมาใหม่ การห้ามนักการเมืองถือครองหุ้นสื่อจึงปรากฏขึ้นนับแต่นั้น

คดีหุ้นสื่อในศาลรัฐธรรมนูญ

ปี 2553 คดีถือครองหุ้นต้องห้าม โดยเฉพาะหุ้นสื่อเกิดขึ้นครั้งแรก

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12-14/2553 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ศาลรัฐธรรมนูญ มีการวินิจฉัยคุณสมบัติของ หม่อมราชวงศ์ กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี

เนื่องจากถือหุ้น เทเลโฟนแอนด์เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2551 จำนวน 50,000 หุ้น

ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่า ทีทีแอนด์ทีจำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์ โดยได้รับสัมปทาน จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ชื่อบริษัท ทีโอทีจำกัด (มหาชน) มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งนอกจากจะเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐแล้ว ยังเป็น บริษัทที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมอีกด้วย จึงเป็นบริษัทอันมีลักษณะเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 265 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 48

ผลจากคำวินิจฉัยทำให้ หม่อมราชวงศ์ กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี ต้องพ้นตำแหน่ง ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน

และจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ เกิดแนวคำวินิจฉัยอย่างหนึ่งที่ถูกอ้างถึงกับกรณีของ “พิธา” คือ

“รัฐธรรมนูญห้ามการเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้าม โดยไม่ได้ระบุว่า จะต้องถือหุ้นจำนวนเท่าใดและไม่ได้ระบุว่า จะต้องมีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่ ฉะนั้น การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียว ก็ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการก็ตาม”

สังเวยธนาธร

ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 ก็ถูกฉีก และรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยกหลักการ-จิตวิญญาณเดิม เรื่องนักการเมืองถือหุ้นสื่อ มาใส่ไว้เช่นเดิม เพียงแต่ตัดคำว่า “โทรคมนาคม” ออก

โดยปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร … เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

ปี 2562 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นคนแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่โดนสอยจากการถือหุ้นสื่อ วี-ลัค มีเดีย จำกัด

คำวินิจฉัยที่ 14/2562 เรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

โดย “ธนาธร” ต่อสู้ว่า วี-ลัค มีเดีย ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน และได้ยุติกิจการไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัย ตอนหนึ่งระบุว่า “ไม่ปรากฏหลักฐานว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้แจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 18 ก่อนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้องโดยมีชื่อผู้ถูกร้องอยู่ในรายชื่อลำดับที่ 1”

“แม้ผู้ถูกร้องจะอ้างว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้หยุดกิจการโดยยุติการผลิตนิตยสาร และเลิกจ้างพนักงานบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นมา รวมทั้งได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หยุดกิจการชั่วคราว ในวันที่ 31 มกราคม 2562 ก็ตาม แต่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ก็ยังสามารถประกอบกิจการเมื่อใดก็ได้”

“ตราบที่ยังมิได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและแจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการ ดังนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงยังคงเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้องโดยมีชื่อผู้ถูกร้องอยู่ในรายชื่อลำดับที่ 1”

พลังประชารัฐรอดก้าวไกลโดน

ต่อมาปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมถือหุ้นสื่ออีกครั้ง หลังจากพิษหุ้นสื่อจาก “ธนาธร” ลุกลามจนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ร้องกันไปมา แต่โฟกัสไปที่ 2 เคส

คำวินิจฉัยที่ 18-19/2563 ในเคสฝ่ายรัฐบาล “ผู้ถูกร้อง” ที่ 20 ภาดาท์ วรกานนท์ พรรคพลังประชารัฐ (ปัจจุบันอยู่พรรคภูมิใจไทย) ที่ถูกร้องว่าถือครองหุนของ บริษัท ทาโร่ทาเลนท์ จำกัด ซึ่งระบุวัตถุประสงค์บริษัท ประกอบกิจการโรงพิมพ์ พิมพ์หรือรับจ้างพิมพ์ ออกหนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือ และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศทุกภาษา

แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า รายได้ของบริษัทในปี 2560  เป็นรายได้ที่มาจากการประกอบกิจการจัดฝึกอบรม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัท ทาโร่ทาเลนท์ จำกัด มิได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

ขณะที่ คำวินิจฉัยที่ 20/2563 ในเคสของฝ่ายค้าน กรณีของนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ถือหุ้นอยู่ในบริษัท เฮด อัพโปรดักชั่น จำกัด ประกอบกิจการและมีรายได้จากกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีส์ รับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายภาพ โฆษณาผลิตภัณฑ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิดในนิตยสาร และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด เคยประกอบกิจการดำเนินการสร้างภาพยนตร์

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แม้จะไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานว่า บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น เคยยื่นคำร้องหรือได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จดแจ้งการพิมพ์ 2550 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ 2551 ก็ตาม

แต่บริษัทย่อมสามารถที่จะดำเนินการขออนุญาตต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการในเรื่องนั้นๆ

“ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน”

ทั้งนี้ ในส่วนของ บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเหตุผลเดียวกันกับ บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด

หุ้นสื่อในศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง

นอกจากคดี “หุ้นสื่อ” ที่ชี้ชะตากันในศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ยังต้องวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ด้วย จึงทำให้ผู้สมัครบางรายต้องโดนตัดสิทธิการลงสมัคร

สำหรับเคสที่เป็น “ปฐมบท” ของการร้องหุ้นสื่อหลังเลือกตั้งปี 2562 คือ คำวินิฉัยศาลฎีกา ที่ 1706/2562 เมื่อ วันที่ 19 เดือนมีนาคม 2562

กรณีนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร เขต 2 พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยศาลฎีกา ตีความตามตัวอักษร โดยระบุว่า แม้นายภูเบศวร์ อ้างว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์

แต่ไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ จึงฟังไม่ขึ้น แม้ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส แล้ว แต่เป็นระยะเวลาหลังจากผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว

จึงต้องถือว่า ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้คัดค้านยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลอันมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติดังกล่าว และไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คำร้องของผู้ร้อง (กกต.สกลนคร) ฟังขึ้น

กับอีกเคสในการเลือกตั้ง 2566 ที่ตกเป็น “คดีตัวอย่าง” ให้นำมาอ้างถึงกรณีถือหุ้นสื่อของ “พิธา”

คือ กรณีของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ศาลฎีกาสั่งให้คืนสิทธิเลือกตั้ง ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจาก ถือหุ้นในบริษัท เอไอเอส 200 หุ้น ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ

เพราะเอไอเอสลงทุนกับ 2 บริษัท คือ บริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัท เยลโล่ เพจเจส คอมเมอรส์ จํากัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ ลต สสข 24/2566 วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ระบุตอนหนึ่งว่า

คดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องมีหุ้นในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) จํานวนเพียง 200 หุ้น จากจํานวนหุ้นที่ชําระแล้วทั้งหมด 2,973,925,791 หุ้น และมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ตามราคาตลาด ณ สิ้นปี 2565 เป็นเงิน 579,971,000,000 บาท

ในขณะที่หุ้นของผู้ร้องมีมูลค่าตามราคาตลาดในวันเดียวกัน เป็นเงินเพียง 39,000 บาท การที่ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) จํานวนเพียง 200 หุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ผู้ร้องย่อมไม่มีอํานาจสั่งการให้ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ดําเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้อง หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น

เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของผู้ร้องหรือพรรคการเมืองของผู้ร้องได้ เนื่องจากผู้ร้องมิใช่เจ้าของหรือมีจํานวนหุ้นในจํานวนมากพอที่จะสามารถกระทําเช่นนั้นได้ การตีความบทบัญญัติของกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร ให้ผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะจองบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) เพียง 200 หุ้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

การที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก จึงเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3)

ถ้า “ถอดรหัส” คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยมาแล้วก่อนหน้า โยงกับเรื่องของหุ้นไอทีวีของ “พิธา” หากไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ อาจมีหนาว ๆ ร้อน ๆ เพราะไอทีวียังมีสภาพเป็นบริษัท ดำเนินกิจการด้านสื่อ

เพียงแต่ขณะนี้ มีการฟ้องร้องอยู่กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จากการที่ สปน. ยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ทำกับ บมจ.ไอทีวี

หากจบลงด้วยการที่ บมจ.ไอทีวีชนะ …

แนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่แล้วในกรณี บริษัท วี-ลัค มีเดีย บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด  และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล อาจตกอยู่ในที่นั่งลำบาก