จดหมายแห่งอนาคต (23) คุมหรือปล่อย ถอดรหัสการกำกับฟินเทคของสิงคโปร์

โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ

พ่อเพิ่งไปงานฟินเทคเฟสติวัล (Fintech Festival) ของสิงคโปร์มา ซึ่งว่ากันว่าเป็นงานฟินเทคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งเลยทีเดียว มีคนเข้าร่วมงานถึง 250,000 คน จาก 100 กว่าประเทศ ทั้งนักลงทุน กองทุน VC ฟินเทคขนาดเล็กใหญ่ และผู้วางนโยบาย

สิ่งหนึ่งที่พ่อสนใจนอกจากการไปรับรู้และศึกษาเทรนด์ทางการเงินใหม่ ๆ แล้วก็คือ การได้ไปเรียนรู้ว่าทางธนาคารกลางของสิงคโปร์ หรือ MAS นั้น มีแนวทางในการกำกับฟินเทคที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเปลี่ยนแปลงพลิกแพลงอยู่ตลอดเวลาราวกับ “น้ำ” ที่จับต้องได้ยาก อย่างไรบ้าง

กรณีของสิงคโปร์นั้น มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะสิงคโปร์ต้องการจะรักษาไว้ซึ่งความเป็นศูนย์กลางทางการเงินในยุคปัจจุบันของภูมิภาค ที่ต้องคุมความเสี่ยงต่าง ๆ ให้อยู่หมัด ในขณะเดียวกันสิงคโปร์ก็ต้องการก้าวไปสู่การเป็น ศูนย์กลางทางการเงินแห่งวันพรุ่งนี้ ด้วยการสนับสนุนฟินเทคซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการก้าวไปสู่การเป็น smart nation และเป็น “future-ready society” หรือสังคมที่พร้อมกับอนาคตดังที่ผู้นำได้วาดภาพไว้ ดังนั้น การหาจุดสมดุลจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

Unbundling approach

จากกำกับองค์กรมากำกับกิจกรรม

ส่วนหนึ่งที่พ่อว่าน่าสนใจที่สุด ที่ผู้ว่าการ MAS ได้กล่าวไว้ในงานฟินเทคคือ การยอมรับว่าฟินเทคได้ทำให้เกิดการ unbundling เกิดขึ้น คือ องค์กรที่ให้บริการทางการเงินอาจไม่ใช่สถาบันการเงินอีกต่อไป และโฉมหน้าของสถาบันการเงินเองอาจเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถตัดแบ่งเป็นธนาคาร ตลาดทุน หรือธุรกิจประกัน ได้อย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท e-Wallet/ e-Money อาจกลายเป็นช่องทางสำคัญในการส่งเงินและชำระเงิน และบางครั้งอาจมีเงินในบัญชีมากไม่แพ้เงินฝากของแบงก์ นอกจากนี้ Yu E Bao ของ Alibaba / Ant Financials ยังนำเทรนด์ด้วยการนำเงินสะสมเหล่านี้ไปลงทุนในตราสารการเงินระยะสั้น เพื่อให้ “ผู้ฝาก” ได้ดอกเบี้ย ทำให้ Yu E Bao กลายเป็นกองทุน money market ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง โดยที่ไม่ได้เป็นธนาคารด้วยซ้ำ นี่ยังไม่รวมถึงการที่บริษัท e-Commerce สามารถพัฒนาทำ credit scoring จากข้อมูลทางพฤติกรรมของบริษัทที่ขายของบนแพลตฟอร์มของตน แล้วปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ได้อีก เหมือนเช่นที่ Ant Financials ได้ทำนำร่องไว้แล้ว

การควบคุมและดูแลจึงไม่สามารถทำได้จากการดูว่าคนทำนั้นเป็นใคร แต่ต้องดูว่ากิจกรรมทางการเงินที่ทำอยู่คืออะไร และมีความเสี่ยงอะไรที่ตามมาบ้าง ดังนั้น รูปแบบการกำกับดูแลกิจกรรมการเงินแบบเก่าที่แบ่งตามประเภทสถาบันการเงินอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป แต่อาจต้องปรับด้วยการ unbundling และตีกรอบใหม่เช่นกัน

เปิดหมดถ้าไม่ได้บอกว่าปิด (negative list approach)

แม้ว่าทางธนาคารกลางสิงคโปร์จะไม่ได้ใช้คำนี้ชัดเจน แต่เท่าที่พ่อเข้าใจ วิธีการกำกับฟินเทคของรัฐบาลสิงคโปร์นั้นเป็นแบบ negative list คือ ตั้งค่าศูนย์ (default) ไว้ที่การเปิดให้ทำกิจกรรมทางการเงินได้หมด ยกเว้นกิจกรรมที่รัฐบาลกำหนดเป็นลิสต์ไว้ว่าห้ามทำ (หรือต้องทำในกรอบที่วางไว้) แทนที่จะเป็น positive list คือ ห้ามทำทุกกิจกรรม ยกเว้นกิจกรรมที่รัฐบาลกำหนดเป็นลิสต์ไว้ว่าอนุญาตให้ทำได้ ซึ่งรูปแบบของการจัดทำลิสต์รายการเช่นนี้ดูเหมือนเป็นประเด็นเล็ก ๆ แต่มีความสำคัญอย่างมาก

เพราะแนวทางการกำกับเช่นนี้เหมาะกับธุรกิจที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นการเปิดให้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาได้ เพราะรัฐบาลรู้ตัวว่าไม่มีทางจะรู้ไปก่อนภาคเอกชนได้ว่าจะมีธุรกรรมฟินเทคใหม่อะไรเกิดขึ้นมาบ้าง จึงต้องเปิดกว้างให้ทำได้ไว้ก่อน แล้วหากกิจกรรมใดส่งผลกระทบ จึงค่อยออกข้อกำหนดเป็นรายการกิจกรรมที่ห้ามทำหรือทำได้ภายใต้เงื่อนไขตามมาภายหลัง

ยกตัวอย่างในเรื่องของการระดมทุนแบบ Initial Coin Offering (ICO) ที่กำลังฮอตอยู่ในปัจจุบัน ที่ไม่ต้องให้หุ้นหรือออกตราสารหนี้ แต่ออกเป็น “token” ที่ใช้ใน ecosystem นั้น ๆ เปรียบเสมือนการออก “คูปอง” ที่ใช้ในสวนอาหารก่อนที่ “สวนอาหาร” จะสร้าง หากนักลงทุนเชื่อว่าสวนอาหารนี้จะทำมาค้าขึ้นมาก ๆ จนคนแย่งกันซื้อคูปองที่มีจำกัด มีตลาดรองช่วยดันราคาให้สูงขึ้นไป นักลงทุนก็ย่อมอยากจะซื้อคูปองเหล่านั้นไว้ล่วงหน้า เจ้าของสวนอาหารก็จะได้เงินทุนมาใช้ในการก่อสร้างสวนอาหารต่อไป ซึ่งถือเป็นช่องทางใหม่ในการระดมทุนจากมวลชนที่ใช้ “สัญญาอัจฉริยะ (smart contract)” ในการบังคับใช้สัญญาต่าง ๆ อย่างอัตโนมัติไม่ต้องมีตัวกลางทุกขั้นตอน

ธนาคารกลางบางแห่งใช้วิธี “ปิดไว้ก่อน (positive list)” เช่น ในประเทศจีน รัฐบาลได้ออกมาห้ามทำ ICO แต่ในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์เปิดช่องให้ทำได้ แต่ต้องให้การศึกษาและให้ความรู้แก่นักลงทุน ส่วนทางธนาคารกลางญี่ปุ่นนั้นถึงขนาดช่วยส่งเสริม โดยการอนุมัติให้มีตลาด exchange ของ cryptocurrency ได้หลายแห่งและยังใช้ bitcoin ได้ตามกฎหมาย ประเทศไทยเองก็ดูเหมือนว่า ก.ล.ต.จะเลือกใช้แนวทางคล้ายกับสิงคโปร์ในเรื่องเช่นเดียวกันนี้

ทดลอง ศึกษาความเสี่ยง เปิดเผยแลกเปลี่ยน

แน่นอนว่าหากมีการเปิดให้ทำกิจกรรมทางการเงินที่รัฐบาลไม่คุ้น สิ่งที่ต้องเกิดตามมาก็คือการ ทดลอง ศึกษา ให้รู้จักกิจกรรมการเงินใหม่ ๆ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้ตีกรอบปิดความเสี่ยงได้ทันท่วงที หัวข้อที่ 3 นี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน

ในตัวอย่างของ blockchain และ cryptocurrency ทางธนาคารกลางของสิงคโปร์ได้มีการศึกษาและทดลองใช้เทคโนโลยี blockchain ในการชำระและยืมเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์ ในชื่อโครงการ Project Ubin ที่ทำไปแล้วสองเฟส ซึ่งเราเคยคุยกันไปแล้วในฉบับก่อน ๆ แต่ที่พ่อเพิ่งรู้ก็คือ ทางรัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะเปิด source code ของโครงการนี้ เพื่อให้คนสามารถนำไปศึกษา ลองทำ และพัฒนาต่อไปได้ โดยทางตัวผู้ว่าการได้พูดไว้อย่างชัดเจนว่า แม้ว่าโครงการทดลองจะประสบผลสำเร็จพอสมควร แต่เขายังเชื่อว่าอาจมีคนช่วยคิดต่อให้สามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ จึงเปิดกว้างให้คนอื่นเข้ามาช่วยศึกษา พัฒนา ต่อยอด ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนบทเรียนกับธนาคารกลางอื่น ๆ ที่มีการศึกษาในเรื่องคล้ายกัน เช่น ธนาคารกลางของแคนาดา ด้วย

เมื่อทางคนกำกับเริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมการเงินนั้น ๆ ดีแล้ว จึงเริ่มปิดช่องทางความเสี่ยงเหล่านั้น แต่ไม่ใช่ใช้วิธีการ “บีบ” จนกิจกรรมการเงินนั้น “ขาดอากาศตาย” ไป เช่น ในตัวอย่างของ ICO แม้จะเปิดให้ทำได้ แต่ทางการสิงคโปร์ก็คุมเข้มในเรื่องความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับการฟอกเงิน โดยกำหนดให้ตลาด crypto exchanges ต่าง ๆ ต้องทำ KYC (know your customer) อย่างละเอียดและติดตามได้

นอกจากนี้ ยังต้องมีการคอยให้การศึกษากับนักลงทุนรายย่อยต่าง ๆ ที่อาจขาดความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงในการลงทุนใน ICO ในปัจจุบัน ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้แปลว่าสิงคโปร์ทำถูกทั้งหมด แต่พ่อคิดว่าปรัชญาในการกำกับฟินเทคของสิงคโปร์ที่พยายามรักษาสมดุลระหว่างการสร้างนวัตกรรมและลดความเสี่ยง เพื่อความเป็นผู้นำศูนย์กลางทางการเงินในยุคใหม่นั้นน่าสนใจ และอาจเป็นบทเรียนเพื่อช่วยพัฒนาฟินเทคในบ้านเราให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้นอย่างไม่ตกขบวนรถ

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (1) ตอน : ลงทุนกับลูกให้ทันโลก 4.0

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (2) ตอน : การศึกษากับโลกเทคโนโลยี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (3) ตอน : มหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไป

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (4) ฤๅโลกมหาวิทยาลัยจะเดินตามโลกดนตรี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (5) “รถไฟ” แห่งเทคโนโลยีกับผู้ถูกทิ้งไว้ที่ “ชานชาลา”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (6) MOOC เป็นตั๋วให้ผู้ตกขบวนรถไฟได้หรือไม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (7) พิษร้ายความไม่เท่าเทียมกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (8) เคล็ดการเรียนรู้ตลอดชีพ

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (9) การเสื่อมอำนาจของอเมริกาและอนาคตการค้าโลก

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (10) กับดัก Kindleberger “จีน” เป็นผู้นำใหม่แทน “อเมริกา” ได้ไหม ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (11) ภาพร่างโลกาภิวัตน์ลายมังกร

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (12) ทำไมโครงการรถไฟ “ไฮสปีด” อาจเดินหน้าแบบ “สโลโมชั่น”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (13) อุปสรรคสู่ทางสายไหมของจีน

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (14) ยุคของอเมริกาเสื่อมลงแล้ว ดอลลาร์จะเสื่อมลงหรือยัง ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (15) “หยวน” ขึ้นบัลลังก์แทน “ดอลลาร์” ได้หรือไม่ ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (16) แบงก์ชาติยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคเงินดิจิทัล

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (17) ธนาคารพาณิชย์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ในยุคเงิน Cryptocurrency

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (18) ยุคแห่ง Data กับโลกาภิวัตน์โฉมใหม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (19) เปิดประตูยุคแห่งการล่า Data

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (20) เปลี่ยนขั้วอำนาจในยุค Data

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (21) เมื่อรัฐเริ่มล่ายักษ์…(แห่งเทคโนโลยี)

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (22) หรือรัฐจะคุม Data เสียเอง