“มนัญญา” รับฟังข้อมูล Thai-Pan สำรวจ 12 จังหวัด หลังรัฐจำกัดการใช้”ไกลโฟเซต” ถึงส.ค. 2563 ยังไม่สามารถทำตามกฎได้ จี้ ก.เกษตรฯ เข้มงวด หากไม่สำเร็จต้องปรับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แบนตามพาราควอต-คลอไพริฟอส
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างเป็นประธานในการเปิดรับฟังและหารือการกำจัดการใช้สารเคมี ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ว่า จากการสำรวจของเครือข่ายผู้บริโภค ได้สำรวจในพื้นที่ 12 จังหวัดทั่วทุกภาค พบว่าส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำตามกฎที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดเรื่องการใช้สารฯได้
“ดังนั้นถ้ายังไม่ประสบความสำเร็จในการจำกัดการใช้ก็ต้องดำเนินการแบนสารไกลโฟเซต อีกทั้งถ้าร้านจำหน่ายเคมีการเกษตร อยากจำหน่ายสารเคมีนี้ต่อไป ก็ต้องทำตามกฎการควบคุมมาตรฐาน ISO เพราะประเทศไทย ต้องการเป็นครัวของโลก วัตถุดิบทุกชนิดที่นำมาทำอาหารจะต้องปลอดภัย มองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก”
นางสาวมนัญญา กล่าวต่อว่า สำหรับ ไกลโฟเซตเป็นสารเคมีที่บริษัท มอนซานโต้ของสหรัฐเริ่มใช้ในราวด์อัพ ซึ่งออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2517 โดยโฆษณาว่ามีประสิทธิภาพกำจัดวัชพืช ไม่ส่งผลเสียต่อพืชผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์นี้มีจำหน่ายกว่า 160 ประเทศทั่วโลก
รวมถึงไทย ส่วนในประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซ ระบุว่าไกลโฟเซตเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกนำเข้ามาใช้ในไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในปี 2557
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) ระบุ ได้สำรวจในพื้นที่ 12 จังหวัดทั่วทุกภาค ได้แก่ เชียงใหม่ มหาสารคาม ยโสธร จันทบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา
สำรวจ ระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2563 เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ไกลโฟเซต พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำตามกฎที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดเรื่องการใช้สารฯได้
ดังนั้น คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (คอบช.) และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) มีข้อเสนอ ต่อหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
1.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกวดขันเพื่อให้มีการจำกัดการใช้ไกลโฟเซตเป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากสารเคมีกำจัดวัชพืชนี้เป็นสารก่อมะเร็ง ที่บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายต้องจ่ายค่าไกล่เกลี่ยคดีมากกว่าสามแสนล้านบาทแก่ผู้ฟ้องคดีชาวอเมริกันซึ่งเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิ้ง
2.หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาปรับระดับการควบคุมไกลโฟเซตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เพื่อปกป้องสุขภาพของเกษตรกร ชุมชน ผู้บริโภค และป้องกันปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้สื่อข่าวระบุ ในวันพรุ่งนี้ วันที่ 28 ส.ค. เวลา 13.00 น. เครือข่ายเกษตรปลอดภัยและนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย ตัวแทนสมาคมเกษตรแทน 11 สมาคมด้านการเกษตร จะเข้าพบน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์