ส่องโอกาสธุรกิจ เมื่อคนไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ

ผู้สูงอายุ-คนพิการ
คอลัมน์Smart SMEs
สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์
ธนาคารกสิกรไทย

ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 12 ล้านคน โดยไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2567 และกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดในปี 2575 ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 14% และ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ ทำให้ธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพ และมีโอกาสในการขยายตลาดเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่มผู้สูงอายุที่มีเงินออมเพียงพอสำหรับการเกษียณ สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างน้อย 10 ปี

2) กลุ่ม young old (YOLD) ที่มีช่วงอายุ 55-59 ปี จำนวนประมาณ 5 ล้านคน และกลุ่มวัยทำงานที่เตรียมวางแผนเกษียณอายุไว้ล่วงหน้าในช่วงอายุ 45-59 ปี

และ 3) กลุ่มผู้ดูแลผู้สูงอายุ เช่น บุตรหลานที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ แต่อาจมีเวลาน้อยที่จะดูแลด้วยตนเอง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเม็ดเงินในตลาดสินค้าและบริการของผู้สูงอายุ ครอบคลุมรายได้ของสินค้าและบริการทุกหมวด คาดว่าจะอยู่ที่ 9.2-9.3 แสนล้านบาทในปี 2575 ที่ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด

โดยมีธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) ธุรกิจที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มที่มีเงินออมเพียงพอแต่มีกำลังซื้อรองลงมา ที่ราคาซื้อสิทธิ์เพื่อเข้าอยู่เมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่โครงการกำหนดไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งน่าจะเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุที่เน้นการเข้าพักอาศัยหลังเกษียณ

พร้อมกับบริการทางการแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นแบบครบวงจร มากกว่าความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย โดยเงื่อนไขสำคัญในการเลือกซื้อขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ว่าจะได้รับบริการต่อเนื่องตามความต้องการและเงื่อนไขสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงอายุ

และการปรับกลยุทธ์การตลาดและจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการซื้อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงที่อยู่อาศัย

2) ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน การสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ปลอดภัยที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ ทั้งการออกแบบพื้นที่ในบ้าน ใช้ทางลาดแทนบันไดและไม่มีธรณีประตูคั่นระหว่างห้อง ควบคู่ไปกับการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ราวจับช่วยพยุง วัสดุกันลื่น ไฟนำทางเดินตอนกลางคืน นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีที่จะช่วยติดตามการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุได้แบบ real-time ผ่านการเชื่อมต่อระหว่าง wearable device ที่ผู้สูงอายุสวมและกล้องแสดงภาพ ให้ผู้ดูแลได้รับสัญญาณเตือนเมื่อเกิดเหตุผิดปกติ น่าจะเป็นจุดขายสำคัญของสินค้า

3) ธุรกิจอาหาร อาหารเสริม และของใช้ส่วนตัวสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากจะต้องเป็นอาหารเพื่อสุขภาพและเป็นไปตามหลักโภชนาการแล้ว รูปแบบอาหารยังต้องมีความเฉพาะตัว เช่น ขนาดพอดีคำ มีสัมผัสอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่ายเพื่อลดความเสี่ยงจากการสำลัก ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้สูงอายุรุ่นใหม่หันมาเลือกซื้ออาหารเสริมและของใช้ส่วนตัวเพื่อเสริมสุขภาพ/ชะลอวัยมากขึ้น

รวมถึงผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันอย่างผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ผลิตภัณฑ์ติดและทำความสะอาดฟันปลอม ซึ่งการอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าแบบ personalized ที่ยืดหยุ่นตามความต้องการเฉพาะบุคคล จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้มากขึ้น

4) ธุรกิจบริการและกิจกรรมสันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ การจัดหาบริการแบบ home delivery จะได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงกิจกรรมนอกสถานที่อย่างทัวร์ผู้สูงอายุที่เหมาะกับกลุ่ม YOLD ซึ่งมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง โดยรูปแบบการท่องเที่ยวอาจเน้นไปที่ทัวร์แบบ wellness/medical tourism หรือทัวร์แบบวัฒนธรรม cultural tourism โดยปัจจัยสำคัญในการบริการจะอยู่ที่การดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องจัดให้มีทั้งผู้ดูแลทั่วไปอย่างทั่วถึง รวมทั้งมีประกันอุบัติเหตุและมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เดินทางไปด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทาง

นอกจากปัจจัยทางด้านโครงสร้างประชากรที่กลายเป็นโอกาสของธุรกิจที่รองรับสังคมผู้สูงอายุแล้ว การเกิดโรคระบาดอย่างโควิด-19 ก็ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญต่อสุขภาพและอนามัยมากยิ่งขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของคนทุกช่วงวัย ทั้งการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง จึงเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจครับ