หมอธีระ เตือน ติดโควิดเสี่ยงโรคอะไรบ้าง ย้ำ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และการใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ยังเป็นเรื่องจำเป็น
วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน) ถึงกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ประเด็นสำคัญคือ
ความเสี่ยงของการป่วยจากการติดเชื้อโควิด คือ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยระบุว่า
ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดหลังติดโควิด-19 ล่าสุด Rezel-Potts E และคณะจากสหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่ผลวิจัยใน PLOS Medicine วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สาระสำคัญพบว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเสี่ยงต่อการตรวจพบโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จำนวนการตรวจพบเบาหวานเพิ่มขึ้นมากถึง 81% ในช่วงติดเชื้อระยะแรก และ 27% ในช่วง 4-12 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ
ในขณะที่โรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น มีจำนวนการตรวจพบเพิ่มขึ้นถึงราว 6 เท่าในช่วงติดเชื้อระยะแรก และค่อย ๆ ลดลงหลังจาก 4-12 สัปดาห์หลังติดเชื้อ ผลการศึกษานี้ย้ำเตือนให้เราเข้าใจถึงความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ นอกจากนี้ หากติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้ว ผู้ป่วยควรดูแลตนเอง ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน และออกกำลังกาย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อเรื่องเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย
ทั้งนี้ นพ.ธีระยังโพสต์ถึงสถานการณ์ทั่วโลก และสถานการณ์ในประเทศไทย โดยระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 760,982 คน ตายเพิ่ม 1,335 คน รวมแล้วติดไป 569,310,786 คน เสียชีวิตรวม 6,390,965 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และบราซิล
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 77.73 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 53.33
สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค. จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
อัพเดต BA.2.75 ข้อมูลจนถึงตอนนี้ สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ยังไม่มีแนวโน้มระบาดในประเทศอื่นอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่ยังอยู่ในอินเดีย การระมัดระวังป้องกันตัวเวลาใช้ชีวิตประจำวัน ก็จะลดความเสี่ยงไปได้ ไม่ว่าจะสายพันธุ์ใดก็ตาม
นพ.ธีระยังโพสต์เสริมเรื่องภูมิคุ้มกันด้วยว่า ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ Bowen J และคณะจากสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร Science เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนชนิดต่าง ๆ กับสายพันธุ์ไวรัสโรคโควิด-19
สาระสำคัญพบว่า วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน หากฉีด 3 เข็ม (2 เข็มแรก + เข็มกระตุ้นอีก 1 เข็ม) ดูจะยังสามารถกระตุ้นให้เกิดระดับภูมิคุ้มกันต่อไวรัส Omicron สายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้ง BA.1, BA.2, BA.2.12.1 และ BA.5 ได้ ที่น่าสนใจคือ mRNA vaccines 3 เข็ม, Novavax 2 เข็ม + mRNA vaccine 1 เข็ม และ Sinopharm 2 เข็ม + mRNA vaccine 1 เข็ม งานวิจัยนี้ไม่มี Sinovac นะครับ
ผลการศึกษานี้ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะ BA.5 ที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลกนั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมาก การฉีดเพียงสองเข็มแรกนั้นไม่เพียงพอ สถานการณ์ปัจจุบันของไทยเรานั้น การระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเป็นเรื่องจำเป็น และจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อไปได้มาก