ข่าวดีประเทศไทย

ส่งออก
Photo by CLEMENT MAHOUDEAU / AFP
คอลัมน์ Smart SMEs
ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนี้ซึ่งยังคงมีความวุ่นวายอยู่เนือง ๆ บทความเดือนนี้ ดิฉันจึงอยากนำข่าวดี ๆ มาเล่าสู่กันฟังให้พอเป็นขวัญและกำลังใจกันได้บ้างนะคะ

เริ่มจากตัวเลข GDP ไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าฟื้นตัวดีกว่าที่คาดการณ์กันไว้ จากที่มีการคาดกันว่าจะหดตัวถึง -8.9% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หดตัวเพียง -6.4% เท่านั้น อีกทั้งดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวถึง -12.1% ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่ติดลบเพียง 0.6% จากปัจจัยหนุนของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และความต้องการของสินค้าและบริการหลายอย่างที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากถูกอั้นไว้ หลังทางการผ่อนคลายมาตรการป้องกัน COVID-19

รวมถึงการส่งออกสินค้าแม้ยังหดตัว แต่ก็มีทิศทางดีขึ้นจากไตรมาสก่อน และล่าสุดสภาพัฒน์ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เป็น -6% จากเดิมที่คาดไว้ที่ -7.5% อีกทั้งภาครัฐได้มีแนวคิดจะขยายมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมออกไปในช่วงต้นปีหน้าอีก ซึ่งก็น่าจะช่วยหนุนให้ความเชื่อมั่นยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องได้

และเมื่อไปมองสถานการณ์ของโลกในช่วงนี้ หลัก ๆ คงหนีไม่พ้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านมา และที่เรา ๆ ท่าน ๆ ทราบก็คือ โจ ไบเดน ได้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้สามารถเอาชนะทรัมป์มาได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักได้มองว่า การที่ โจ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดี จะส่งผลดีต่อประเทศไทยในหลาย ๆ เรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา COVID-19 อย่างเร่งด่วน ซึ่งส่งผลให้วิกฤต COVID-19 ทั้งในสหรัฐเองและโลกลดลง ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐผู้เป็นผู้บริโภคหลักของโลกฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าเด่น ๆ ของไทยไปยังสหรัฐ และการได้รับอานิสงส์จากการส่งออกของจีนไปสหรัฐสำหรับสินค้าไทยที่มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมต่อกับสินค้าจีน และการคาดการณ์ว่าแนวนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐจะผ่อนปรนมากกว่าเดิม มีความประนีประนอมมากขึ้น

รวมถึงโอกาสในการเจรจาต่อรองที่สหรัฐจะกลับมาเข้าร่วมในภาคีความตกลงต่าง ๆ อีกครั้ง ที่มีประเทศไทยเข้าร่วมในข้อตกลง และโอกาสการกลับมาทบทวนเรื่องการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ของไทยก็อาจมีเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ไหม ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สถานการณ์การเมืองในบ้านเราเอง หรือบทบาทของไทยในเวทีการค้าระดับโลกผ่านกลยุทธ์การเจรจาทางการค้าต่าง ๆ และนโยบายที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และที่สำคัญคือ การให้ความร่วมมือของสังคมและภาคธุรกิจในการป้องกันไม่ให้เกิด COVID-19 ระลอกสอง ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกัน

ซึ่งทุกท่านเองก็สามารถทำได้ในบทบาทของผู้ประกอบธุรกิจด้วยเช่นกัน