3 ปี รัฐธรรมนูญใหม่เพื่อไทย ประชามติ-เลือก ส.ส.ร. ใช้งบ 1.3 หมื่นล้าน

เศรษฐา รัฐธรรมนูญ
คอลัมน์ : Politics policy people forum

วาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ถูกยืนยันกลางสภา ผ่านปากคำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ว่า…

“การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น”

“โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไข ในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญ กับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน”

“รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”

ก่อนหน้า “เศรษฐา” กล่าวสัญญาประชาคมในที่ประชุมรัฐสภา ทั้งตัวนายกฯ เศรษฐา ทั้งแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน ต่างกล่าวต่อสาธารณะหลายต่อหลายครั้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก จะมีมติให้ทำประชามติสอบถามประชาชนว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่…ทันที

ดังนั้น “อดิศร เพียงเกษ” สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ว่าที่ประธานวิปรัฐบาล หัวหอกฝ่ายนิติบัญญัติรัฐบาลในสภา จึงกล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อนายกฯแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ถือว่าเป็น “สัญญาประชาคม” เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติ นับ 1 เมื่อไหร่ เราในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ นับ 2 ทันที

ADVERTISMENT

รธน.เพื่อไทย 3 ปี

ก่อนหน้านี้ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และทีมกฎหมายของพรรค ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงขั้นตอนการจัดการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า

การจัดการออกเสียงประชามตินั้น จะต้องมีคำถาม ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะเสนอให้ถามประชาชนว่า

ADVERTISMENT

“เห็นควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่”

ให้คณะรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาปรับแก้คำถาม และเมื่อคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้มีการจัดการออกเสียงประชามติแล้ว กกต.จะต้องดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติ ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่จะต้องไม่เกิน 120 วัน

หากการออกเสียงประชามติ ประชาชนมีมติเสียงข้างมากให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว รัฐสภา ก็จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 256 โดยเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.

ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคาดว่า กระบวนการทั้งหมด น่าจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และเมื่อมีผลประชามติจากประชาชนมาแล้ว ก็มั่นใจว่า รัฐสภา จะสนับสนุน

ถอดรหัสไทม์ไลน์รัฐธรรมนูญ

แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทย ที่เคยร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช… แก้ไขมาตรา 256 ฉายภาพขั้นตอนการทำ รัฐธรรมนูญเพื่อไทย ทำไมต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ดังนี้

ขั้นตอนที่หนึ่ง เมื่อ ครม.มีมติให้ทำประชามติถามประชาชนบนคำถามว่า “เห็นควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่” จะต้องมีการทำประชามติภายใน 3-4 เดือน หลัง ครม.มีมติ

ขั้นตอนที่สอง เมื่อเสียงประชามติส่วนใหญ่ โหวตให้ รัฐบาลเพื่อไทย จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายนิติบัญญัติพรรคเพื่อไทย ก็ต้อง “รับลูก” ไปผลักดันแก้ไขในสภา โดยคาดว่า ใช้เวลาตั้งแต่การพิจารณาในวาระที่ 1-3 ต้องใช้เวลา 4-5 เดือน

ขั้นตอนที่สาม เป็นการทำประชามติถามประชาชน ว่าเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ใช้เวลา 3-4 เดือน

ขั้นตอนที่สี่ เลือกตั้ง ส.ส.ร. และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน

ขั้นตอนที่ห้า ทำประชามติ เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ ส.ส.ร.ร่างหรือไม่ ใช้เวลา 3-4 เดือน

ขั้นตอนที่หก ยกร่างกฎหมายลูกอีก 1 ปี

กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 36-37 เดือน โดยการทำประชามติจะต้องใช้เงินครั้งละ 3.3 พันล้านบาท รวมกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.อีก 3.3 พันล้าน รวม 1.3 หมื่นล้านบาท รวม 4 คูหา

ไทม์ไลน์

สเป็ก ส.ส.ร. เพื่อไทยในอดีต

แกะรอยสำหรับสเป็กของ ส.ส.ร.ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยเคยทำไว้ มีคุณสมบัติหลัก ๆ อยู่ 3 ข้อ ดังนี้

1.คุณสมบัติต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี มีชื่อในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่จะลงรับสมัครติดต่อไม่น้อยกว่า 5 ปี เคยศึกษาหรืออยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา หรือรับราชการ ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 ปี

2.ไม่เคยดำรงตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ

3.ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ไม่เป็น สส. สว. หรือรัฐมนตรี

ปิยบุตร อ่านเพื่อไทย

ส่วนฝ่ายที่ “จับตา” ท่าทีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย อย่างตาไม่กะพริบ คือ “พรรคก้าวไกล”

“ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตว่า

“ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยพูดมาตลอด และสื่อสารไว้ในเว็บไซต์พรรคเพื่อไทยว่าสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลกลับไม่มีการเขียนไว้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีความเป็นเอกภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสัญญาณไม่ดีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

ด้าน “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า หนึ่งใน 3 ผู้นำจิตวิญญาณของพรรคก้าวไกล วิเคราะห์ เกมแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยว่า

ลองดูองค์ประกอบของรัฐบาลชุดนี้ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นกลุ่มก้อนทางการเมืองที่ประสงค์อยากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ในขณะที่พรรคอื่น ๆ ผมไม่แน่ใจว่าเขาอยากแก้ไหม และยังไม่นับรวม สว.ก็ขู่ฟอด ๆ ทุกครั้งว่าอย่าทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ล่าสุดเพิ่งได้ข่าวว่า สว.เริ่มมีความคิดว่าอยากให้ สว.ชุดนี้ ได้มีโอกาสเป็น สว.ชุดหน้าได้อีก ก็ขอแก้ไขบทเฉพาะกาลนี้อีก ดังนั้น แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามของกลุ่มขั้วอำนาจเดิมที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แต่เมื่อก่อนพรรคเพื่อไทยผนึกกำลังกับพรรคก้าวไกล ก้อนนี้เป็นก้อนที่อยากเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าวันนี้พรรคเพื่อไทยไปอยู่ในก้อนที่ไม่อยากเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ถามว่าองค์ประกอบอย่างนี้จะทำได้อย่างไร

“ดูง่าย ๆ ถ้าการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ครั้งที่สี่ ผ่านไป 1-2 เดือนแล้วยังไม่มีมติ ครม.ให้จัดทำประชามติว่าให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้ายังไม่มีเลิกฝันไปเลย เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แสดงว่าพรรคเพื่อไทยประเมินแล้วว่าเขาเลือกประคับประคองการเป็นรัฐบาลไปก่อนมากกว่าให้ความสำคัญกับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

แนะ ก.ก.ใช้อำนาจถ่วงดุล

ขณะเดียวกัน “ปิยบุตร” ยังแนะพรรคก้าวไกลว่า ตอนนี้สิ่งที่พรรคก้าวไกลมีอยู่ในมือคือ สส. 151 คน สามารถเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้เองตลอดเวลา เป็นข้อเด่นที่เขามีอยู่ แต่ว่าปัญหาของการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่ว่าใครเสนอได้ แต่ปัญหามันไปติดที่กระบวนการแก้ ซึ่งต้องใช้เสียงของ สว. 80 กว่าท่าน มันเป็นอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา

ผมเข้าใจว่าพรรคก้าวไกลเขาคิด อ่าน จะใช้ประชามติไปกดดัน สว. เขาไปรณรงค์หาเสียงบอกว่าถ้าเขาได้เป็น รัฐบาล เขาจะจัดให้มีประชามติออกเสียงทันทีว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการทำฉบับใหม่หรือไม่ โดย ส.ส.ร. แต่บังเอิญเขาไม่ได้เป็นรัฐบาล

เขาก็ใช้ช่องทางอื่นในการเสนอให้มี การทำประชามติ นั้นก็คือ ต้องผ่านรัฐสภา ทีนี้ผ่านรัฐสภาก็ต้องติด สว. อีกแหละ เพราะ สส.ผ่านก็ต้องไป สว. และ สว.ก็คงไม่ให้อีก นี่ก็ยังโชคดีว่าภาคประชาชนเขาร่วมกันเข้าชื่อ ก็หวังว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จะตัดสินใจจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

“ดังนั้น โรดแมปการแก้รัฐธรรมนูญ สิ่งหนึ่งที่พรรคก้าวไกลมีอยู่ในมือคือ สส. 151 คน อีกสิ่งหนึ่งซึ่งวันหน้า พรรคก้าวไกลก็ต้องไปคิดอ่านกัน คือ คุณจะใช้คะแนน 20 เปอร์เซ็นต์ ของคุณ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมี 20 เปอร์เซ็นต์ ของพรรคที่ไม่มีประธานสภา รองประธานสภา รัฐมนตรี คุณจะเอาแบบนี้มาเล่นใหม่ในอนาคต แต่ปัญหาคือตอนนี้พรรคของคุณ เป็นรองประธานอยู่”

“เราจะมีอำนาจถ่วงดุล 20 เปอร์เซ็นต์ ไหม เช่น สมมุติถ้าเขาแก้รัฐธรรมนูญ ที่ประชาชน ไม่เห็นด้วยเลย พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยเลย พรรคก้าวไกลก็ใช้ 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การแก้ไขนั้นมันจบไปได้ เป็นต้น พรรคก้าวไกลต้องไปคิดอ่านต่อ แต่ถ้ามองภาพใหญ่ให้พ้นจากพรรคก้าวไกล คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่ได้แก้ได้ใหญ่โตอย่างที่ฝันไว้”

ไม่เพียงแค่พรรคก้าวไกล-ก้าวหน้า เล็งกดดันพรรคเพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญ ทว่ากลุ่มการเมืองภาคประชาชน ก็ร่วมกดดันพรรคเพื่อไทยอย่างคึกคัก

วาระแก้รัฐธรรมนูญเป็นวาระที่ พรรคเพื่อไทย…ปฏิเสธยาก