ต้องดูแลราคาข้าวในประเทศ

ลานตากข้าวเปลือก
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

กรมการค้าต่างประเทศได้เผยแพร่ตัวเลขการส่งออกข้าวไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (2566) ปรากฏไทยสามารถส่งออกข้าวไปต่างประเทศได้ถึง 4.6 ล้านตัน แต่หากดูใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศล่าสุดพบว่า มีการอนุญาตให้ส่งข้าวออกไปแล้วถึง 5.29 ล้านตัน (1 ม.ค.-29 ส.ค.) ทำให้เชื่อว่า ณ สิ้นปี 2566 ไทยจะส่งออกข้าวได้ตามเป้า 8 ล้านตัน

การส่งออกข้าวของบริษัทผู้ส่งออกข้าวไทยในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าถึง 2,568 ล้านเหรียญ หรือ 87,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาของปีก่อนร้อยละ 20.73 (2,127 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยประเทศที่เป็นตลาดหลักในการส่งออกข้าวของไทยขณะนี้ก็คือประเทศอินโดนีเซีย (ร้อยละ 15.46) รองลงมา ได้แก่ ประเทศอิรัก (ร้อยละ 13.87), แอฟริกาใต้ (ร้อยละ 10.92), สหรัฐ (ร้อยละ 8.42) และจีน (ร้อยละ 4.56)

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ส่งคณะผู้แทนการค้าข้าวเดินทางไปยัง ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, ญี่ปุ่น โดยเฉพาะอินโดนีเซียมีความต้องการนำเข้าข้าวอีกกว่า 400,000 ตัน ขณะที่ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย-ญี่ปุ่น ก็สนใจที่จะนำเข้าข้าวจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงนับเป็นโอกาสในการส่งออกข้าวของไทยในอีก 4 เดือนข้างหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเพราะผลทางจิตวิทยาที่ประเทศอินเดียผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ประกาศห้ามการส่งออกข้าวมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ประกอบกับสถานการณ์เอลนีโญ หรือฝนน้อย น้ำน้อย ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพาะปลูกข้าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึงขั้นที่ต้องประกาศขอให้งดการทำนาปีในรุ่นต่อไป โดยสถานการณ์เอลนีโญเชื่อกันว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในฤดูแล้งปี 2567 และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568

ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญ แต่ทุกประเทศที่เป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญในภูมิภาคนี้ต่างก็จะได้รับผลกระทบเหมือน ๆ กันหมด จึงเป็นที่มาว่า ทำไมอินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ถึงมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ในเมื่อเห็นแล้วว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะไม่มีการปรับลดลง มีแต่จะปรับสูงขึ้น ตามความต้องการซื้อข้าวของประเทศผู้นำเข้าข้าวโลก

ADVERTISMENT

ในทางกลับกัน เมื่อมีคำสั่งซื้อข้าวเข้ามามาก ราคาข้าวเปลือกในประเทศก็จะต้องปรับตัวสูงขึ้นตามช่วงเวลาการขนส่งมอบข้าวลงเรือ มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อราคาข้าวสารในขณะนี้ ที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามแต่ละชนิดข้าวไปแล้ว และราคาข้าวสารในช่วงต่อจากนี้ไปจะต้องปรับตัวสูงขึ้นไปอีก

ตรงนี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายบริหารจัดการข้าวของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพยุง หรือประกันราคาข้าวในประเทศ แต่จะต้องหันมาบริหารจัดการไม่ให้ราคาข้าวสารในประเทศสูงจนเกินไปแทน

ADVERTISMENT