“ดุสิตธานี” บุกธุรกิจอาหาร คาดปี’70 รายได้ 2.5 พันล้าน

ดุสิตธานี

“ดุสิตธานี” มุ่งเสริมความแข็งแกร่งพอร์ตธุรกิจในเครือ เร่งการเติบโตธุรกิจอาหาร ตั้งเป้า “ดุสิตฟู้ดส์” กวาดรายได้ 2.5 พันล้านบาทภายในอีก 5 ปี ข้างหน้าตามแผนยุทธศาตร์ขยายฐาน สร้างความหลากหลาย ขณะที่ขาธุรกิจโรงแรมยังเดินหน้าต่อเนื่อง คาดภายในปี 2570 มีโรงแรมไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง กระจายอยู่ในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เปิดเผยว่า หลังจากธุรกิจกลุ่มโรงแรมและฮอสพิทาลิตี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

บริษัทจึงได้ขยายฐานและสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจอาหารภายใต้บริษัท ดุสิตฟู้ดส์ จำกัด เพิ่มมากยิ่งขึ้น หลังจากที่เริ่มรุกเข้าสู่ธุรกิจอาหารจริงจังตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา

โดยปัจจุบันดุสิตฟู้ดส์ได้เข้าไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจอาหารในรูปแบบการร่วมลงทุน (joint venture and partnership) แล้วจำนวนมาก อาทิ เข้าถือหุ้น 100% ในดุสิต กูร์เมต์ ถือหุ้น 70% ในบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด

และใช้เอ็บเพอคิวร์ซื้อกิจการ THE CATERERS ทำธุรกิจจัดเลี้ยงโรงเรียนนานาชาติในไทยและเวียดนาม ปริมาณการเสิร์ฟอาหารมากกว่า 40,000 ครั้งต่อวัน

ถือหุ้น 51% ใน Kauai Dusit Real Food ร้านอาหารเพื่อสุขภาพฟาสต์ฟู้ดจากแอฟริกาใต้ ถือหุ้น 55% ใน Bonjour Bakery Asia ครอบคลุมทั้ง PORT ROYAL-Bonjour-BAKE IP

รวมถึง Bonjour International (โรงงานผลิตเบเกอรี่ฝรั่งเศสที่มีร้านค้าปลีกกว่า 60 แห่ง) ทั่วประเทศไทยมี 59 สาขา และในประเทศจีนอีก 1 สาขา

ถือหุ้น 51% ใน Savor Eats เป็นกิจการร่วมค้า ระบบคลาวด์สำหรับการจัดส่งอาหารและศูนย์กลางการผลิตครัวกลาง รวมถึงให้บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (หาชน) หรือ OR โดย “มอดูลัส เวนเจอร์” บริษัทย่อย เข้าลงทุน 25% ในดุสิตฟู้ดส์

และล่าสุดกลุ่มดุสิตธานีได้เปิดตัว The Food School Bangkok โรงเรียนสอนทำอาหารแห่งแรก ที่รวมเอาพันธมิตรระดับโลกเข้ามาไว้ด้วยกันถึง 3 แห่ง ได้แก่ ALMA Culinary Institute ประเทศอิตาลี, TSUJI Culinary Institute ประเทศญี่ปุ่น และ Dusit Thani College ประเทศไทย เปิดสอนทั้งหลักสูตรระยะสั้น

และหลักสูตรประกาศนียบัตร นอกจากนี้สถานที่แห่งนี้ยังเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ด้านอาหารแบบครบวงจรอีกด้วย

“ตั้งเป้าสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจอาหารให้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 15-20% และมีรายได้ถึง 2,500 ล้านบาทภายในปี 2570 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท” นางศุภจีกล่าวและว่า

สำหรับธุรกิจโรงแรมนั้นขณะนี้เริ่มกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาโรงแรมในเครือมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 53% และเพิ่มเป็น 64% ในเดือนกรกฎาคม สูงกว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในภาพรวมที่อยู่ในระดับ 42% ในเดือนมิถุนายน และ 47% ในเดือนกรกฎาคม ตามลำดับ

และคาดว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในเครือดุสิตธานีจะเพิ่มเป็นมากกว่า 70% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ ทำให้มั่นใจว่าในปี 2565 นี้จะสามารถฟื้นตัวได้ราว 75% ของปี 2562 (ก่อนโควิด) และฟื้นตัวได้ 100% ในปี 2566 พร้อมทั้งรูปแบบการบริหารที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนเดิม และมีศักยภาพในการสร้างกำไรอีกครั้ง

นางศุภจีกล่าวด้วยว่า แม้ว่าธุรกิจโรงแรมจะค่อย ๆ ฟื้นตัวแต่กลุ่มดุสิตธานีมุ่งสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนเปิดโรงแรมใหม่ประมาณ 10-15 แห่งภายใน 2 ปีนี้ เช่น เมืองเกียวโต (ญี่ปุ่น) 2 แห่ง ที่จะเปิดให้บริการภายใต้แบรนด์ดุสิตธานี และอาศัย ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2566

และในประเทศจีน 2-3 แห่ง ส่วนในประเทศไทยมีแผนเปิดโรงแรมอาศัย สาทร 12 ในเดือนมกราคม 2565 และดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในช่วงต้นปี 2567 เป็นต้น

โดยตามแผน 5 ปีนี้ (2566-2570) เครือดุสิตธานีจะมีโรงแรมรวมประมาณ 100 แห่ง กระจายอยู่ในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก (ไม่รวมวิลล่า อีลิธ เฮเวนส์) จากปัจจุบันที่มีโรงแรมในเครือจำนวน 47 แห่ง

และวิลล่าหรูภายใต้แบรนด์ “อีลิธ เฮเวนส์” อีก 285 หลัง รวมเป็น 332 แห่ง กระจายอยู่ใน 16 ประเทศทั่วโลก โดยปัจจุบันมีโรงแรมที่อยู่ในสัญญาบริหารเรียบร้อยแล้วจำนวน 45 แห่ง (ไม่รวมวิลล่า)

“แผนงานดังกล่าวจะทำให้โครงสร้างรายได้รวมในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 จะมีสัดส่วนรายได้กลุ่มธุรกิจโรงแรมประมาณ 60-65% จากเมื่อ 5 ปีก่อนมีสัดส่วนถึงประมาณ 90% ขณะธุรกิจอาหารจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 25-30% กลุ่มการศึกษา 7-8% และอื่น ๆ อีกราว 2-3%” นางศุภจีกล่าว