จดหมายแห่งอนาคต (21) เมื่อรัฐเริ่มล่ายักษ์…(แห่งเทคโนโลยี)

ภาพจาก : lesroches.edu applicoinc.com
โดย สันติธาร เสถียรไทย [email protected]

ถึงลูกพ่อ

เมื่อยุคสมัยแห่ง data มาถึง มันอาจจะน่าตื่นเต้นจนทำให้เรานั่งคิดแต่ว่า big data ทำอะไรได้บ้าง แต่ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วนั้น มักจะนำมาซึ่ง การเปลี่ยนขั้วอำนาจ อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ในฉบับก่อนหน้านี้ เราคุยกันถึงเรื่องการผงาดขึ้นมาของบริษัทเทคโนโลยี platform ในยุคแห่ง data ที่มาเบียดยักษ์ใหญ่รุ่นพี่ อย่างบริษัทพลังงาน อุตสาหกรรม การเงินการธนาคาร เสียจนตกขอบ แต่หากรุ่นพี่เหล่านี้เคยถูกรัฐบาลเพ่งเล็งเพราะอำนาจทางเศรษฐกิจและการเงินในอดีต จนบางครั้งถูกมองว่าเป็น “ผู้ร้าย” แห่งโลกาภิวัตน์แล้ว บริษัท data ที่ผงาดขึ้นมาแทนนั้น จะถูกรัฐบาลเพ่งเล็งและมีชะตากรรมเช่นเดียวกันหรือไม่ ?

คำตอบสั้น ๆ ก็คือ ใช่ โดยรัฐบาลต่าง ๆ นั้น มีการรับมือกับบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้สามแบบ คือ “ล่า (ภาษี)” “กำกับ” และ “แทรกแซง”

รัฐบาลตะวันตกเริ่ม “ล่า” ภาษีจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่

Advertisment

ในขณะที่พ่อเขียนจดหมายนี้อยู่ ประเด็นเรื่องรัฐ VS บริษัทเทคโนโลยี กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนมากในอเมริกาและยุโรป เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้สรุปหลังจากทำการสืบสวนมาสองปีว่า การที่ประเทศไอร์แลนด์ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัท Apple จนทำให้บริษัทดังกล่าวจ่ายภาษีไม่ถึง 1% ในแต่ละปี และมีปีหนึ่งที่จ่ายภาษีแค่ 0.005% นั้น เป็นเรื่องผิดกฎหมาย และบังคับให้รัฐบาลไอร์แลนด์เรียกเก็บเงินภาษีย้อนหลังกับบริษัทดังกล่าวจำนวน 1.3 หมื่นล้านยูโร ในขณะเดียวกันก็กำลังมีการฟ้องร้องให้ Amazon จ่ายภาษี 250 ล้านยูโร ให้กับรัฐบาลลักเซมเบิร์กด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ในยามที่รัฐบาลตะวันตกกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงอายุ อัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น ความต้องการรายได้จากภาษีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ทั้งที่รายได้ของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเติบโตได้ดี EC กลับพบว่าบริษัทเหล่านี้จ่ายภาษีน้อยในอัตราประมาณ 10% หรือน้อยกว่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ในยุโรปที่จ่ายภาษี 23% โดยเฉลี่ย นอกจากนี้ภาระภาษีที่แตกต่างยังทำให้บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติขนาดใหญ่มีความได้เปรียบกว่าบริษัทขนาดเล็กที่ไม่อาจจัดรูปแบบบริษัทเพื่อลดภาษีได้

รัฐบาลต่าง ๆ เคยบ่นว่า บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สามารถหลบเลี่ยงภาษีได้เก่ง และพบว่ายักษ์ใหญ่ดิจิทัลสามารถหลบเลี่ยงได้เก่งยิ่งกว่า เพราะสามารถให้บริการกับลูกค้าและสร้างรายได้จากประเทศนั้น ๆ ได้โดยไม่ต้องมีสาขาในแหล่งที่ขายหรือเข้าไปให้บริการเลย จึงสามารถไปตั้งออฟฟิศอยู่ในประเทศที่ให้ดีลภาษีที่ดี อย่างเช่นในไอร์แลนด์ได้ ยิ่งสิ่งที่ขายเป็น digital content ยิ่งจับต้องได้ยาก ว่ารายได้มาจากประเทศใด แค่ไหนกันแน่

ศึกภาษีที่ยุ่งยากเพิ่งจะเริ่มต้น

Advertisment

ผู้นำรัฐบาลยุโรปกลุ่มหนึ่งที่มีฝรั่งเศสเป็นหัวหอก รวมทั้งเยอรมนี อิตาลี และสเปน ต้องการจะผลักดันให้บริษัทดิจิทัลจ่ายภาษีมากขึ้น โดยในระยะยาวอยากเคลื่อนไปสู่ระบบที่สามารถดูได้ว่าบริษัทเหล่านี้ได้รายได้จากประเทศไหนบ้าง และต้องเสียภาษีให้กับประเทศนั้น ๆ ด้วย แม้ว่าจะไม่มีสาขาเป็นตัวเป็นตนอยู่ก็ตาม และไม่ว่าบริษัทจะไปลงบัญชีว่าได้กำไรในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำในที่อื่น ไม่ว่าจะในหรือนอกยุโรปก็ตาม โดยในระยะสั้นอาจมีการเก็บ equalization tax จาก “รายได้” (revenue) แทนที่จะเก็บจากกำไรตามปกติ เพื่อให้เสมือนว่าบริษัทเทคโนโลยีต้องจ่ายภาษีกับทุกประเทศที่ตนขายของหรือให้บริการ (เช่น ได้ค่าโฆษณา)

ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ก็มีประเด็นถกเถียงว่าจะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าบริการดิจิทัลทั้งหลายหรือไม่ โดยมีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า “Netflix tax” ตามชื่อบริษัท streaming หนังและซีรีส์ชื่อดังคือ Netflix

ภาระภาษีจะตกที่ใคร

แม้ว่าพ่อจะเข้าใจความรู้สึกของรัฐบาล แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ข้อเสนอพวกนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก นอกจากจะนำไปปฏิบัติจริงได้ยากแล้ว

ข้อแรก-คือ มาตรการเช่นนี้ต้องได้รับความร่วมมือในระดับโลก เพราะหากแค่บางประเทศหรือภูมิภาคใช้กติกาเช่นนี้ บริษัทเทคโนโลยีก็แค่ย้ายถิ่นฐานออกไปตั้งอยู่ในที่อื่น ที่มีอัตราภาษีต่ำ เช่นอาจหนีออกจากไอร์แลนด์ไปที่แคริบเบียนแทน ซึ่งจะกลายเป็นว่ายุโรปไม่ได้รายได้ภาษีเลยแม้แต่นิดเดียว ซ้ำยังทำให้เสียการลงทุนและความสามารถทางการแข่งขันอีกต่างหาก

ข้อสอง-แม้ว่าภาษีนี้จะจัดเก็บจากบริษัทดิจิทัลเหล่านี้ แต่ไม่แน่ว่าสุดท้ายภาระภาษีจะตกอยู่ที่เขาหรือไม่ เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีอำนาจต่อรองสูง สามารถผลักภาระภาษีไปให้ผู้อื่นได้ เช่น การขึ้นค่าบริการต่อลูกค้า (เช่น ค่าสมาชิกของ Net-flix หรือค่าพื้นที่โฆษณาของ YouTube) หรือการลดส่วนแบ่งรายได้ให้กับบริษัทในประเทศที่ทำ digital content จนกลายเป็นว่าภาระภาษีนั้นกลับถูกซัดทอดไปอีกต่อหนึ่ง มิหนำซ้ำปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลที่เกี่ยวข้องต้องชะลอลง เพราะลูกค้าต้องซื้อบริการในราคาที่สูงขึ้น คล้ายกับการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงในเชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง ๆ แล้วด้วย “อินเดีย” อาจเป็นประเทศเดียวในปัจจุบันที่มีการจัดเก็บ equalization tax กับบริษัทต่างประเทศ ที่ขายบริการดิจิทัลให้กับธุรกิจในประเทศอินเดีย เช่น โฆษณาหรือ cloud services มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ผลเบื้องต้นก็คือ ภาระภาษีส่วนใหญ่ถูกผลักไปอยู่กับลูกค้า และการโฆษณาทางสื่อดิจิทัลก็ดูเหมือนจะมีการชะลอตัวลงบ้าง แม้จะไม่มากนัก แต่ประโยชน์ในเชิงภาษีที่รัฐบาลได้รับไม่ค่อยสูงเช่นกัน

พ่อคิดว่าการล่าภาษีจากวงการดิจิทัลของรัฐบาลต่าง ๆ นั้น เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น หากแต่วิธีที่เสนอกันอยู่นี้ยังไม่ตอบโจทย์สักทีเดียว แต่ศึกนี้ก็เป็นแค่หนึ่งในอีกหลายศึกที่รัฐบาลจะเปิดกับบริษัทเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งยิ่งบริษัทดิจิทัลเรืองอำนาจมากเท่าใด ก็ยิ่งถูกเพ่งเล็งมากขึ้นเท่านั้น

คราวหน้าเรามาดูอีกสองวิธี ที่รัฐบาลต่าง ๆ น่าจะเริ่มงัดขึ้นมาใช้กับยักษ์ใหญ่ดิจิทัล คือ “กำกับ” และ “แทรกแซง” กัน

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (1) ตอน : ลงทุนกับลูกให้ทันโลก 4.0

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (2) ตอน : การศึกษากับโลกเทคโนโลยี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (3) ตอน : มหาวิทยาลัยจะอยู่หรือไป

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (4) ฤๅโลกมหาวิทยาลัยจะเดินตามโลกดนตรี

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (5) “รถไฟ” แห่งเทคโนโลยีกับผู้ถูกทิ้งไว้ที่ “ชานชาลา”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (6) MOOC เป็นตั๋วให้ผู้ตกขบวนรถไฟได้หรือไม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (7) พิษร้ายความไม่เท่าเทียมกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (8) เคล็ดการเรียนรู้ตลอดชีพ

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (9) การเสื่อมอำนาจของอเมริกาและอนาคตการค้าโลก

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (10) กับดัก Kindleberger “จีน” เป็นผู้นำใหม่แทน “อเมริกา” ได้ไหม ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (11) ภาพร่างโลกาภิวัตน์ลายมังกร

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (12) ทำไมโครงการรถไฟ “ไฮสปีด” อาจเดินหน้าแบบ “สโลโมชั่น”

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (13) อุปสรรคสู่ทางสายไหมของจีน

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (14) ยุคของอเมริกาเสื่อมลงแล้ว ดอลลาร์จะเสื่อมลงหรือยัง ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (15) “หยวน” ขึ้นบัลลังก์แทน “ดอลลาร์” ได้หรือไม่ ?

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (16) แบงก์ชาติยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคเงินดิจิทัล

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (17) ธนาคารพาณิชย์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ในยุคเงิน Cryptocurrency

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (18) ยุคแห่ง Data กับโลกาภิวัตน์โฉมใหม่

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (19) เปิดประตูยุคแห่งการล่า Data

คลิกอ่าน >> จดหมายแห่งอนาคต (20) เปลี่ยนขั้วอำนาจในยุค Data