“ประยุทธ์” ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ “ล้มแล้วต้องลุกให้ไว ก้าวสู่วิถียั่งยืน”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารเศรษฐกิจบน “วิกฤตการเมือง” ที่มีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประชิด “แดนลบ” ปัจจุบันในฐานะ“หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ต้องบริหาร “เศรษฐกิจติดลบ” จากสงครามโควิด-19และ “สงครามทางความคิด” ให้พลิกกลับมาใน “แดนบวก” บนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

“พล.อ.ประยุทธ์” กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ภาคธุรกิจไทย “ในวิถียั่งยืน” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ที่มีเบอร์ 1 จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมาร่วมขบคิดหาทางเลือก-ทางรอดเพื่อชุบชีวิตเศรษฐกิจไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่า ทุกคนมาร่วมกันอยู่ในที่นี้เพื่อร่วมมือพัฒนาประเทศไทยให้เติบโต ให้เดินต่อไปข้างหน้าท่ามกลางสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก

ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการอย่างเหมาะสม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน หมายถึง ประชาชนทุกคนเข้มแข็งและเดินหน้าพัฒนาทุกกลุ่ม ทุกระดับ ทุกเซ็กเตอร์ โดยไม่ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นแวลูเชนเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น รัฐบาลคงไม่สามารถเดินหน้าประเทศได้ด้วยภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่ภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องหารือกัน เพื่อหาข้อสรุปแนวทางที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุด และประเมินผลเพราะโลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน ทุกเวลา ทุกนาที

“เมื่อได้แนวทางที่ดีที่สุดแล้วต้องสร้างการรับรู้กับประชาชน เพราะระบบเสรีประชาธิปไตยมีทั้งคนรวยและคนจน ทำอย่างไรให้คนข้างล่างเข้มแข็ง ยกระดับให้ดีขึ้นและอยู่ในห่วงโซ่โดยไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งรัฐต้องดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งหลายปัญหาเป็นเรื่องของโครงสร้างและการทำงานระยะยาว”

ปัญหาของประเทศไทย คือ หนึ่ง รายได้ประเทศผูกกับการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่สัดส่วนภาคเกษตรต่ำ ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมด โดยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน เช่น การค้และอุตสาหกรรม วันนี้มีอุตสาหกรรมใหม่ 11 ประเภทต้องส่งเสริม อาทิ การบิน หุ่นยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า ยา และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมด ขจัดอุปสรรคข้อกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“มีสิทธิประโยชน์อื่นสามารถให้ได้อีกหรือไม่ เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น ไม่ให้แต่สิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่ได้ให้หมดเพราะการลงทุนทุกอย่างเมื่อหมดสัญญากับรัฐแล้วจะกลับมาเป็นของคนไทย ไม่ได้ยกที่ดินกลับไปบ้านเขา เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง ต้องมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นอย่างไร ผมกลัวติดคุกเหมือนกัน”

หลักการสำคัญในการสร้างความเข้มแข็ง ต้องสร้างพื้นฐานของประเทศ ประชาชนต้องเข้มแข็งด้วยหลักการเศรษฐกิจพอเพียง มีคุณภาพชีวิตที่ดีวันนี้คนไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนเป็นสิบล้าน จังหวัดลำดับท้ายรายได้ไม่เพียงพอ วันนี้รัฐบาลแบ่งการบริหารราชการออกเป็น 6 ภูมิภาคเพื่อบริหารงบประมาณเน้นการพัฒนา ทุกจังหวัดได้รับงบประมาณมากกว่าในอดีต

ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

หลักการบริหารราชการแผ่นดิน คือ การร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน ประชาชน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง สิ่งแรกที่รัฐบาลจะทำ คือ ทุกคนต้องเข้าถึงโอกาสการใช้ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อโอกาสในการแสวงหาประโยชน์และรายได้ ไม่มีใครได้มากหรืิอได้น้อย แต่ 70 ล้านคนต้องมีความสุขอย่างยั่งยืน พอเพียง พอประมาณ คือภูมิคุ้มกันที่ดี

“โอกาสประเทศไทยมากมายมหาศาล เป็นศูนย์กลางภูมิรัฐศาสตร์ของอาเซียน ต้องไม่ทำลายด้วยความไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีความมั่นคงปลอดภัย ผมอยากให้ภาคเอกชนช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมให้มีอาชีพเสริมในเวลาว่างจากการทำไร่นาและการใช้แรงงาน เพราะราคาสินค้าเกษตรขึ้นอยู่กับกลไกตลาดโลก เช่น ยางพารา วันนี้ไม่ใช่โลกใบเก่าที่เรารู้จักแล้ว เป็นโลกใบใหม่”

ภัยแล้งและอุทกภัยไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันจำกัด ปัญหาคือการกระจายแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ต้องแก้ปัญหาควบคู่ไปกับการกระจายแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่เพาะปลูก ตามแนวทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 บริหารจัดการแบบเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรทฤษฎีใหม่

วันนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ได้แก่ รายจ่ายประจำ รายจ่ายลงทุน ข้อจำกัดของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ คือ รายจ่ายประจำมากเกินไป ซึ่งรายจ่ายประจำประกอบด้วย การดูแลประชาชนและเกษตรกร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ถึงแม้จำเป็นต้องดูแล แต่ทำอย่างไรให้อนาคตเข้มแข็ง ต้องหาวิธีการที่ดีกว่าเติมเงิน ต้องกำหนดเป้าหมายการใช้งบประมาณ เช่น ด้านการเกษตร โดยการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มกระบวนการแปรรูป ปลายทางคือตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการค้าขายออนไลน์

“เพื่อให้ก้าวทันโลกปัจจุบันในเรื่องเทคโนโลยีและดิจิทัล วันนี้กฎหมายกำลังออกมา เช่น เรื่องออนไลน์ จะมีทั้งคนได้และคนไม่ได้ แต่คนเสียต้องน้อยที่สุด ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลผมอาจจะรู้ไม่เท่าคนทำงาน แต่ผมรู้ว่าควรจะทำอย่างไร และมีหน้าที่แก้ปัญหา ทำงานโดยคณะทำงาน ผมไม่ใช่ซูเปอร์แมน ไม่ใช่ทำคนเดียว มีคนช่วยคิด โดยต้องยึดมั่นหลักการสำคัญ คือ เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้”

ต้องรอด-ล้มแล้วลุกให้ไว

วิถีความยั่งยืนจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเรา โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจปกติใหม่ (new normal) วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลคิดและประคับประคองสถานการณ์ให้เดินหน้าต่อไป ไม่ให้เกิดปัญหาตกงาน เลิกจ้าง พยุงการจ้างงาน แต่ธุรกิจรายได้จะไม่เท่าเดิม ทุกประเทศประสบปัญหาเหมือนกัน แตกต่างกันที่วิธีการแก้ปัญหา โดยเฉพาะจำนวนเงินที่มากน้อยต่างกัน

สิ่งหนึ่งที่เราต้องช่วยกันนอกเหนือจากภาคเอกชนขนาดใหญ่ คือ ต้องดูแลผู้ประกอบการรายย่อย เช่น สตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี เพื่อให้เข้าสู่ระบบโดยเฉพาะการขึ้นทะเบียน ซึ่งปัจจุบันลงทะเบียนจริงประมาณ 3 ล้านราย แต่ตัวเลขจริงประมาณ 5 ล้านราย เพราะกังวลเรื่องภาษี ทำให้เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐ เช่น ซอฟต์โลน ลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้

“รัฐบาลกำลังหาวิธีปลดล็อกเพื่อช่วยเข้าถึงแหล่งเงินทุน หารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตลอดเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดัน ส่วนโครงการคนละครึ่ง ถ้าดีทำต่อ การพัฒนาคนสำคัญที่สุด การศึกษากำลังปรับปรุง ถ้าทุกคนเอาอนาคตเอาประเทศชาติเป็นหลักทำได้หมด นโยบายรวมไทยสร้างชาติ สร้างอนาคต ใครจะอยู่ใครจะไป ร่วมใจทุกรัฐบาล เราจะต้องรอด วันหน้าต้องเข้มแข็งกว่าเดิม ล้มแล้วต้องลุกให้ไว”

เรื่องซีเอสอาร์ทำอย่างไรให้ช่วยวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ ประชาชนโดยรอบ ชีวิตความเป็นอยู่ ป่าและป่าชุมชนไม้มีค่า 58 ชนิด เพื่อเป็นมรดกส่งต่อให้ลูกหลาน มากกว่ามีที่ดิน วันหน้านำไปค้ำประกันและตัดขายได้ เป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ได้เห็นผลโดยทันที ส่วนหลายโครงการที่ยังทำไม่ได้หลายปีมาแล้ว ค้างท่อ เอาออกไปก่อน

“หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” จำแนกการช่วยเหลือจากมาตรการรัฐออกเป็น 4 กลุ่ม หนึ่ง สิ่งใดที่ดีอยู่แล้วประคับประคอง สอง กำลังจะล้มช่วยเบื้องต้นเพื่อให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ สาม ที่ล้มแล้วแต่ฟื้นฟูได้ และ สี่ ที่ล้มไปแล้ว ไปไม่รอด ต้องหาวิธีปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นดังนั้น ให้ทุกคนเป็นไปไม่ได้

สิ่งสำคัญที่สุด คือ หนึ่ง เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ รายจ่ายที่ผูกพันเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตท้องถิ่น ต้องทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าวิถีชีวิตของชุมชนในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาหาร ท่องเที่ยว สอง การพัฒนาภูมิปัญญาร่วมกับชาวบ้านให้เกิดรายได้และส่งเสริมทุกจังหวัด รัฐบาลจะเติมเงินลงไป ศึกษาวิถีชีวิต สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน ลดการเข้ามาใช้แรงงานในเมืองหลวง สาม พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนรณรงค์ลดการใช้ขยะพลาสติก

ทั้งหมดเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปสู่การพัฒนาในท้องถิ่นผ่านกลไกระดับจังหวัด สร้างอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้มีรายได้และเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาและวิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่น นำไปสู่การแก้ปัญหาระดับชุมชน สร้างอาชีพ เกิดเป็นวิถีความยั่งยืนในชุมชน เกิดในหัวใจของคนไทยทุกคน ประเทศไทยจะไปได้หรือไปไม่ได้อยู่ที่คนไทยทุกคน

มีอำนาจเหมือนไม่มีอำนาจ

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเมืองบนบ่า “พล.อ.ประยุทธ์” หนักหนาสาหัสเท่ากัน เขาจึงถามดัง ๆ ว่า มีอะไรดีขึ้นบ้าง ถ้ามองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเลย ผมคิดว่าไปไม่ได้ เปรียบเทียบ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีที่ผ่านมา มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง บางคนไม่รู้เลย วันนี้เรามีรถไฟฟ้ากี่สาย รถไฟทางคู่กี่กิโลเมตร วันนี้มีท่าเรือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ภายใน 5 ปีข้างหน้าเราจะมีผลผลิตออกมาแน่นอนตั้งแต่ยุคโชติช่วงรัฐบาล ไม่เคยมีโครงการขนาดใหญ่ เราจะกินบุญเก่าอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ต้องมีโครงการใหม่ภายใต้การลงทุนร่วมภาครัฐร่วมภาคเอกชน (PPP) แต่ต้องไม่มีการทุจริต

“เราต้องการให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตเข้ามา แต่เรายังมีปัญหาภายในประเทศทุกวัน ผมไม่ห่วงเรื่องตัวผมเรื่องตำแหน่งอะไรทั้งสิ้น แต่ผมห่วงสถานะของประเทศไทยจะอยู่ตรงไหน ถ้าเขา (นักลงทุน) ไม่มา ย้ายไปที่อื่น จะทำอย่างไร สิ่งที่เราให้เขายังน้อยกว่าที่หลายประเทศให้ ให้มากเกินไปก็กลายเป็นเอื้อประโยชน์ ให้น้อยเกินไปเขาก็ไม่มา ประชาธิปไตยกับไม่เป็นประชาธิปไตยต่างกันตรงไหน ทำไมประเทศนั้นทำได้ เขาทำได้อยู่แล้ว เขามีอำนาจ แต่ผมมีอำนาจเหมือนไม่มีอำนาจ ผมไม่ต้องการอำนาจ ผมต้องการความเข้าใจ ผมต้องการความร่วมมือ ผมไม่ได้ต้องการอยู่จนอายุร้อยปี”

หลายคนบอก มีคนไม่คุยกับผม แต่หลายข้อตกลง การลงทุนหลายโครงการมาจากการไปมาทุกการประชุม เขาเชิญผมทุกคน ทุกประเทศ เขาพอใจประเทศไทย มีความสุขที่ได้อยู่ประเทศไทย วันนี้ต่างประเทศเลือกประเทศไทยเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง

“พล.อ.ประยุทธ์” ส่งสารไปถึงคนรุ่นใหม่ว่า ต้องยอมรับว่าเวลานี้คนที่มีอายุ 10-20 ปี เติบโตขึ้นมาท่ามกลางเทคโนโลยีที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ แต่เขาไม่รู้ว่าก่อนนี้นั้นที่เขาจะเกิดขึ้นมาเป็นอย่างไร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ต้องใช้เวลา ไม่มีอะไรสามารถเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือภายในระยะเวลาอันสั้นได้