เตือนเอเชียระวังภาวะ “ข้าวยากหมากแพง” !

ข้าวยากหมากแพง
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ตามข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ราคาโดยเฉลี่ยของ “ข้าว” ธัญพืชอาหารที่บริโภคกันเป็นหลักในเอเชีย ในเดือนกรกฎาคมพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี

สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงมากดังกล่าวสืบเนื่องจากหลายปัจจัยมาบรรจบกัน ตั้งแต่การห้ามการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติของ “อินเดีย” เพื่อดึงให้ราคาภายในประเทศให้ลดต่ำลง ซึ่งส่งผลให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกหายไปในทันทีราว 10 ล้านตัน หรือราว 20% ของข้าวทั้งตลาด และทำให้ “เมียนมา” ผู้ส่งออกข้าว อันดับ 5 ของโลก ห้ามการส่งออกตามไปด้วย เพื่อดึงราคาข้าวในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องให้ลดลง

ในเวลาเดียวกัน รัสเซียก็ถอนตัวออกจากความตกลงเรื่องการส่งออกธัญพืชในทะเลดำ ส่งผลกระทบต่อราคาธัญพืชโดยรวมในตลาดโลก สุดท้ายก็คือภาวะภูมิอากาศแบบเอลนีโญ ซึ่งส่งผลโดยตรงให้เกิดภาวะแล้งที่จะเป็นเหตุให้ผลผลิตข้าวในภูมิภาคเอชียลดลง

เอฟเอโอชี้ให้เห็นว่า ประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับสองของโลกอย่างไทยถึงกับออกมาแนะนำเกษตรกรให้ลดการปลูกข้าวลง เพื่อสำรองน้ำไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอในการรับมือกับเอลนีโญ

สถานการณ์ที่ทำให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกลดต่ำลง ในขณะที่ความต้องการยังคงที่หรือเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ ส่งผลให้ จาง ฉิงเฟิง ผู้อำนวยการอาวุโสของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ถึงกับระบุว่า ทำให้แนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลก “น่าวิตก” เป็นพิเศษ เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า ราคาข้าวและพืชอาหารไม่เพียงจะแพงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเท่านั้น แต่ยังจะผันผวนหนักอีกด้วย

สถานการณ์หวนกลับไปคล้ายคลึงกับช่วงเวลาระหว่างปี 2010-2012 ที่โลกเผชิญกับภาวะวิกฤตอาหารครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งแล้ว

ในครั้งนั้น เอดีบีประมาณว่า ดัชนีราคาอาหารโลกพุ่งขึ้นไม่น้อยกว่า 30% ในปี 2011 เฉพาะในบรรดาชาติกำลังพัฒนาในเอเชีย ดัชนีราคาอาหารสูงขึ้นราว 10% และทำให้จีดีพีของชาติที่เป็นชาตินำเข้าอาหารสุทธิหายไปในทันที 0.6%

ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการที่ราคาข้าวและราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นก็คือ กำลังซื้อของประชากรลดน้อยลงทันที เอดีบีระบุไว้ด้วยว่า ในช่วงเวลาของวิกฤตด้านอาหารดังกล่าว ทำให้ประชากรในหลายประเทศในเอเชียตกกลับลงสู่ภาวะยากจน (ยังชีพอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่า 1.25 ดอลลาร์ หรือราว 43 บาท) มากถึง 64.4 ล้านคน เท่ากับเป็นการเพิ่มอัตราความยากจนขึ้นในภูมิภาคราว ๆ 27% ถึง 29%

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเชื่อว่า ในกรณีที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว ประเทศในเอเชียคงสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ เหตุผลก็คือ หลายประเทศในเอเชียยังคงมีสต๊อกข้าวตุนอยู่ในมือเพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ราคาข้าวพุ่งสูงไปได้อีกระยะหนึ่ง

เอริกา เทย์ นักเศรษฐศาสตร์ของเมย์แบงก์ประจำจีนและไทย ยกตัวอย่างกรณี “จีน” ตลาดนำเข้าข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก จนกระทั่งถึงขณะนี้ยังได้รับผลกระทบจากราคาข้าวสูงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าจะเกิดปัจจัยลบต่าง ๆ ขึ้นมากมาย รวมทั้งการที่ 3 มณฑลหลักที่เป็นเหมือน “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของจีนเกิดภาวะน้ำท่วมหนัก ทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศหายไปถึง 1 ใน 4 ก็ตามที

เหตุผลเพราะในช่วงปีที่ผ่านมา จีนสต๊อกข้าวเอาไว้มากเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศนานถึงอย่างน้อย 8 เดือนเลยทีเดียว

ในขณะเดียวกัน ดัชนีราคาสินค้าในหมวดอาหารโดยรวม (รวมถึงข้าวสาลี, บาร์เลย์, น้ำมันจากพืช, น้ำมันปาล์ม ฯลฯ) ในตลาดโลก ซึ่งเคยพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอนนี้ก็ลดลงมาจากระดับพีกดังกล่าวถึง 23% เช่นกัน

แต่นั่นใช่ว่าปัญหาเรื่องราคาอาหารพุ่งสูงจนถึงระดับวิกฤตในเอเชียจะหมดสิ้นไป “เอริกา เทย์” เชื่อว่า หากภาวะเอลนีโญในช่วงครึ่งหลังของปีนี้รุนแรงอย่างที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ ปลายปีนี้ไม่เพียงแค่ราคาข้าวจะแพงขึ้นเพราะผลผลิตลดต่ำลงเท่านั้น ผลผลิตด้านเกษตรกรรมอื่น ๆ ก็จะลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ราคาอาหารโดยรวมพุ่งสูงขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภคที่บ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อก็จะพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

ในเอเชีย มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่เป็นประเทศส่งออกอาหารสุทธิ นั่นคือ ออสเตรเลีย, อินเดีย และไทย ส่วนที่เหลือ มีบางประเทศบางเขตเศรษฐกิจที่เป็นชาตินำเข้าอาหาร 100% เช่น สิงคโปร์กับฮ่องกง เป็นต้น

บทวิเคราะห์ล่าสุดของวาณิชธนกิจระดับโลกอย่างโนมูระชี้ว่า รัฐบาลของหลายประเทศในเอเชียมีกลไกบางอย่างเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากราคาอาหาร อย่างเช่น การควบคุมราคา หรือการให้งบประมาณอุดหนุน ซึ่งจะลดผลกระทบจากการที่ราคาอาหารโลกพุ่งสูงขึ้นได้ชั่วคราว

ทำให้เชื่อว่าผลกระทบจากวิกฤตราคาอาหารโลกจะเกิดผลต่อชาติในเอเชียจริง ๆ ในราวปลายปีนี้หรือตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไปนั่นเอง