ดีลแลกตัว “อเล็กซิส-มคิทาร์ยาน” ทีมคู่ปรับสลับนักบอล ย้ำยุคทุนนิยม

A combination image shows Manchester United's Armenian midfielder Henrikh Mkhitaryan (L) and Arsenal's Chilean striker Alexis Sanchez. Arsenal forward Alexis Sanchez and Manchester United midfielder Henrikh Mkhitaryan were set to undergo medicals as their swap deal nears completion, reports said January 21, 2018. / AFP PHOTO / JON SUPER

อาฮุย แผ่นดินใหญ่ : เรื่อง

ก่อนหน้าสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม ตลาดซื้อ-ขายนักเตะทวีปยุโรปมีดีลที่น่าสนใจเกิดขึ้นเมื่ออาร์เซนอล ได้ตัวเฮนริกห์ มคิทาร์ยาน จากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขณะที่ปีศาจแดงก็ได้อเล็กซิส ซานเชซ จากอาร์เซนอล เป็นการย้ายทีมสลับขั้นของนักเตะระหว่างทีมคู่ปรับตลอดกาลในอังกฤษ

ดีลนี้ถูกคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อเกิดขึ้นจริงก็ยังเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งในวงการลูกหนังยุโรปซึ่งไม่ค่อยมีดีลแลกตัวสลับขั้นเกิดขึ้นบ่อยนักในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสลับขั้วระหว่างทีมคู่อริร่วมลีก และดูเหมือนว่าการย้ายทีมข้ามฟากครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่เน้นย้ำว่าโลกลูกหนังไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

ในพื้นที่ที่กีฬาฟุตบอลฝังลึกในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น ความรักที่แฟนบอลมีให้สโมสรแทบถูกเปรียบได้กับระบบ “ศาสนา” เลยทีเดียว เมื่อใดก็ตามที่แฟนบอลเห็นผู้เล่นในถิ่นย้ายไปเล่นให้กับทีมคู่อริที่ไม่ชอบหน้าอย่างเช่นทีมร่วมเมืองหรือคู่แค้นตลอดกาล

ปฏิกิริยาของแฟนบอลทีมเดิมที่เห็นนักเตะย้ายไปแทบเหมือนเห็น “คนทรยศ” หักหลังไปอยู่กับคู่แค้นเลยก็ว่าได้ หลุยส์ ฟิโก้ ที่ย้ายจากบาร์เซโลนาไปเรอัล มาดริด สัมผัสประสบการณ์นี้มาแล้วในเกมเอล กลาซิโก้ เมื่อเขาเจอแฟนบอลบาร์ซ่า ทีมเก่าขว้างหัวหมูใส่ในสนามขณะเดินไปเปิดลูกเตะมุมจนเกมชะงักไป

แม้แต่ทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับลิเวอร์พูล ที่ไม่เคยแลกนักเตะกันมาก่อน มีนักเตะไม่ถึงหลักสิบคนที่เคยเล่นให้ทั้งลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่หลังจาก ไมเคิล โอเว่น อดีตหัวหอกขวัญใจเดอะค็อป เซ็นสัญญากับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โลกฟุตบอลหลังปี 2000 เป็นต้นมาเริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย

ศตวรรษที่ 21 เป็นโลกของทุนนิยมมากกว่าเกมกีฬาทั่วไป สโมสรกลายสภาพเป็นกึ่งบริษัทเอกชนมากกว่าเป็นฟุตบอลคลับสำหรับกลุ่มคนในท้องถิ่น เป้าหมายสูงสุดของบริษัทคือการทำกำไรสูงสุด ด้วยต้นทุนต่ำที่สุด

ดีลย้ายทีมสลับขั้วระหว่างคู่อริร่วมลีกอังกฤษเกิดขึ้นซ้ำภาพการย้ายทีมของโรบิน ฟาน เพอร์ซี่ หัวหอกดัตช์ที่ฟอร์มร้อนแรงในฤดูกาล 2011-12 และตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับปืนใหญ่ ย้ายไปเล่นให้ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด

ช่วยให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ลีกพร้อมตำแหน่งดาวซัลโว กองหน้าทีมชาติเนเธอร์แลนด์เป็นฮีโร่สำหรับปีศาจแดง แต่กลายเป็น “คนทรยศ” ในความทรงจำของแฟนบอลส่วนมากของทีมปืนใหญ่

สำหรับดีลอเล็กซิสกับมคิทาร์ยาน สถานการณ์ต้นตอของดีลคล้ายกับดีลของฟาน เพอร์ซี่ อยู่บ้าง เมื่ออเล็กซิสไม่ต่อสัญญากับต้นสังกัดในปีสุดท้ายเช่นเดียวกับฟาน เพอร์ซี่ สถานการณ์บีบให้อาร์เซนอล ต้องขายนักเตะออกเพื่อเลี่ยงเสียนักเตะฟรีตามกฎบอสแมน

อเล็กซิส ตกเป็นเป้าของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตั้งแต่ปลายฤดูกาลก่อน เนื่องจากอาร์เซนอลไม่มีวี่แววกล่อมอเล็กซิส ให้ต่อสัญญาอยู่ในลอนดอนต่อได้ แม้แมนฯ ซิตี้ ยื่นข้อเสนอถูกใจอาร์เซนอล แต่สุดท้ายดีลไม่เกิด สื่อมองกันว่า เพราะปืนใหญ่เหลือเวลาไม่พอไปเจรจาซื้อ โทมัส เลอมาร์ มาใช้งานแทน ดาวเตะชิลีจึงต้องอยู่กับทีมเดิมต่อไป ต้นสังกัดต้องปฏิเสธข้อเสนอจากแมนฯ ซิตี้โดนเสี่ยงว่าอเล็กซิส จะทำผลงานได้ดีในครึ่งฤดูกาลหลัง และสามารถมัดใจให้เขาอยู่ต่อได้ แต่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาดเมื่อการเจรจาต่อสัญญาไม่คืบหน้า

ช่วงตลาดนักเตะเปิดต้นปี ซิตี้ ที่ฟอร์มแนวรุกกำลังเข้าฝัก อาจไม่จำเป็นต้องใช้งานอเล็กซิส และเสี่ยงเพิ่มเพดานค่าจ้างในทีม เสี่ยงทำให้นักเตะชุดเดิมที่กำลังฟอร์มดีต้องพะวงกับเรื่องค่าเหนื่อยที่ไม่เท่าเทียมกับนักเตะใหม่ แมนฯ ยูไนเต็ด กลายเป็นทีมที่แทรกเข้ามาเจรจาด้วย

อาร์เซนอล ที่จำเป็นต้องขายอเล็กซิส เพื่อให้ได้เม็ดเงินแทนที่ปล่อยนักเตะแบบเสียเปล่า มีเงื่อนไขสำคัญอีกอย่างตรงที่พวกเขาต้องการนักเตะมาใช้งานแทนอเล็กซิสด้วย ระยะเวลาที่เหลืออีกไม่ถึงสัปดาห์อาจเสี่ยงต่อโอกาสเจรจาซื้อนักเตะรายอื่น และเม็ดเงินที่ได้จากการขายอเล็กซิส ก็อาจไม่พอซื้อนักเตะที่ฝีเท้าดีพอมาแทนอเล็กซิส ขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด นอกจากมีเงินแล้ว ปีศาจแดงมีสิ่งที่อาร์เซนอลหาอยู่ นั่นคือนักเตะ

เมื่อความต้องการของคู่อริทั้งสองฝ่ายลงตัวสอดคล้องกัน ดีลแลกนักเตะระหว่างทีมคู่ปรับร่วมลีกอังกฤษจึงเกิดขึ้น เมื่อเทียบข้อดี-ข้อเสียของดีลนี้ ต่างฝ่ายต่างมีมุมบวก-ลบของตัวเองอย่างเรื่องค่าเหนื่อย, มูลค่านักเตะที่แท้จริง หรือฝีเท้านักเตะที่ได้มาเมื่อเทียบกับสิ่งที่เสียไป แต่โดยรวมแล้วถือว่าทั้งสองทีมต่างได้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้มา

นอกเหนือจากเรื่องผลงานในสนามแล้ว วงการลูกหนังยุคใหม่คือโลกแห่งธุรกิจที่เบื้องหน้าแข่งขันแย่งชิงตลาดกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่ต่างจากซัมซุงแข่งกับแอปเปิล แต่ในด้านโครงสร้างเบื้องหลังธุรกิจคือแอปเปิลก็จำเป็นต้องซื้อชิ้นส่วนจากบริษัทผู้ผลิตอย่างซัมซุง ถ้าประโยชน์ที่ได้มีมากกว่าผลเสีย ในโลกทุนนิยมไม่จำเป็นต้องมีคำถามข้อถัดไปให้ตอบอีก ขณะที่โลกลูกหนังแบบเดิมอาจต้องถามต่อว่า แฟนบอลจะรับได้ไหม หรือต้องยึดจุดยืนของสโมสรไว้หรือไม่