ศธ. กางแผนช่วยเหลือ นักศึกษาไทยกลับจากซูดาน 150 คน

นายอรรถพล สังขวาสี

กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมแผนรับนักศึกษาไทยกลับจากซูดาน พร้อมเตรียมสถานศึกษารองรับกรณีไม่กลับไปศึกษาต่อ และอำนวยความสะดวกการเทียบคุณวุฒิ

วันที่ 26 เมษายน 2566 นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในสาธารณรัฐซูดาน จากการปะทะกันระหว่างกองทัพซูดานกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ Rapid Support Forces (RSF) ในกรุงคาร์ทูม เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีคนไทยอาศัยอยู่ในเมืองดังกล่าวประมาณ 220 คน สถานการณ์ปัจจุบัน คนไทยทั้งหมด ได้เดินทางออกจากเมืองคาร์ทูม ประเทศซูดาน ไปลงเรือทางการซาอุดีอาระเบียต่อไปยังเมืองเจดดาห์ เพื่อรอการอพยพกลับประเทศไทยโดยกองทัพอากาศ

สำหรับความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกรับนักศึกษาไทยในประเทศซูดาน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเดินทางกลับประเทศไทยด้วยความปลอดภัย ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ประสานการเตรียมความพร้อมจากรัฐบาลในการเตรียมการอพยพนักศึกษา และประชาชนจากซูดานเดินทางกลับประเทศไทย มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ ศอ.บต. 

โดยได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องและจัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงาน นักเรียน นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ศึกษาต่อในต่างประเทศ (ศป.นศ.จชต.) ภายใน ศอ.บต. ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานทั้งในส่วนกลางกับกระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพอากาศ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ส่งข้อมูลประสานการติดต่อผ่านญาติและผู้ปกครองของนักศึกษา

ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมการประสานที่พักใกล้ท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อนักศึกษาเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย จะมีการรับนักศึกษาเดินทางกลับเข้ามาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ สนามบินบ่อทอง ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และอำนวยความสะดวกส่งนักศึกษาถึงบ้านอย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด 

ด้านกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีวางแผนการศึกษาต่อในประเทศสำหรับนักศึกษาที่ประสงค์ที่จะกลับมาศึกษาในประเทศไทย จะต้องดำเนินการในส่วนของการเทียบโอนรายวิชา โดยจะประสานไปยังมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนี้ ศอ.บต.กำลังเร่งดำเนินการสำรวจนักศึกษาที่ไปศึกษาต่อที่ประเทศซูดานเพิ่มเติมจากระบบข้อมูล 

โดยให้บัณฑิตอาสาลงพื้นที่สำรวจตัวเลขที่ชัดเจน เมื่อนักศึกษาเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ เบื้องต้นข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศมีคนไทยประมาณ 220 คน เป็นนักศึกษาไทย 150 คน อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ 100 คน 

เนื่องจากเมื่อช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา มีนักศึกษาเดินทางกลับมาบางส่วนแล้ว จากข้อมูลของนักศึกษาที่ไปเรียนต่อในประเทศซูดานพบว่า ส่วนใหญ่ไปศึกษาต่อในสาขาแพทย์ กฎหมายอิสลาม และทางศาสนา 

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า การวางแผนเตรียมการในส่วนของ ศธ. โดย ศค.จชต. ร่วมกับ ศอ.บต. กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ได้เตรียมการรองรับกรณีนักศึกษาที่เดินทางกลับมาจากประเทศซูดาน และมีความประสงค์ที่จะกลับมาศึกษาต่อในประเทศ ดังนี้ 

1.จัดเตรียมสถานศึกษารองรับกรณีนักศึกษาไทยที่ไม่กลับไปศึกษาต่อที่ประเทศซูดาน และประสงค์ศึกษาต่อในประเทศไทย โดยจะประสานกับทางมหาวิทยาลัยในพื้นที่ทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในการเทียบโอนรายวิชา เพื่อรับเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาประสงค์ที่จะกลับมาเข้าเรียน 

2.อำนวยความสะดวกในการเทียบคุณวุฒิการศึกษาจากประเทศ สำหรับนักศึกษาซูดานที่สำเร็จการศึกษาเรียบร้อยแล้ว 

ทั้งนี้เหตุการณ์ความไม่สงบในสาธารณรัฐซูดานจากการปะทะกันระหว่างกองทัพซูดานกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ Rapid Support Forces (RSF) ในกรุงคาร์ทูม เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566 มีคนไทยอาศัยอยู่ในเมืองดังกล่าวประมาณ 220 คน 

สถานการณ์ปัจจุบัน คนไทยทั้งหมดได้เดินทางออกจากเมืองคาร์ทูม ประเทศซูดาน ไปลงเรือของทางการซาอุดีอาระเบียต่อไปยังเมืองเจดดาห์ เพื่อรอการอพยพกลับประเทศไทยด้วยเครื่องบินกองทัพอากาศ 

โดยจะเดินทางถึงประเทศไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 เวลาประมาณ 22.00 น. จำนวน 1 เที่ยวบิน และวันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2566 เวลาประมาณ 09.00 น. จำนวน 2 เที่ยวบิน