คอลัมน์ Market Move
มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นในจีนทำให้อาหารพร้อมปรุง หรืออาหารที่เตรียมวัตถุดิบต่าง ๆ แพ็กไว้ด้วยกันพร้อมให้ผู้ซื้อนำไปปรุงได้ทันที กลับได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วไปด้วย เนื่องจากความสะดวกทั้งการซื้อหา นำไปใช้ รวมถึงความสดใหม่ที่มากกว่าอาหารพร้อมทาน
สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า บริษัทวิจัยการตลาดหลายแห่งต่างเห็นตรงกันว่า ตลาดอาหารพร้อมปรุงในแดนมังกรมีอนาคตสดใส แม้หลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้ว เช่น รายงานของสมาคมแฟรนไชส์และร้านเชนสโตร์แห่งประเทศจีน ร่วมกับบริษัทวิจัยไชน่า เรอเนสซองต์ คาดว่าปี 2564 ตลาดนี้มีมูลค่า 3.13 แสนล้านหยวน และจะเติบโตเป็น 8.31 แสนล้านหยวนในปี 2568 ส่วนบริษัทวิจัยดีลอยด์ ที่ประเมินว่าตลาดมีมูลค่า 5.5 แสนล้านหยวน และจะขยายตัวเป็น 1 ล้านล้านหยวนในปี 2569
เนื่องจากแม้ผู้คนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่หลายคนน่าจะยังต้องการความสะดวกที่ได้จากอาหารพร้อมปรุงอยู่ “ฟู เหวินชื่อ” ผู้ก่อตั้ง เฉินเหว่ย เสี่ยวเหมย ซัพพลายเออร์อาหารพร้อมปรุงให้ความเห็นว่า ช่วงโควิดทำให้พฤติกรรมการทำ-ทานอาหารของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างถาวร หลังได้รับรู้ว่าอาหารพร้อมปรุงนั้นทั้งสะดวกและอร่อย ซึ่งความประทับใจนี้จะยังคงอยู่แม้สถานการณ์คลี่คลายและกลับสู่ภาวะปกติแล้วก็ตาม
ด้านผู้จัดการอาวุโสของผู้ผลิตอาหารหลายรายต่างเห็นตรงกันว่า เมื่อการระบาดคลี่คลายตลาดอาจเติบโตช้าลงบ้าง แต่ความต้องการอาหารพร้อมปรุงในภาคครัวเรือนจะยังคงอยู่ต่อไปแน่นอน
ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดนั้น ฝ่ายผู้ผลิตอาหารเองต่างพยายามผลักดันสินค้าตัวนี้เข้าสู่ภาคครัวเรือน หวังสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาทดแทนกลุ่มร้านอาหารที่ต้องถูกปิดนานนับเดือนจากการล็อกดาวน์เข้มข้นในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนทำให้อาหารพร้อมปรุงหลากหลายเมนูปรากฏบนชั้นวางในร้านค้าปลีกต่าง ๆ
โดยปัจจุบันอาหารจีนแทบทุกเมนู ไม่ว่าจะเป็นอาหารท้องถิ่นอย่าง ต้มปลาผักกาดดองเสฉวน ไปจนถึงเนื้อวัวผัดเผ็ด สามารถทำทานเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน ด้วยการซื้อแพ็กแบบพร้อมปรุงจากซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งเฟรชฮิปโปของอาลีบาบา หรือแซมส์คลับของวอลมาร์ต
นอกจากความสะดวกแล้ว ราคาที่จับต้องได้สบายกระเป๋ายังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคนิยมซื้ออาหารพร้อมปรุง โดย “แอปเปิล ลี” ผู้จัดการฝ่ายขาย วัย 35 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในปักกิ่งกล่าวว่า สาเหตุที่ตนซื้ออาหารพร้อมปรุงหลายเมนู อาทิ ไก่สามชามสไตล์ไต้หวัน และต้มกระเพาะหมู เพราะราคาถูกกว่าการไปกินในร้านอาหาร
ความนิยมนี้ทำให้มีผู้เล่นตบเท้าเข้าสู่ตลาดอย่างคึกคัก ด้วยการออกสินค้าอาหารพร้อมปรุงสำหรับลูกค้าครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจีน อาทิ เหอหน่าย ชวงฮุย, อันจอย ฟู้ด ไปจนถึงเชนร้านอาหารที่เข้าร่วมวงเอง เช่น ไห่ตี้เหลา เชนร้านสุกี้ชื่อดัง รวมถึงผู้เล่นต่างชาติอย่างเจริญโภคภัณฑ์อาหารจากไทย
ขณะเดียวกัน ยังมีบรรดาสตาร์ตอัพจำนวนมากผุดขึ้นมารับกระแสฮิต โดยตั้งแต่ปี 2556-2564 มีการระดมทุนในวงการนี้ 71 ครั้ง ซึ่งเพียงในปี 2564 มีการระดมทุนถึง 23 ครั้ง รวมเม็ดเงินกว่า 1 หมื่นล้านหยวน ส่วนปี 2565 นี้มีสตาร์ตอัพจัดระดมทุนไปแล้ว 8 ราย ซึ่งคาดว่ามี 2 รายที่ได้เงินลงทุนไปรายละ 100 ล้านหยวน
“สือ เติ้นเผิง” นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจอาหารอธิบายว่า ปัจจุบันกลุ่มครัวเรือนนั้นถือเป็นลูกค้าเพียง 30% ของตลาดอาหารพร้อมปรุงเท่านั้น ส่วนอีก 70% เป็นกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร สะท้อนว่าตลาดยังมีช่องว่างให้เติบโตจากกลุ่มภาคครัวเรือนได้อีกมาก เพราะผู้บริโภคเปิดรับอาหารสไตล์นี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเติบโตนี้ ยังมีความท้าทายแฝงอยู่ไม่ว่าจะการแข่งขันที่ดุเดือด และระบบขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
เห็นได้ชัดจากรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ซิโนลิงก์ ที่ระบุว่า แม้แต่บริษัท “เว่ยซีเชียง” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้เล่นรายหลักในตลาดอาหารพร้อมปรุงของแดนมังกร ยังมีส่วนแบ่งตลาดเพียงไม่ถึง 1% เท่านั้น สะท้อนว่ามีผู้เล่นจำนวนมหาศาล
และแม้จะมีบริษัทที่สามารถหาช่องว่างจับฐานลูกค้ากลุ่มนิชเป็นของตนเองได้ ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาค่าใช้จ่ายและระบบขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิที่ยังด้อยพัฒนา จนเป็นสาเหตุให้ช่วงกระแสอีคอมเมิร์ซบูมเมื่อปี 2558-2559 ผู้ประกอบการที่ขายผักสดบรรจุถุงสูญญากาศพร้อมทานหลายรายต้องม้วนเสื่อไป เพราะหมดเงินไปกับการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิ
หากผู้ประกอบการรายใดสามารถฝ่าด่านทั้ง 2 นี้ได้ จะมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นเจ้าตลาดได้อย่างแน่นอน