บทบรรณาธิการ : ต้องดูแลผู้บริโภค

มือถือ
PHOTO : PIXABAY
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ผ่านพ้นไปเรียบร้อยการพิจารณาควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค หลังจากยืดเยื้อมายาวนานหลายเดือน หลังจากบอร์ดสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค 3 ต่อ 2 เสียง

แม้ กสทช.จะรับทราบพร้อมแนบเงื่อนไขการควบรวม อาทิ ค่าบริการ คุณภาพ ฯลฯ ขณะที่คณะกรรมการฝ่ายไม่เห็นด้วย รวมถึงพรรคก้าวไกล และกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค กังวลว่าในอนาคตผลกระทบจะตกอยู่กับประชาชนผู้ใช้บริการในภาพรวม เพราะแม้ในเชิงธุรกิจการควบรวมเป็นเรื่องปกติยิ่ง แต่กับธุรกิจสื่อสารที่มีความอ่อนไหว และผลประโยชน์มากมายอาจเป็นข้อยกเว้น เพราะยิ่งมีผู้ให้บริการมากเท่าใด การแข่งขันยิ่งสูง ย่อมส่งผลดีต่อประชาชน แต่เมื่อลดการแข่งขันจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย จึงกังวลว่าอาจเกิดผลเสีย

หากมองในเชิงธุรกิจแล้ว การควบรวมระหว่างทรู-ดีแทค ทางหนึ่งเพื่อลดต้นทุน และอีกทางเพื่อรวมพลังขึ้นเบียดกับเบอร์ 1 ของวงการอย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) ซึ่งทั้ง 2 ค่ายหลัก ๆ คือ ทรูและเอไอเอส ไม่เพียงเป็นคู่แข่งเฉพาะกลุ่มสื่อสารโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่รวมถึงอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยเอไอเอส ที่เข้าสู่ตลาดล่าช้ากว่าเพื่อน แม้จะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่ปี แต่ในแง่ผู้ใช้บริการยังห่างจากเจ้าตลาดอย่างทรูมากพอสมควร

เอไอเอสจึงวางแผนเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ “3BB” ผู้ให้บริการเน็ตบ้านอันดับ 2 ของไทย แม้ตอนแรกยังกังวลว่าจะได้รับไฟเขียวหรือไม่ แต่เมื่อทรู-ดีแทค สามารถควบรวมกันได้ การที่เอไอเอสเข้าครอบครอง 3BB จึงน่าจะอยู่ในเงื่อนไขเดียวกัน กลายเป็นว่าทั้งทรูและเอไอเอส จะฟาดฟันกันทั้งสนามโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตบ้าน ซึ่งมีฐานลูกค้าในมือใกล้เคียงกันมาก

อย่างไรก็ตาม ความกังวลของฝ่ายคัดค้านการควบรวม ย่อมไม่สามารถมองข้ามได้เพราะมีเหตุผลรองรับอย่างเป็นหลักเป็นฐาน จึงเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องออกมาชี้แจงถึงการกำกับดูแล กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้ผลประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับผู้ใช้บริการ แม้ประเทศไทยจะเหลือคู่แข่งหลัก ๆ ทั้งตลาดโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านเพียง 2 รายก็ตาม โดยต้องทำให้ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ควรให้มาตีความกันอีก


เช่นเดียวกับเอกชนผู้ให้บริการ ซึ่งที่ผ่านมาพยายามชี้แจงถึงข้อดีของการควบรวมระหว่างรอการตัดสินของ กสทช. ยิ่งต้องออกมาประกาศให้ชัดเจนว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการรวมกันครั้งนี้ และที่สำคัญไม่ควรมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างที่ฝ่ายคัดค้านตั้งข้อสังเกต