ปตท. กำไรสุทธิปี 2564 ทะลุแสนล้าน รายได้มาจากไหน

กลุ่ม ปตท.

ปตท. รายงานรายได้ปี 2564 พุ่ง 2 ล้านล้าน กำไรสุทธิแสนล้าน ที่มาของรายได้มาจากอะไรบ้าง ? 

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก บมจ.ปตท. แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 มีกำไรสุทธิใน 2564 รวม 108,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70,597 ล้านบาท หรือมากกว่า 100.00% จากปี 2563 ที่กำไร 37,766 ล้านบาท

โดยมี EBITDA จำนวน 427,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 202,284 ล้านบาท หรือ 89.6% จาก ปี 2563 ที่จำนวน 225,672 ล้านบาท

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนหาคำตอบว่า รายได้หลักของ ปตท. มาจากอะไรบ้าง ?

ผลประกอบการ ปตท. ปี 2564 ภาพจากคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564

เปิด 3 แหล่งรายได้

ตามคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2564 และประจำปี 2564 ของ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ในปี 2564 ปตท.ทำรายได้รวมถึง 2.258 ล้านล้านบาท เพิ่ม 39.8% หรือ 643,153 ล้านบาท จากรายได้รวมปี 2563

Advertisment

โดยประเภทธุรกิจที่ทำรายได้สูงสุด ได้แก่

1.การค้าระหว่างประเทศ 

รายได้จากการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 1.146 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 33% ของรายได้รวมทั้งหมด  เมื่อเทียบกับปี 2563 พบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 490,346 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึง 74.7%

เหตุผลสำคัญมาจาก การค้าน้ำมันดิบระหว่างประเทศ (out-out trading) และการนำเข้า LNG และการค้า LNG ระหว่างประเทศ รวมทั้งปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อขายให้กับโรงกลั่นในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับ ปริมาณการขายน้ำมันสำเร็จรูปและปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศดังกล่าวข้างต้น

Advertisment

2.ปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมัน

รายได้จากปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 1.037 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 30% ของรายได้รวมทั้งหมด เมื่อเทียบกับปี 2563 พบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 308,708 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึง 42.4%

สาเหตุสำคัญมาจาก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้มีรายได้ขยับตามขึ้นไปด้วย นอกจากนี้ธุรกิจปิโตรเคมีก็มีรายได้โดยรวมปรับตัวสูงขึ้น จากที่ราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก PE ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ รวมทั้งปริมาณขายเม็ดพลาสติก PP ที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้รายได้จากกลุ่มอะโรเมติกส์ก็เพิ่มขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ BZ (เบนซิน)  และ PX (สารพาราไซลีนเป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง เพื่อใช้สำหรับผลิตสาร PTA)  ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และปริมาณขายPX และ BZ เพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

3.น้ำมัน 

รายได้จากน้ำมันอยู่ที่ 513,895 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 15% ของรายได้รวมทั้งหมด เมื่อเทียบกับปี 2563 พบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น 83,290 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น 19.3%

ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาขายเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งปรับเพิ่มตามราคาน้ำมันในตลาดโลก  นอกจากนี้ในกลุ่มธุรกิจน้ำมันได้รวมเอาธุรกิจ Non-oil เข้ามาด้วย ซึ่งช่วยเติมรายได้เพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากปริมาณจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม

ภาพจากรายงานคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564

ส่วน EBITDA ในปี 2564 มีจำนวน 427,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 202,284 ล้านบาท หรือ 89.6% โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก Accounting GRM ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากขาดทุน 0.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ใน ปี 2563 เป็นกำไร 5.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2564 รวมถึงส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์

ขณะที่ต้นทุนทางการเงิน ในปี 2564 มีจำนวน 28,163 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2563 ภาษีเงินได้ในปี 2564 จำนวน 67,590 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42,424 ล้านบาท หรือมากกว่า 100% โดยหลักมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่ม ปตท.

จากที่กล่าวข้างต้นส่งผลให้ในปี 2564 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 108,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70,597 ล้านบาท หรือมากกว่า 100% จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 37,766 ล้านบาท

สินทรัพย์ 3 ล้านล้าน

ตามรายงานกล่าวต่อไปว่า ณ สิ้นปี 2564 4 ปตท. และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้นจำนวน 3,078,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 จำนวน 533,836 ล้านบาท หรือ 21% เหตุผลมีหลายประการ ดังนี้

1.ซื้อธุรกิจโครงการโอมาน แปลง 61 ของ PTTEP และการลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP)  รวมถึงมีการลงทุนซื้อสินทรัพย์ในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ของไทยออยล์ รวมถึงมีการลงทุนในท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 5

2.ลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้น 85,715 ล้านบาท เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเพิ่มขึ้น โดยหลักจาก ปตท. GC PTTT OR และไทยออยล์

3. สินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น 75,467 ล้านบาท จากปัจจัยด้านราคาของผลิตภัณฑ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นจาก GC ไทยออยล์ IRPC ปตท. และ OR

4.เงินลงทุนระยะยาวเพิ่มขึ้น 76,508 ล้านบาท หรือ 77.5% โดยหลักจากการลงทุนใน CAP ของไทยออยล์ และการลงทุนใน Avaada ของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC)

5.ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 132,697 ล้านบาท หรือ 10.3% โดยหลักจาก PTTEP จากการซื้อธุรกิจในโครงการโอมาน แปลง 61และจากการเพิ่มขึ้นของงานระหว่างก่อสร้างในโครงการ CFP ของ TOP รวมทั้งจากการเข้าซื้อ Allnexของ GC

และ 6.สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นเพิ่มขึ้น 192,155 ล้านบาท หรือ 44.5% โดยหลักจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่นและค่าความนิยม จากการเข้าซื้อ Allnex ของ GC

รายงานสินทรัพย์-หนี้สิน ของบมจ.ปตท. ภาพจากรายงาน คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564

ปตท.มองไทยปี 2565 โต 4%แต่เสี่ยงสูง

นอกจากนี้ ปตท. ยังวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้น ปัจจัยหลักมาจากการบริโภคและการลงทุนของเอกชนที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังสถานการณ์คลี่คลายและภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมลง

ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐ ก็ยังมีแรงหนุนต่อเนื่อง แต่เม็ดเงินจะลดลงจากปีก่อน ทั้งจากงบประมาณและจากการกระตุ้นเพิ่มเติมผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ยังคงมีปัจจัยถ่วงจากความไม่แน่นอนของนโยบายที่อาจปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19

ท่องเที่ยว คาดว่าจะฟื้นตัวจากการกลับมาอีกครั้งของมาตรการ Test & Go

ส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว จากการเข้าร่วมมตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565

ทั้งนี้ ปตท.ทิ้งท้ายการประเมินเศรษบกิจประเทศไทยปีนี้ไว้ว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยง ทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัส, ภาวะการเงินโลกที่เริ่มตึงตัว, ความขัดแย้งระหว่างประเทศ, โอกาสผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศ ทั้งนี้ อ้างอิงตามสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ณ เดือนมกราคม 2565 ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่าจะขยายตัวที่ 4%