“อาคม” ย้ำบริการรถไฟฟ้าทุกสายต้องปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่รองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หากเกิดข้อขัดข้องต้องรีบแก้ไขให้เป็นปกติโดยเร็ว และประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ในวันที่ 29 มิ.ย. 59 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางราง ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือบีอีเอ็ม กรมการขนส่งทางบก (ขบ.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีการบันทึกความร่วมมือแผนเผชิญเหตุ ของระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

“การให้บริการรถไฟฟ้าจะอยู่บนความปลอดภัย เกิดเหตุขัดข้องต้องรีบแก้ไขสถานการณ์ ถ่ายโอนผู้โดยสารผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เช่น ขสมก. และกรมการขนส่งทางบก หน่วยงานแต่ละหน่วยงานต้องมีการซ่อมบำรุงและตรวจความพร้อมอย่างสม่ำเสมอ และหน่วยงานต้องมีการจัดฝึกซ้อมเผชิญเหตุ และเพิ่มความเข้มขั้นการฝึกให้มากขึ้นเพื่อให้รับมือกับสถานการณ์จริงได้อย่างรวดเร็ว” นายอาคม กล่าวและว่า

ภายในปี 2561 โครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะทยอยเปิดให้บริการทั้งสายใหม่และส่วนต่อขยาย บีทีเอสปัจจุบันมีรถไฟฟ้าที่ให้บริการระยะทาง 60-70กิโลเมตร และในอนาคตบริษัทจะมีเพิ่มเป็น 135 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในระยะทางรถไฟฟ้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล 464 กิโลเมตร

“ขอบคุณหลายๆ ฝ่ายที่ทำให้แผนเผชิญเหตุที่ทำทุก 4 เดือนมีการปรับปรุงที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 หลังจากแอร์พอร์ต ลิ้งก์ และบีอีเอ็ม ซ้อมแผนเผชิญเหตุไปแล้ว อยากจะฝากถึงบีทีเอส จากผู้ใช้บริการอยากจะให้มีเสียงตามสายภายในขบวนประกาศกาสรปรับเปลี่ยนการเดินรถในระหว่างที่มีการซ่อมแซม รวมทั้งแนะนำระบบขนส่งมวลชนอื่นให้ประชาชานสามารถเดินทางได้ เช่น วินมอเตอร์ไซต์ และแท็กซี่ กรมขนส่งต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลเพื่อไม่ให้มีการขึ้นราคาค่าโดยสาร หรือจัดรถขสมก.มารับผู้โดยสารที่ค้างอยู่ที่สถานี” นายอาคมกล่าวและว่า

ทั้งนี้ รถโดยสารเอ็นจีวี 489 คัน และรถโดยสารไฟฟ้า 200 คัน ของขสมก.อยู่ในระหว่างการจัดซื้อ ซึ่งในอนาคตป้ายบอกสายหน้ารถโดยสารจะเป็นป้ายอัจฉริยะ สามารถเปลี่ยนสายได้เมื่อต้องนำรถมาวิ่งเพิ่มในสายอื่น รวมทั้งป้ายบอกรถโดยสารอัจฉริยะของกทม.จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรถโดยสารมากขึ้น

ด้านดร.อาณัติ อาภาภิรม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า บีทีเอสเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 18 ปี บีทีเอสทำแผนฝึกซ้อมเผชิญเหตุตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ปัจจุบันบีทีเอสให้บริการรถฟ้าระยะทาง 40 กิโลเมตร ร่วมส่วนต่อขยายเหนือและใต้อีก 70 กิโลเมตร รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) จะทำให้บีทีเอสมีระยะทางเพิ่มขึ้น 135 กิโลเมตร