คลื่นเลิกจ้างบริษัทเทค กระทบแรงงานทักษะ “อินเดีย-จีน”

คลื่นเลิกจ้างบริษัทเทค

การเลิกจ้างของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จำนวนมากในสหรัฐกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแรงงานทักษะชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาว อินเดีย และ จีน ที่อาจต้องเดินทางออกจากสหรัฐ หากไม่สามารถหางานใหม่ได้ทันตามกำหนดของวีซ่าทำงานท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่สร้างแรงกดดันต่อภาคธุรกิจ ทำให้การหางานใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า แรงงานทักษะสูงชาวต่างชาติเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจาก “คลื่นการเลิกจ้าง” ในอุตฯเทคโนโลยีสหรัฐที่ขยายวงกว้างในขณะนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างมีนโยบายลดจำนวนพนักงาน

โดยที่ผ่านมาแรงงานทักษะชาวต่างชาติจะได้รับวีซ่าทำงาน “เอช-1บี” (H-1B) ในสหรัฐ ซึ่งให้สิทธิประโยชน์มากมาย โดยมีข้อกำหนดสำคัญคือผู้ที่ได้รับวีซ่าเอช-1บีจะต้องเป็นแรงงานที่มีผู้จ้างชัดเจน และหากถูกเลิกจ้างจะมีเวลาในการหางานใหม่ภายใน 60 วัน ไม่เช่นนั้นจะต้องเดินทางออกจากสหรัฐ

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีนับเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีการจ้างแรงงานวีซ่าเอช-1บเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวอินเดียและจีน โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติ ของสหรัฐ ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2022 “อเมซอน” มีแรงงานเอช-1บีเกือบ 12,000 คน ขณะที่ “กูเกิล” มีเกือบ 7,000 คน และ “เมตา” บริษัทแม่เฟซบุ๊กมีกว่า 5,000 คน

แต่ขณะนี้หลายบริษัทได้ประกาศเลิกจ้างครั้งใหญ่ โดยต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 11,000 คน อเมซอนก็มีแผนเลิกจ้างราว 10,000 คน จากข้อมูลเว็บไซต์ติดตามการจ้างงาน layoffs.fyi ระบุว่า บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ 930 บริษัท ได้เลิกจ้างในปีนี้ไปแล้ว 146,407 คน และเฉพาะ พ.ย. เดือนเดียวเลิกจ้างมากกว่า 51,000 คน

“ฮาร์เลย์ ลิปป์แมน” ซีอีโอของ Genesis10 บริษัทจัดหางานด้านเทคโนโลยีในแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า การเลิกจ้างของบริษัทเทคจะกระทบต่อแรงงานเอเชียจำนวนมาก และการหางานใหม่เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะหลายบริษัทไม่ต้องการจ้างแรงงานต่างชาติที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพิ่มเติม

ขณะที่ข้อจำกัดในการหางานใหม่ภายใน 60 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่ค่อนข้างสั้น และอาจเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้แรงงานต่างชาติทักษะสูงต้องหาทางเลือกใหม่ “สตีฟ ลอร์” ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ระบุว่า “ประเทศต่าง ๆ อย่างแคนาดา กำลังเดินหน้าอย่างจริงจังในการดึงดูดแรงงานย้ายถิ่น ซึ่งนั่นทำให้จุดหมายปลายทางอันดัแรกของผู้มีความสามารถอาจไม่ใช่สหรัฐอีกต่อไป”

ปัจจุบันความต้องการแรงงานในภาคเทคโนโลยีของ “แคนาดา” มีสูงมาก ข้อมูลเว็บไซต์หางาน Indeed ระบุว่า เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทแคนาดามีความต้องการนักพัฒนาซอฟต์แวร์กว่า 15,000 คน สถาปนิกระบบคลาวด์กว่า 2,800 คน นักออกแบบเว็บไซต์ 2,000 คน และยังมีตำแหน่งงานอื่นอีกจำนวนมาก

บลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลแคนาดาได้ประกาศแผนเปิดรับผู้ย้ายถิ่นเข้ามาเป็นพลเมืองถึง 1.45 ล้านคนภายในปี 2025 เพื่อเติมเต็มความต้องการแรงงานในประเทศและรองรับสังคมผู้สูงวัย แคนาดาจึงกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการรองรับแรงงานมีทักษะที่ต้องออกจากสหรัฐ

ขณะที่ “ยอน มี คิม” นักกฎหมายจากสำนักงานกฎหมาย “กรอสแมน ยัง แอนด์ แฮมมอนด์” มองว่า สถานการณ์นี้อาจเป็นโอกาสดีสำหรับกลุ่มสตาร์ตอัพในการจ้างแรงงานทักษะสูงที่มีประสบการณ์ในบริษัทยักษ์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ดังที่เคยเกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจหลายครั้งในอดีต